เกษียร เตชะพีระ : นัยทางการเมือง ของประกาศเลิกหมอบคลานกราบไหว้ ในรัชกาลที่ 5 (จบ)

เกษียร เตชะพีระ
คณะราชทูตไทยเข้าเฝ้าฯ จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ที่พระราชวังฟงแตนโบล ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2404 พระยาศรีพิพัฒน์ รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) เป็นราชทูต, จมื่นไวยวรนารถ (วอน บุนนาค) เป็นอุปทูต, พระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค) เป็นตรีทูต และผู้คุมเครื่องราชบรรณาการ รวม 28 นาย (จากหนังสือ ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ตอน 1 2 3 จบ

ท่ามกลางกลยุทธ์บอยคอตเชิงสัญลักษณ์ของฝ่ายสยามเก่า และกลยุทธตีตั๋วปฏิรูปฟรี+ฉวยโอกาสอนุรักษ์ของฝ่ายสยามอนุรักษ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงดำเนินพระราชกุศโลบายตอบรับเพื่อผลักดันการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินต่อไป ดังที่ผมสรุปสังเคราะห์จากข้อวิเคราะห์บรรยายของอาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ในบทที่ 2 “The first stage of state-building” ของหนังสือ The Rise and Decline of Thai Absolutism (ค.ศ.2004) ได้ดังตาราง

การยกเลิกธรรมเนียมหมอบคลานกราบไหว้ซึ่งพระองค์ทรงประกาศในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สองเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2416 ก็ประกอบส่วนเข้าไปในพระราชกุศโลบายเพื่อการปฏิรูปดังกล่าว ดังที่ตัวแทนของ เซอร์แอนดรูว์ คลาร์ก ข้าหลวงของอังกฤษแห่งนิคมช่องแคบสมัยนั้น (หมายถึง the Straits Settlements ได้แก่ อาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยดินแดนที่เป็นรัฐปีนัง ดินแดนอันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเประ รัฐมะละกา สิงคโปร์ และลาบวนในปัจจุบัน) ซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมพระราชพิธีสำคัญดังกล่าว ได้บันทึกไว้ในรายงานถึงเซอร์คลาร์กด้วยความประทับใจยิ่ง ความตอนหนึ่งว่า :

“เหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในพระราชพิธีเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ พระราชพิธีหลักนั้นจัดขึ้นในท้องพระโรง โดยแขกชาวต่างชาติยืนอยู่ด้านหลัง และผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่กำลังจะทูลเกล้าฯ ถวายอำนาจหน้าที่ซึ่งเขาได้ใช้มานับแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ สวรรคตในปี ค.ศ.1868 และข้าราชสำนักทั้งหลายก็พากันคุกเข่าหรือหมอบอยู่กับพื้นท้องพระโรงเบื้องหน้าพระสุวรรณวิสูตร พอให้สัญญาณ พระวิสูตรก็เลิกขึ้นเผยให้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประทับอยู่บนราชบัลลังก์ ฉลองพระองค์อย่างวิจิตรพิสดาร ทรงมงกุฎและประดับอัญมณีแพรวพราย ทว่าแม้ภาพนี้จะน่าตื่นตาตื่นใจสักเพียงใด เหตุการณ์ที่เร้าใจยิ่งกว่ากลับถูกเก็บไว้ตอนท้าย

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทและในตอนท้ายทรงประกาศยกเลิกธรรมเนียมหมอบคลานเมื่อเข้าเฝ้าฯ ในพระราชสำนัก ขณะเปล่งพระสุรเสียงออกจากพระโอษฐ์ บรรดาผู้ที่หมอบราบอยู่ก็ค่อยๆ ทยอยลุกยืนขึ้นมา และประดาผู้ที่อยู่ในพระราชพิธีตอนนั้นก็พากันบรรยายผลสะเทือนที่เกิดขึ้นว่าช่างน่าประทับใจเป็นที่สุด

“การเปลี่ยนธรรมเนียมสยบยอบนอบน้อมมาเป็นมารยาทในราชสำนักอันทรงเกียรติและสมเหตุสมผลนับว่าเป็นการเปิดฉากเริ่มต้นที่ไม่เลวสำหรับรัชกาลแห่งความก้าวหน้าและการปฏิรูป อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นปรากฏการณ์ที่โน้มน้าวจิตใจให้พินิจพิจารณาข้อเสนอหรือคำขอร้องใดๆ ที่มาจากยุวกษัตริย์แห่งสยามตอนนั้นด้วยความเห็นอกเห็นใจ เพียงชั่ว 15 เดือนให้หลัง โอกาสดังกล่าวก็มาถึง”

(Sir Andrew Clarke, “My First Visit to Siam”, 1902 อ้างใน The Rise and Decline of Thai Absolutism, pp. 49-50)

 

