สุจิตต์ วงษ์เทศ /พระร่วง วรรณกรรมตำนาน เหนือเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ ลุ่มน้ำยม-น่าน ภาคกลางตอนบน

พระร่วง ในตำนานว่าเป็นลูกนางนาค อยู่หุบเขาหลวง ทางตะวันตกของเมืองสุโขทัย (บน) เมืองสุโขทัย มีวัดและตระพังเก็บน้ำอยู่กลางเมือง (ล่าง) วัดพระพายหลวง มีคูน้ำรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบ เชื่อว่าเป็นศูนย์กลางศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนเก่าสุดอยู่นอกกำแพงด้านเหนือของเมืองสุโขทัย

สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระร่วง วรรณกรรมตำนาน

เหนือเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์

ลุ่มน้ำยม-น่าน ภาคกลางตอนบน

 

พระร่วงเป็นวรรณกรรมแสดงสัญลักษณ์ หรือตัวแทนของเรื่องต่างๆ หลากหลายอย่างยิ่ง เคล้าคละปะปนกว้างขวางอย่างมี “นิยาย” โลดโผนโจนทะยานสนุกสนานตื่นเต้น

พระร่วงเป็นชื่อวีรบุรุษในตำนาน พบมากบริเวณลุ่มน้ำยม-น่าน ซึ่งเป็นลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน หรือภาคกลางตอนบน (แต่ทางการเรียกภาคเหนือตอนล่าง) นักปราชญ์ไทยสมัยก่อนๆ บอกว่าหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ที่ครองรัฐสุโขทัย จึงไม่หมายถึงองค์ใดองค์หนึ่งตามที่มักมีผู้รู้อ้างกัน

 

ไม่ไทย

 

แม้เป็นตำนานวีรบุรุษอยู่เหนือเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ โดยไม่มีตัวตนจริง และ “ไม่ไทย” เพราะไม่พบตรงไหนบอกว่าพระร่วงเป็น “คนไทย”

แต่พระร่วงถูกยกย่องจากคนชั้นนำสืบเนื่องหลายยุคหลายสมัย จนนักโบราณคดีทางการก็พากันอ้างราวกับว่าเป็นเรื่องจริงทุกอย่างในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย (ทั้งๆ เหยียดหยามตำนาน)

คนไทย พบหลักฐานเก่าสุดขณะนี้ในกรุงศรีอยุธยา ไม่พบในเมืองสุโขทัย

ศิลาจารึกทุกหลักในเมืองสุโขทัย ไม่บอกว่ามีคนไทย เพราะพบแต่คำว่าไท แปลว่า คน หรือชาว ซึ่งไม่หมายถึงคนไทยอย่างที่เข้าใจในปัจจุบัน

หลังจากเมืองสุโขทัยถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งในอำนาจของรัฐอยุธยา ชาวเมืองสุโขทัยจึงเรียกตนเองว่าไทย (หมายถึง ไม่ลาว) ในความหมายเดียวกับคนไทยในรัฐอยุธยา พบหลักฐานนี้ในสมุทรโฆษคำฉันท์ วรรณกรรมสมัยต้นอยุธยา

 

ร่วง แปลว่า รุ่ง

 

พระร่วง ชื่อจริงว่าร่วง ส่วนคำว่าพระ เติมข้างหน้าเพื่อยกย่อง หมายถึงเจ้านาย

ร่วง คำเดียวกับ รุ่ง แปลว่า สว่าง, แจ้ง (รุ่ง แผลงได้เป็น ร่วง, โล่ง ตามหลักของ อุ แผลงเป็น โอ หรือ อัว) โดยปริยายหมายถึง เจริญก้าวหน้า จึงมักใช้ควบคู่กันทั่วไปว่า รุ่งเรือง, รุ่งโรจน์

 

พระร่วงกับท้าวฮุ่ง

 

