นัยทางการเมืองของประกาศเลิกหมอบคลานกราบไหว้ในรัชกาลที่ 5 (3) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

ตอน 1 2 3 จบ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงอธิบายโครงการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินสยามของพระองค์ไว้ในพระราชดำรัสตอบความเห็นของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์และคณะให้เปลี่ยนการปกครองใน พ.ศ.2528 ว่า :

“…ความต้องการในเมืองเราเวลานี้ ที่เป็นต้องการสำคัญนั้น คือ คอเวอนเมนต์ รีฟอม จำเป็นที่จะให้พนักงานของราชการแผ่นดินทุกๆ กรมทำการให้ได้เนื้อเต็มหน้าที่ แลให้ได้ประชุมปรึกษาหารือกัน ทำการเดินให้ถึงกันโดยง่ายโดยเร็ว ทำการรับผิดชอบในหน้าที่ของตัว หลีกลี้ไม่ได้ นี่เป็นความต้องการอย่างหนึ่ง”

จะเห็นได้ว่าเนื้อแท้แห่งโครงการปฏิรูปแผ่นดินของพระองค์คือการปฏิรูปการปกครองหรือการบริหาร (government or administrative reform) เพื่อให้กลไกเครื่องมือแห่งอำนาจสามารถทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หาใช่ปฏิรูปการเมือง (political reform) เพื่อปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) ไปเป็นอื่นไม่

จากงานเรื่อง The Rise and Decline of Thai Absolutism ของ อาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด บทที่ 2 “The first stage of state-building” ในสถานการณ์การเมืองต้นรัชกาลที่ 5 พลังการเมืองในหมู่ชนชั้นนำสยามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการปฏิรูปของพระองค์มี 3 ฝ่ายด้วยกัน ได้แก่ :

1) สยามเก่า ฝ่ายปฏิกิริยา ประกอบด้วยส่วนใหญ่ของตระกูลขุนนาง ฐานเศรษฐกิจและอำนาจหลักอยู่ที่การควบคุมกะเกณฑ์กำลังแรงงานในระบบไพร่-ทาสแต่เดิม แกนนำคือวังหน้า กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ หรือพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ โอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

2) สยามอนุรักษ์ กลุ่มชนชั้นนำเล็กๆ แต่มั่งคั่ง มีฐานเศรษฐกิจที่การค้าและระบบเจ้าภาษีนายอากรซึ่งเฟื่องฟูขึ้นกับการเปิดการค้าเสรีหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง กุมตำแหน่งอำนาจสำคัญในราชการ รวมศูนย์ที่ตระกูลบุนนาคและพวกพ้องบริวาร แกนนำคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

3) สยามหนุ่ม ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้านายขุนนางหัวใหม่กลุ่มหนึ่งที่ใกล้ชิดและสนับสนุนพระองค์

 

อาจสรุปความแตกต่างขัดแย้งด้านแนวนโยบายระหว่างพลังชนชั้นนำ 3 กลุ่มข้างต้นได้ตามตาราง

จะเห็นได้ว่า [สยามหนุ่ม + สยามอนุรักษ์] มีจุดยืนร่วมกันในการคัดค้านและต้องการยกเลิกระบบไพร่ทาส-มูลนาย, อีกทั้งร่วมกันสนับสนุนการเปิดเศรษฐกิจการค้าเสรีกับตะวันตกด้วย จึงสามารถเป็นแนวร่วมกันต่อต้านคัดง้างกับพลังฝ่าย [สยามเก่า] ใน 2 ประเด็นนี้

ดังปรากฏว่าตั้งแต่ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง “ริเยนต์” หรือผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (พ.ศ.2411-2416) ก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 20 พระชันษาและขึ้นว่าราชการแผ่นดินเองนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ริเริ่มขับเคลื่อนให้ยกเลิกทาส โดยเสนอให้ออกกฎหมายเรียกเก็บภาษีทาสเอาจากมูลนายผู้เป็นเจ้าของทาสในอัตราสูงถึงเดือนละ 2 บาท/ทาสหนึ่งคน ซึ่งจะยังผลให้ระบบทาสถูกยกเลิกไปในทางปฏิบัติภายในเวลา 5 ปี มาตรการอันเข้มข้นเฉียบพลันของริเยนต์ดังกล่าวถูกคัดค้านจากฝ่ายสยามเก่าจนพ่ายพับไป (Kullada, The Rise and Decline of Thai Absolutism, p.47)