นัยและดอกผลทางการทูต/การเมืองระหว่างประเทศของการประกาศยกเลิกธรรมเนียมหมอบคลานกราบไหว้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต่อหน้าทูตานุทูตย่อมเห็นได้แจ่มชัดจากคำบรรยายอย่างชื่นชมของตัวแทนจักรวรรดิอังกฤษในภูมิภาคข้างต้นและก็เป็นที่โจษจันของนักสังเกตการณ์และนักวิชาการทั่วไป

แต่ที่แนบเนียนกว่าและไม่ใคร่มีใครมองเห็นได้แก่นัยทางการเมืองต่อกระบวนการปฏิรูปภายในสยามเอง ดังที่อาจารย์กุลลดาวิเคราะห์ไว้ว่า :

“… (ประกาศยกเลิกธรรมเนียมหมอบคลานกราบไหว้นั้น) ประยุกต์เข้ากับความสัมพันธ์ระหว่างมูลนายกับไพร่ด้วย ประกาศดังกล่าวใช้ถ้อยคำกำกวม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสว่าพระองค์มีพระราชประสงค์จะยกเลิกการกดขี่แก่กัน และการหมอบคลานเป็นการกดขี่เพราะผู้น้อยต้องทนลำบากหมอบคลานกราบไหว้เพื่อให้ยศท่านผู้ใหญ่

“จะเห็นได้ว่าแทนที่จะทรงเรียกร้องให้ยกเลิกระบบไพร่-ทาสโดยตรง พระองค์กลับทรงเพ่งเล็งไปที่ตัวการกระทำเชิงสัญลักษณ์ที่รองรับความสัมพันธ์ดังกล่าว จึงอาจมองได้ว่านี่เป็นบาทก้าวแรกแห่งการเหยียบย่างอย่างรอบคอบรัดกุมไปสู่การยกเลิกระบบไพร่-ทาสซึ่งย่อมยังความพึงพอใจแก่ฝ่ายสยามอนุรักษ์ ทว่า ทรงไม่ใช้ถ้อยคำสำนวนที่เฉพาะเจาะจงจนมันจะไปก่อความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ขึ้นในฝ่ายสยามเก่า”

(The Rise and Decline of Thai Absolutism, p. 44)

แม้กระนั้นก็ปรากฏว่าพระเถระ 30 รูปได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกธรรมเนียมหมอบคลานกราบไหว้ดังกล่าวว่าเป็นการผิดที่ผิดทาง (The Rise and Decline of Thai Absolutism, p. 45)

และแล้วขบวนการคัดค้านการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางและพระมหากษัตริย์โดยฝ่ายสยามเก่าร่วมกับสยามอนุรักษ์ก็มาถึงจุดปะทุในเหตุการณ์วิกฤตวังหน้าเมื่อปี พ.ศ.2417 (pp. 60-65)

 

สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวผลักดันของฝ่ายสยามใหม่ให้ยกเลิกตำแหน่งวังหน้า ทำให้ทั้งวังหน้าและวังหลวงผลัดกันระดมไพร่พลเตรียมพร้อมอย่างตึงเครียดมาระยะหนึ่ง

คืนวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2417 จู่ๆ ก็เกิดเพลิงไหม้ขึ้นอย่างลึกลับในวังหลวง ยามวังหน้าพากันยกพวกมายังวังหลวงยามวิกาลเพื่อช่วยดับไฟ

แต่เนื่องจากทางวังหลวงกริ่งเกรงว่านี่อาจเป็นการวางเพลิงเพื่อสร้างข้ออ้างในการเข้ามาในวังหลวง จึงบอกปัดให้ยามวังหน้ากลับไปเสีย

และเนื่องจากขณะเกิดเหตุ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญกลับประทับอยู่ในวังหน้า ไม่ได้นำผู้คนมาช่วยเหลือยามเกิดเหตุร้ายในเขตพระราชฐานด้วยพระองค์เอง อันเป็นการผิดธรรมเนียมปฏิบัติแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระบรมราชโองการให้ยามวังหลวงไปปิดล้อมวังหน้าไว้

การเข้ามาเจรจาต่อรองหาทางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างวังหลวงกับวังหน้าโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แกนนำสยามอนุรักษ์ ไม่ประสบผล ส่งผลให้กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญตัดสินพระทัยเสด็จหนีไปอาศัยลี้ภัยและขอความคุ้มครองในสถานกงสุลอังกฤษที่อยู่ภายใต้การดูแลของรักษาการกงสุลอังกฤษ โทมัส จอร์จ น็อกซ์ ในวันที่ 2 มกราคม ถัดมา

ความขัดแย้งตึงเครียดยังคงยืดเยื้อตีบตันหาข้อยุติไม่ได้ แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงยื่นข้อเสนอประนีประนอมกับทางวังหน้าก็ตาม ทั้งนี้เพราะกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญได้ใจจากกงสุลน็อกซ์ ว่าทางรัฐบาลอังกฤษเข้าข้างตน เพียงแค่รอให้อังกฤษเข้าแทรกแซงเท่านั้น