รุ่ง สะกดและออกเสียงตามประเพณีลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตรงกับคำลุ่มน้ำโขง ว่า ฮุ่ง (ออกเสียง ร เป็น ฮ)

พระร่วง ตรงกับ พระรุ่ง ความหมายเดียวกับ ท้าวฮุ่ง ในชื่อ ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง “วีรบุรุษทางวัฒนธรรมข้ามพรมแดนเผ่าพันธุ์สองฝั่งโขง”

ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง เป็นองค์เดียวกันของคน 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มภาษาไต-ไท เรียก ท้าวฮุ่ง (2) กลุ่มภาษามอญ-เขมร เรียก ท้าวเจือง (เจือง แปลว่า จอม)

ตำนานเล่าว่าท้าวเจืองเกิดที่เมืองพะเยา ลุ่มน้ำอิง เป็นบรรพชนพญางำเมือง ญาติสหายพระร่วงและพญามังราย

[มีร่องรอยระบุว่าท้าวเจืองเป็นบรรพชนต้นตระกูลพระเพื่อน พระแพง ในเรื่องพระลอ (ผู้มีหลักแหล่งอยู่หลวงพระบาง ส่วนแม่น้ำกาหลง คือ แม่น้ำโขง)]

บ้านเมืองแถบลุ่มน้ำยม-น่าน บริเวณศรีสัชนาลัยสุโขทัย มีเครือข่ายเครือญาติถึงเมืองเชียงแสน, เมืองพะเยา, เมืองลาว (อยู่ในจารึกวัดศรีชุม หรือจารึกสุโขทัย หลักที่ 2)

นอกจากนั้นยังเป็นเครือญาติใกล้ชิดกับเมืองน่าน, เมืองหลวงพระบาง (หลักฐานสำคัญอยู่ในจารึกปู่หลานสบถกัน หรือจารึกสุโขทัย หลักที่ 45)

 

“ญาติเยอะ” ของพระร่วง

 

พระร่วงมีอานุภาพมาก เพราะมีเครือข่ายและเครือญาติกว้างขวางอย่างยิ่ง ถึงเมืองพระนครหลวง กัมพูชา, เมืองพระนครศรีอยุธยา และเมืองนครศรีธรรมราช

พบในตำนานว่าพระร่วงมีญาติสหายสำคัญคือ พญามังราย กับ พญางำเมือง แต่ต่อมาพระร่วงเป็นชู้เมียพญางำเมือง (เมืองพะเยา) พญามังรายต้องเป็นคนกลางชำระคดี จึงรำพึงในใจว่าพระร่วงมีอานุภาพเพราะมีญาติมากถึงเมืองนครศรีธรรมราช และกรุงศรีอยุธยา พบร่องรอยต่างๆ ดังนี้

เมืองพระนครหลวง กัมพูชา พบตำนานอยู่ในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ว่าพระร่วงเป็นลูกนางนาค อรรคมเหสีพระเจ้ากรุงกัมพูชา เกิดจากไข่นางนาค เลยถูกเอาไปทิ้งเพราะเป็นเสนียดจัญไร ต่อมาเจ้าเมืองละโว้เก็บไข่นางนาคไปฟักออกมาเป็นลูกชายชื่อ นายร่วง จนได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงสุโขทัย

เมืองพระนครศรีอยุธยา คำให้การชาวกรุงเก่าเล่าตำนานเรื่องพระร่วง เกี่ยวดองเป็นเชื้อสายสืบวงศ์พระเจ้าปทุมสุริยวงษ์ ต้นวงศ์พระเจ้าแผ่นดินอยุธยา และนิทานเรื่องพระร่วงไปเมืองจีน หมายถึงเจ้านครอินทร์เมืองสุพรรณภูมิ ที่ต่อไปจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา

เมืองนครศรีธรรมราช ตำนานเล่าว่าพระร่วงเสด็จเมืองนครศรีธรรมราชเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองนครศรีธรรมราช ไปประดิษฐานเมืองสุโขทัย