การต่างประเทศไทย (ยัง) น่าเป็นห่วง!

การอภิปรายแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ผ่านไปแล้วก็ตาม อาจเป็นครั้งแรกในช่วงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่อภิปรายเรื่องการต่างประเทศ ในเวลานี้สถานการณ์โลกมองข้ามไม่ได้ ทั้งความตึงเครียดหลายจุดทั่วโลก จนมาถึงความตึงเครียดชิดชายแดนไทยอย่างพม่าที่ฝุ่นตลบจากไฟสงครามกลางเมือง

การอภิปรายด้านประเด็นต่างประเทศเวลานี้ จึงเป็นอะไรที่อยากบันทึกไว้

โดยเฉพาะการอภิปรายของรังสิมันต์ โรม และชลธิชา แจ้งเร็ว ส.ส.จากพรรคก้าวไกล และกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.หนึ่งเดียวจากพรรคเป็นธรรม

ฝั่งก้าวไกลเปิดอภิปรายเรื่องพม่า โดยโรมเปิดเรื่องขบวนการคอลเซ็นเซอร์ที่ผุดขึ้นตามเมืองชายแดน โดยเฉพาะเมียวดี ชเวก๊กโก ที่มีขบวนการของนายทุนจีนเทาลงทุนสร้างเมืองใหม่ ตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์และกาสิโน

ซึ่งโรมกล่าวว่า มีข้าราชการและคนมีสีฝั่งไทยเอี่ยวกับผลประโยชน์ธุรกิจสีเทาเหล่านี้ และชื่อที่ปรากฏขึ้นในการอภิปราย 1 ในนั้นคือ “KK-Park” ซึ่งเจ้าของคือ ‘หวัน ค็อกคอย’ ฉายา “ไอ้ฟันหลอ” หัวหน้าแก๊งมาเฟียจากมาเก๊า ที่มาตั้งแก๊งคอลเซ็นเซอร์ในสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา ก่อนจะหนีทางการกัมพูชาที่จับมือรัฐบาลจีนทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มาตั้งที่มั่นใหม่ที่เมียวดี

โรมได้ฉายภาพการทารุณกรรมของคนที่ถูกล่อลวงไปทำงานหากทำยอดไม่ถึงเป้า หนักสุดคือการตัดเฉือนอวัยวะ ซึ่งน่ากังวลว่าหากเป็นคนไทยที่ถูกล่อลวงไปทำงานแล้วโดนกระทำเช่นนี้ รัฐบาลไทยจะอยู่เฉยได้หรือไม่

โรมให้ความเห็นว่า ตนไม่มีท่าทีคัดค้านความคิดของรัฐบาลที่จะตั้งศูนย์บันเทิงครบวงจรและกาสิโนในไทย แต่ขอให้ตรวจสอบผู้ลงทุนโดยเฉพาะทุนจีนเทา เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นเมียวดี 2 อีก

ซึ่งนอกจากนายหวันแล้ว ยังมีบริษัทหย่าไถ้ โฮลดิ่ง ผู้ลงทุนสร้างไชน่าทาวน์ในเมืองใหม่โก๊กโก่ เคยเดินทางมาไทยในปี 2562 เพื่อศึกษาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดอีกด้วย

ด้านลูกเกด ชลธิชา อภิปรายเรื่องวิกฤตมนุษยธรรมของผู้ลี้ภัยสงครามจากพม่า ซึ่งรัฐบาลไทยรับมือเรื่องนี้ในระดับที่ชลธิชาเรียกว่า “อ่อนหัด” โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ กับชาวพม่าที่หนีการบังคับเกณฑ์ทหารด้วยการผลักดันกลับประเทศ

หรือการให้เด็กไร้สัญชาติที่หนีภัยสงครามออกจากการเรียนในไทยแล้วส่งกลับพม่า

รวมถึงความตื้นเขินของผู้นำอย่างเศรษฐาที่ให้สัมภาษณ์กับ ‘แม็ต ฮันท์’ จาก France24 ว่าปัญหาผู้อพยพยังไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะสถานการณ์ในพม่ายังไม่ถึงขั้นสงครามกลางเมือง

คำกล่าวของเศรษฐาแบบนี้ ก็สะท้อนความแตกฉานในสถานการณ์สู้รบในพม่าที่เบาบางจนน่าตกใจ