ในที่สุดสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ก็แนะนำกงสุลน็อกซ์ให้ติดต่อผู้หลักผู้ใหญ่มาช่วยแก้ไขวิกฤต

กงสุลน็อกซ์จึงเชิญ เซอร์แอนดรูว์ คลาร์ก ข้าหลวงอังกฤษแห่งนิคมช่องแคบ ให้เดินทางเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย

 

ปรากฏว่าเอาเข้าจริง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงติดต่อบอกเล่าวิกฤตวังหน้าที่เกิดขึ้นแก่เซอร์คลาร์กผู้ชื่นชมเห็นอกเห็นใจการปฏิรูปของพระองค์มาตั้งแต่ประกาศเลิกหมอบคลานกราบไหว้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง-ล่วงหน้าก่อนแล้ว

เซอร์คลาร์กเองก็ร้อนใจที่จะเข้ามาช่วยเหลือและถวายคำแนะนำแก่พระองค์ ติดอยู่ที่ต้องรอการตัดสินใจจากทางการกรุงลอนดอนก่อน

ในที่สุด เมื่อได้ไฟเขียวจากทางลอนดอน เซอร์คลาร์กก็เดินทางเข้าบางกอกและเปิดทางให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำหนดเงื่อนไขการตกลงระงับข้อพิพาทได้ทุกประการตามพระราชประสงค์

โดยตัวเขาเองกดดันบังคับให้ทางวังหน้ายอมรับเงื่อนไขดังกล่าวนั้น

เงื่อนไขที่ว่าได้แก่ : ให้กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญยอมสละเสียซึ่งพระเกียรติยศที่ได้รับยกย่องเสมอเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่สองซึ่งได้รับสืบทอดมาจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดา

จำกัดกำลังไพร่พลและอาวุธของวังหน้าลงฮวบฮาบและให้อยู่ใต้พระบัญชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชอำนาจผูกขาดเรือ อาวุธและกระสุนดินดำทั้งมวล, แลกกับการที่วังหลวงรับจะดูแลสิทธิประโยชน์ด้านการเงินของวังหน้าไม่ให้ขาดพร่องไป

 

และเมื่อทางสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ อิดเอื้อนไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ต่อวังหลวงในวิกฤตครั้งนี้ โดยตีความเงื่อนไขข้อตกลงเรื่องอาวุธกระสุนดินดำข้างต้นอย่างเบี่ยงเบนซ้ำแล้วซ้ำอีก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงขอให้เซอร์คลาร์กช่วยกดดันจนฝ่ายสยามอนุรักษ์ต้องยินยอมตามเงื่อนไขนั้น

แม้วิกฤตวังหน้าจะลงเอยด้วยชัยชนะของฝ่ายสยามหนุ่ม แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็หาได้วางพระราชหฤทัยในชัยชนะและเร่งร้อนผลักดันการปฏิรูปต่อไปไม่ พระองค์ได้ส่งพระราชสาส์นถึงเซอร์คลาร์กเพื่อพระราชทานพระบรมราชาธิบายภายหลังในทำนองสรุปบทเรียนว่า พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะเลื่อนการดำเนินแผนปฏิรูปประการต่างๆ ต่อไปเอาไว้ก่อนจนกว่าพระองค์จะทรงประสบพบความเรียกร้องต้องการการปฏิรูปเหล่านั้นในหมู่ผู้นำอาณาราษฎรของพระองค์ ทั้งนี้ พระองค์หาได้ทรงยกเลิกเพิกถอนแผนการปฏิรูปเหล่านั้นไม่ ทว่า จะทรงดำเนินการตามวาระโอกาสที่มีมา

ช่วงเวลาหลังจากนั้น พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มุ่งเน้นไปที่การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและหน่วยงานราชการต่างๆ ผ่านการวางรากฐานการศึกษาสมัยใหม่ เพื่อรอจังหวะโอกาส (บทที่ 3 ของหนังสือ อ.กุลลดา “Creating a modern bureaucracy through education”) จวบจน

– พ.ศ.2426 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แกนนำสยามอนุรักษ์ ถึงแก่อสัญกรรม

– พ.ศ.2428 กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ วังหน้าและผู้นำสยามเก่า ถึงแก่ทิวงคต, ยกเลิกตำแหน่งวังหน้า

– พ.ศ.2430 สถาปนาตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราช, เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เสนาบดีกรมพระคลังและกรมท่า ผู้ต่อมาเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากมีโรคภัยเบียดเบียน

– พ.ศ.2431 เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหพระกลาโหม ถึงแก่อสัญกรรม

– พ.ศ.2435 ราว 20 ปีภายหลังวิกฤตวังหน้า จึงทรงเริ่มการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินระลอกสอง ตั้งระบบราชการสมัยใหม่แบ่งเป็นกระทรวงทบวงกรมต่างๆ และรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางและสถาบันกษัตริย์สืบไป