นัยทางการเมืองของประกาศเลิกหมอบคลานกราบไหว้ในรัชกาลที่ 5 (1) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

ตอน 2 3 จบ

“…แลธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้ในประเทศสยามนี้ เหนว่าเปนการกดขี่แก่กันแขงแรงนัก ผู้น้อยที่ต้องหมอบคลานนั้น ได้ความเหน็จเหนื่อยลำบาก เพราะจะให้ยศแก่ท่านผู้ใหญ่ ก็การทำยศที่ให้คนหมอบคลานกราบไหว้นี้ ไม่ทรงเหนว่ามีประโยชน์แก่บ้านเมืองแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย

ผู้น้อยที่ต้องมาหมอบคลานกราบไหว้ให้ยศต่อท่านผู้ที่เปนใหญ่นั้น ก็ต้องทนลำบากอยู่จนสิ้นวาระของตนแล้วจึงจะได้ออกมาพ้นท่านผู้ที่เปนใหญ่

ธรรมเนียมอันนี้แลเหนว่าเปนต้นแห่งการที่เปนการกดขี่แก่กันทั้งปวง เพราะฉนั้นจึงจะต้องละพระราชประเพณีเดิมที่ถือว่าหมอบคลานเปนการเคารพอย่างยิ่งในประเทศสยามนี้เสีย ด้วยทรงพระมหากรุณาที่จะให้ท่านทั้งหลายได้ความศุข ไม่ต้องทนยากลำบากหมอบคลานเหมือนอย่างแต่ก่อน…”

(อ้างจาก “ประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่” ราชกิจจานุเบกษา กรุงเทพมหานคร เล่มที่ ๑ วันจันทร์ เดือน ๘ แรมค่ำ ๑ ปีจอ ศก ๑๒๓๖)

 

ท่ามกลางข้อถกเถียงเห็นต่างเกี่ยวกับธรรมเนียมหมอบกราบที่ยังมักถูกนำมาใช้ตามสถานศึกษาต่างๆ ในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งแบบสืบค้นรากเหง้าที่มาทางวัฒนธรรม (เช่น อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, “รู้จัก “หมอบกราบ” ในวัฒนธรรมอินเดียที่ไทยรับต่อมา”, มติชนสุดสัปดาห์, 29 ก.ค.-4 ส.ค. 2559) และแบบ “กูยินดีที่จะหมอบ” ซะอย่างโดยไม่แยแสสนใจรากเหง้าที่มาทางวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ใดๆ ของธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าว (บทกาพย์ยานี 11 ในเฟซบุ๊กของผู้ใช้นามปากกาว่า “พี่คนดี” 24 ต.ค. 2557) เป็นต้น

สิ่งที่ตกหล่นขาดหายไป – นอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดเป็นหลักฐานตามประกาศดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาสมัยรัชกาลที่ 5 – ก็คือบริบททางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองของการประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมครั้งนั้น

ทำไมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตัดสินพระทัยเลือกประกาศยกเลิกธรรมเนียมหมอบคลานกราบไหว้ในวโรกาสประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง เมื่อเจริญพระชนมายุครบ 20 พระชันษาใน พ.ศ.2416 ต่อหน้าบรรดาเจ้านายขุนนางอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่และทูตานุทูตตัวแทนมหาอำนาจอาณานิคมตะวันตกเล่า?

อะไรคือนัยทางการเมืองที่มักถูกลืมเลือนจางหายไปของประกาศครั้งนี้?

 

ในบรรดางานวิชาการที่เสนอคำอธิบายบริบทความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของประกาศเลิกธรรมเนียมหมอบคลานกราบไหว้ในรัชกาลที่ 5 ได้ลึกซึ้งพิสดารกระจ่างแจ้งยิ่งเท่าที่ผมอ่านพบมา ได้แก่วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของรองศาสตราจารย์ ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำที่ School of Oriental and African Studies มหาวิทยาลัยลอนดอน และต่อมาปรับปรุงตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ The Rise and Decline of Thai Absolutism (ค.ศ.2004)

โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบหนังสือเล่มนี้มาก ใช้เป็นเอกสารตำราประกอบการสอนวิชาสัมมนาการเมืองไทยระดับปริญญาโท-เอกที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ต่อเนื่องกันมาหลายปี ทำให้ได้อ่านซ้ำถึงสี่ห้ารอบ และยิ่งอ่านก็ยิ่งได้ข้อคิดแปลกใหม่ติดใจแตกประเด็นกว้างขวางออกไปทุกครั้ง

อันที่จริง ผมเผอิญได้มีโอกาส “เห็น” ตอนที่หนังสือเล่มนี้กำลังก่อหน่ออ่อนฟักตัวทางความคิดแต่ต้นๆ เลยทีเดียว ความที่หลังออกจากป่ากลับมาเรียนต่อเป็น “นักศึกษาคืนสภาพ” เมื่อกลางพุทธทศวรรษที่ 2520 เพื่อนฝูงรุ่นน้องที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ สมัยนั้น (เช่น ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเนชั่น, คุณสุนีย์ สถาพร ผู้อำนวยการฝ่ายเอกชนสัมพันธ์ TDRI) ได้แนะนำให้รู้จักและสังสันท์สนทนากับอาจารย์กุลลดา โดยท่านกรุณาให้ความเป็นกันเอง

ช่วงนั้นเป็นยุคเบิกบานของไทยศึกษาเชิงวิพากษ์โดยนักวิชาการฝรั่งอย่าง จอห์น เกอร์ลิ่ง, ครูเบ็น แอนเดอร์สัน และ แอนดรูว์ เทอร์ตัน เป็นต้น โดยเฉพาะงานทบทวนวรรณกรรมไทยศึกษาในโลกตะวันตกอันอื้อฉาวแบบสะสางบัญชีเบ็ดเสร็จอย่างดุเดือดบ้าเลือดของครูเบ็นเรื่อง “Studies of the Thai State : The State of Thai Studies” (ค.ศ.1978/พ.ศ.2521)

ผมคิดว่าการวิเคราะห์ตีความย้อนแย้งแบบลัทธิแก้/ทวนกระแสเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชาติกับสถาบันกษัตริย์ในรัฐสัมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อันเป็นจุดใหญ่ใจความในวิสัยทัศน์ใหม่ของครูเบ็นที่มีต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ในงานชิ้นนั้น

รวมทั้งแนวคิดชาตินิยมราชการ (official nationalism) ในงานต่อมาเกี่ยวกับชาตินิยมอันขึ้นชื่อลือชาของครูเบ็นเรื่อง Imagined Communities : Reflections on the Origin and Spread of Nationalism (ค.ศ.1983/พ.ศ.2526) ส่งอิทธิพลต่องานเรื่อง The Rise and Decline of Thai Absolutism ของอาจารย์กุลลดา ในลักษณะที่เป็นฐานคิดและเค้าโครงซึ่งอาจารย์กุลลดาใช้เวลาต่อมาอีกร่วมสองทศวรรษในการพัฒนาต่อยอดก่อรูป (flesh it out) จนกลายเป็นงานประวัติศาสตร์ไทยที่เพียบพรั่งหลากด้านอุดม

เป็นสองทศวรรษที่ใช้ไปอย่างคุ้มค่า เพราะผลงานสุดท้ายที่ได้มา อาจารย์กุลลดาสามารถสอดผสานรวมเอาลักษณะเด่นต่างๆ ที่ไม่ค่อยพบในปกหนังสือเล่มเดียวกันมาไว้ด้วยกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ กล่าวคือ…

– มันเป็นงานที่ทะเยอทะยานทางทฤษฎีแบบไทยศึกษาสกุลฝรั่ง ด้วยการวิพากษ์ท้าทายทฤษฎี “สงครามสร้างรัฐ” ของ Charles Tilly นักสังคมวิทยาอเมริกันและนำเสนอทฤษฎี “เศรษฐกิจโลกสร้างรัฐ” อันครอบคลุมกว่าของ อ.กุลลดาเองขึ้นแทน ไม่เฉพาะสำหรับประยุกต์ใช้ในขอบเขตประเทศสยามหรือภูมิภาคเท่านั้น แต่ในระดับสากลเลยทีเดียว

-แต่กระนั้นงานชิ้นนี้ก็แน่นขนัดด้วยข้อมูลในลักษณะคลุกฝุ่นจากแฟ้มเอกสารเก่าของหอจดหมายเหตุแบบไทยศึกษาสกุลญี่ปุ่น เพียงแค่เปิดดูรายการเอกสารอ้างอิงท้ายบทแต่ละบทดูก็จะเห็นได้

– มันเป็นงานที่ใช้แรงมากในการสังเคราะห์ข้อมูลและเรียบเรียงจัดลำดับเชื่อมโยงให้เป็นระบบ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์การเมืองยุคกรุงศรีอยุธยาไล่เรียงมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ คู่ขนานไปกับความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจโลกต่างๆ เศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจสยาม พร้อมกับความเกี่ยวพันส่งผลต่อกันและกัน

-มันวาดให้เห็นทั้งภาพใหญ่ของเศรษฐกิจมหภาค ลงไปถึงภาพย่อยของการถกเถียงโต้แย้งต่อสู้ด้านแนวนโยบายเศรษฐกิจและกลไกอำนาจระบบราชการ รวมทั้งรายละเอียดรูปธรรมอันน่าทึ่งในพฤติกรรมความเป็นมนุษย์ของตัวละครทางการเมืองที่มีทั้งร่วมมือกัน ซื่อตรงต่อกัน หวาดระแวงกัน ขัดแย้งกัน แตกแยกกัน คิดคดทรยศต่อกัน วางเล่ห์เพทุบายใส่กัน ฉ้อโกงกัน น้อยเนื้อต่ำใจต่อกัน ผูกใจเจ็บแค้นกัน ฯลฯ

-และยังบรรยายวิเคราะห์วิจารณ์ในเชิงประวัติศาสตร์สังคม-วัฒนธรรมและอุดมการณ์ รวมทั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ละเอียดอ่อนไหวแยบคายแหลมคม

 

งานของอาจารย์กุลลดา วาดวางประกาศเลิกหมอบคลานกราบไหว้ในรัชกาลที่ 5 ลงไปในบริบทใหญ่ทางเศรษฐกิจและการเมือง อันได้แก่ บริบทของการที่สยามเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจโลกที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง (Pax Sinica) ไปสู่ระบบเศรษฐกิจโลกของยุโรปที่มีกรุงลอนดอนเป็นศูนย์กลาง (Pax Britannica)

ซึ่งสะท้อนออกผ่านพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ที่ทรงใช้ในการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้าการทูตกับฝ่ายจีนและฝ่ายตะวันตกซึ่งปรับเปลี่ยนไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น (ดูแผนภูมิ)

ส่วนบริบททางการเมืองที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงจากรัฐก่อนสมัยใหม่ (pre-modern state คือก่อนการลอกเลียนสร้างรูปแบบรัฐตามตัวแบบฝรั่งตะวันตก) ไม่ว่าจะเรียกเป็นรัฐราชสมบัติ (ศัพท์บัญญัติของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์) หรือรัฐราชูปถัมภ์ (ศัพท์บัญญัติของ อ.เสน่ห์ จามริก) หรือรัฐศักดินา (ศัพท์เศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์กซิสต์) แต่เดิม ที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายอุปถัมภ์ทอดทอยลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ จากพระมหากษัตริย์ยอดสุดลงมาผ่านเจ้านายขุนนางอำมาตย์ถึงไพร่ทาส, อำนาจกระจายตัวแบบเข้มข้นตรงกลาง ห่างจางตรงชายขอบ จากเมืองหลวง หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก เมืองประเทศราช, แบ่งสันอำนาจและทรัพยากรกันในหมู่กษัตริย์ เจ้านายขุนนางในการควบคุมกำลังคนผ่านระบบไพร่ทาสและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ผ่านส่วยสาอากรและการกินเมือง

มาสู่การสร้างรัฐสมัยใหม่ (modern state) ผ่านการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง (centralization of power) และการสร้างระบบราชการประจำกินเงินเดือน (bureaucracy) เอาอย่างฝรั่ง เพื่อเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพในการปกครองบริหารบ้านเมืองอย่างครอบคลุมทั่วถึงตลอดอาณาเขตพรมแดน ภายหลังการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พ.ศ.2435

โดยความแตกต่างระหว่างรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์กับรัฐชาติ ที่ต่างก็เป็นรัฐสมัยใหม่ซึ่งรวมศูนย์อำนาจและมีระบบราชการด้วยกันทั้งคู่ อยู่ตรงรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ถือว่ารัฐเป็นของสถาบันกษัตริย์โดยสิทธิ์ขาด ส่วนรัฐชาติถือว่ารัฐเป็นของชาติโดยรวม และเหตุการณ์อันเป็นหลักหมายแบ่งแยกรัฐสมัยใหม่ทั้งสองของสยามได้แก่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

ประกาศเลิกหมอบคลานกราบไหว้เกิดขึ้นและมีนัยสืบเนื่องจากบริบทของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้