 

มาถึงคิวของนล กัณวีร์ ที่อภิปรายนโยบายต่างประเทศและการทูตของไทยแบบภาพใหญ่ โดยแสดงความผิดหวังและนิยามว่า แม้คุณเศรษฐาได้พูดว่ารัฐบาลจะก้าวไปข้างหน้า แต่การดำเนินงานเหมือนก้าวไม่พ้นยุคสงครามเย็น

ตลอด 6 เดือนของรัฐบาลเศรษฐา ติดกับ “3 หลง” คือ “หลงผิด-หลงทาง-หลงตัวเอง” เรื่องการต่างประเทศไปแทรกในทุกส่วนของนโยบาย ทำเป็นการต่างประเทศอีแอบ แต่ยังย่ำอยู่กับที่ในเรื่องที่ทำมาตลอดทศวรรษ โดยเฉพาะการค้า-การลงทุน-ความมั่นคง มากกว่าเรื่องนิติธรรม สิทธิมนุษยชนและส่งเสริมสันติภาพโลก

ซึ่งเรื่องนี้ นักวิชาการต่างชาติที่ได้ศึกษานโบายต่างประเทศของไทย พบว่าเอาเข้าจริงไทยแทบไม่มีสิ่งที่เรียกว่านโยบายต่างประเทศ เพราะการมองแบบผิดฝาผิดตัว รัฐไทยให้ความสำคัญกับความมั่นคงของสถาบันหรือระบอบสถาปนาที่ค้ำจุนอำนาจของชนชั้นนำจารีตเป็นเรื่องหลัก ขณะที่นิยามรัฐชาติในฐานะตัวแสดงด้านต่างประเทศจะยึดหลัก “ผลประโยชน์ของชาติ” เป็นสูงสุด และสถาบันทางการเมืองเป็นเพียง “องค์ประกอบ” เช่นเดียวกับอาณาเขต พลเมือง และอำนาจอธิปไตยของรัฐชาติ แต่สำหรับกรณีไทยนั้น กลับมีความต่าง และนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า

“ความอยู่รอดของระบอบอำนาจนำไม่เท่ากับผลประโยชน์ของชาติ”

การให้น้ำหนักไปในด้านการค้า-ลงทุน-ความมั่นคง ย่อมสะท้อนได้ถึงการส่งเสริมเพื่อหล่อเลี้ยงระบอบ/สถาบันบางอย่าง แต่ผลประโยชน์ของประชาชนทั้งจับต้องได้และไม่ได้เป็นเรื่องรอง

มาถึงรัฐบาลเศรษฐาก็เลือกผลักดันการทูตเชิงรุก ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวนโยบายต่างประเทศแบบยุคไทยรักไทย ที่เน้นไปในเรื่องการค้ากับการลงทุนเพื่อตอบสนองภายในประเทศมากกว่า และรัฐบาลเศรษฐายังคงรับช่วงต่อ โดยเน้นแต่ตัวเอง ไม่ว่าระดับเล็กจนถึงภูมิภาคและพหุภาคี ซึ่งกัณวีร์มองว่ารัฐบาลไทยหลงตัวเองหนักมาก! นำไปสู่สิ่งที่กัณวีร์เรียกว่า “การทูตแบบคอมฟอร์ตโซน” เน้นปกป้องผลประโยชน์ของชาติ (ที่ไม่ใช่ของประชาชนจริงๆ) คิดแค่ว่าเป็นเซลส์แมน ไปแล้วขายของได้เท่าไหร่ ซึ่งไม่เพียงพอ

กัณวีร์จึงเสนอว่า การทูตที่ควรทำในเวลานี้คือ การทูตสาธารณะและการทูตสองด้าน คือให้ประชาชนเรียนรู้ มีส่วนร่วมด้านการต่างประเทศ และปรับทิศทางให้สมกับที่ประชาคมโลกคาดหวัง โดยเฉพาะเรื่องมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน

และที่ควรเพิ่มเข้าไปคือการเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลหรือพึ่งพามหาอำนาจ หรือเชื่อใจชาติใดมากเกินไปจนเสียท่าเพราะความเลินเล่อหลงผิด

 