ทว่า ในทางกลับกัน ขณะที่ [สยามหนุ่ม] ต้องการเดินหน้าไปปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ปรับเปลี่ยนบรรดาสถาบันบริหารราชการแต่เดิมไปในแนวทางรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางไว้ที่กรุงเทพฯ และสถาบันกษัตริย์ และสร้างระบบราชการสมัยใหม่ขึ้นเลียนแบบตะวันตกเพื่อเป็นกลไกรัฐอันทรงประสิทธิภาพแทนระบบขุนนางเก่า (centralization of power & bureaucracy) ทั้งฝ่าย [สยามเก่า + สยามอนุรักษ์] ต่างเป็นแนวร่วมกันคัด ค้านต่อต้านประเด็นดังกล่าวเพราะสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์

ยุทธวิธีหลักที่ฝ่ายสยามเก่าใช้ในการคัดค้านการปฏิรูปของสยามใหม่คือจำกัดการเข้าร่วมของฝ่ายตนในความสัมพันธ์กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลง โดยเฉพาะต่อหน้าธารกำนัล เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระราชอำนาจถดถอยด้อยไป ด้วยการไม่ไปเข้าร่วมพระราชพิธีหรืองานสำคัญต่างๆ ในทำนองบอยคอต เช่น งานพระราชทานเลี้ยงต้อนรับเอกอัครราชทูตสเปน เป็นต้น

(Kullada, The Rise and Decline of Thai Absolutism, p.45)

 

ขณะที่ฝ่ายสยามอนุรักษ์ใช้ยุทธวิธีปล่อยให้สยามใหม่แสดงบทบาทกองหน้าเรียกร้องผลักดันการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปต่างๆ ไป ส่วนตัวเองก็มีโอกาสช่องทางที่จะเลือกจับมือเป็นพันธมิตรกับสยามเก่าอย่างเสรีแล้วแต่ประเด็นเฉพาะหน้าได้ หากมาตรการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงของสยามใหม่สมประโยชน์ตน (เช่น เปิดการค้าเสรีกับตะวันตก, ลดเลิกระบบไพร่-ทาส) สยามอนุรักษ์ก็สามารถเก็บเกี่ยวดอกผลโดยไม่ต้องลงแรงมาก แต่หากมาตรการปฏิรูปขัดแย้งสวนทางผลประโยชน์ตน (เช่น รวมศูนย์อำนาจการคลังไปไว้ที่ส่วนกลาง) ก็สามารถร่วมมือกับสยามเก่าคัดค้านมันได้ (Kullada, The Rise and Decline of Thai Absolutism, p.47)

ดังปรากฏว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มเปิดฉากโครงการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินด้วยการตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ที่ทำงานแบบออฟฟิศเหมือนระบบราชการสมัยใหม่ขึ้นในวังหลวงเพื่อเป็นกลไกรวมศูนย์การเก็บภาษีอากรแผ่นดิน (ในปี พ.ศ.2416 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกระทรวงการคลังในเวลาต่อมา) แล้วผลักดันการรวมศูนย์อำนาจการคลังโดยเฉพาะการเก็บภาษีเข้าไปในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) ซึ่งทรงตั้งขึ้นใน พ.ศ.2417 ก็ไปกระทบกระเทือนผลประโยชน์ด้านภาษีอากรที่ฝ่ายสยามเก่าและสยามอนุรักษ์เคยมีเคยได้โดยตรง (Kullada, The Rise and Decline of Thai Absolutism, pp.52-55)

อีกทั้งต่อมา สมาชิกสยามหนุ่มเริ่มเคลื่อนไหวผ่านหนังสือพิมพ์ ดรุโณวาท (โอวาทของเด็ก) เรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจแต่งตั้งรัชทายาทแทนระบบวังหน้าที่ดำรงอยู่ตอนนั้น และสมาชิกสภาที่ปรึกษาในพระองค์ (หรือสภาองคมนตรี Privy Council) ที่ทรงตั้งขึ้นใน พ.ศ.2417 ก็แสดงท่าทีไปในทำนองเดียวกัน

ประเด็นปฏิรูปรวมศูนย์อำนาจทั้งสองก็กลายเป็นปมขัดแย้งที่นำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างพลังชนชั้นนำสยาม 3 ฝ่ายในวิกฤตวังหน้า (พ.ศ.2417-2418) ในที่สุด

ประกาศเลิกหมอบคลานกราบไหว้ในพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2416 กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและโครงการปฏิรูปของสยามหนุ่มผ่านพ้นวิกฤตวังหน้าและชนะการท้าทายพระราชอำนาจโดย [สยามเก่า + สยามอนุรักษ์] มาได้