นอกจากนั้น กัณวีร์ยังให้คะแนนการต่างประเทศไทยว่าได้ไม่คุ้มเสีย ไม่ว่าวีซ่าฟรี แลนด์บริดจ์ จนถึงสถานการณ์ในพม่าที่ไทยเหมือนหวังดีแต่ไม่พอ อย่างการอ้อนของเซลส์แมนให้โครงการแลนด์บริดจ์อยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ BRI หรือยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน นายกัณวีร์แสดงความกังวลโดยยกบทเรียนหลายประเทศที่ประสบ ตั้งแต่การได้เงินกู้เพื่อทำโครงสร้างพื้นฐาน และแลนด์บริดจ์ก็มีรายงานว่า บริษัทจีนขอร่วมลงทุนทำโครงการด้วย ความน่ากังวลอยู่ตรงที่ หากลงทุนแล้วไม่คืนทุนตามกำหนดหรือผิดนัดชำระหนี้ จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “การทูตกับดักหนี้”

ลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นกับหลายประเทศไม่ว่าลาว กัมพูชา ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ หรือมัลดีฟส์ ซึ่งตามข้อมูลของธนาคารโลกในปี 2564 มัลดีฟส์มีหนี้ต่างประเทศมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ โดยมีสัดส่วนหนี้จีนสูงกว่า 42% และรัฐบาลปัจจุบันของมัลดีฟส์ก็มีความใกล้ชิดกับจีนถึงขั้นร่วมมือด้านยุทธศาสตร์การทหาร ซึ่งหมายถึงความตึงเครียดในมหาสมุทรอินเดียกับประเทศอินเดีย

ในรายงานการศึกษาเรื่องแลนด์บริดจ์ของไทยล่าสุด ได้ถกเรื่องความมั่นคงพร้อมมีข้อเสนอว่า แลนด์บริดจ์จะดีกว่าขุดคลองไทย ที่สุ่มเสี่ยงกลายเป็นแม่เหล็กดูดการชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ของชาติมหาอำนาจ แต่สิ่งที่ไม่ได้ระบุต่อคือ ถึงต่อให้เป็นแลนด์บริดจ์ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิด หากท่าเรือสองฝั่งเป็นมากกว่าการพาณิชย์ แต่ยังปรับปรุงให้สามารถใช้ในการทหารได้

หรือกรณีสงครามกลางเมืองพม่าที่เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลเศรษฐาในขณะนี้ ก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนกับอาเซียนในการสร้างสันติภาพ ขณะที่ผู้นำกองทัพไทยยังคงมีสัมพันธ์อันดีกับ SAC หรือรัฐบาลทหารพม่า จนกระทั่งกองทัพฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารยึดเมืองเมียวดีได้สำเร็จ เป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของรัฐบาลทหาร หลังจากเสียเมืองเล่าก์ก่ายให้กับทัพผสม 3 พี่น้องในปฏิบัติการ “1027”

ต่อมา SAC ขอทางการไทยให้เครื่องบินจอดที่แม่สอดเพื่อรับเจ้าหน้าที่ทางการพม่าและครอบครัวที่ยอมจำนนข้ามมาไทยเพื่อขึ้นเครื่องกลับ แต่ว่าเวลาเดียวกัน กลับมีกระแสข่าวว่าเครื่องบิน 3 ไฟลต์ลงจอดแม่สอด ไม่ได้รับคนแต่มาขนเงินและทองคำในธนาคารที่ทหารพม่าดูแลกลับไป

แม้ว่า จักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศจะชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ว่า เครื่องบินของพม่าที่ลงจอดที่แม่สอดไม่ได้ขนอาวุธหรือเจ้าหน้าที่ แต่เป็นสิ่งของ ซึ่งยังไม่ระบุชัดว่าสิ่งของที่ว่าคืออะไร

จากนั้นทางบัวแก้วชี้แจงความยาวเพียง 3 นาทีด้วยข้อสรุปว่า เครื่องบินพม่ามาเพียงลำเดียว ส่วนที่เหลือยกเลิกไปแล้ว

รัฐบาลไทยยังคงทำในแบบที่ทำอยู่ต่อไป ถ้าถึงคราวเกิดจัดตั้งสหพันธรัฐขึ้นมา การต่างประเทศไทยต้องเปลี่ยน ปฏิรูปไม่น่าไหว!