“ยุติธรรม ดีจริงหรือ” ไม่มีทางที่ในโลกนี้ คนทุกคนจะทำงานได้เท่ากัน แต่ดันจ่ายเงินเดือนเท่ากัน

กรวิชญ์ พนักงานใหม่ไฟแรง ดีกรีวิศวกรจบจากเมืองนอก

เพิ่งจะเริ่มทำงานได้เพียงสองวันเท่านั้น

กับองค์กรใหญ่ระดับชาติ ที่หลายคนใฝ่ฝันอยากร่วมงาน

วันนี้ กรวิชญ์นัดคุยงานกับ “หัวหน้า” เป็นครั้งแรก

เขารู้สีกตื่นเต้น มีความหวัง

หลังจากพูดคุยกับ “หัวหน้า” เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง

ก่อนจะจบบทสนทนา

หัวหน้าพูดกับกรวิชญ์ ว่า

“ที่นี่เราทำงานกันเป็นทีมนะ สำเร็จก็สำเร็จด้วยกัน ผิดพลาดก็ผิดพลาดด้วยกัน ไม่มีใครเก่งกว่าใคร ทุกคนทำงานร่วมกัน เพื่อเป้าหมายของทีม”

กรวิชญ์ฟังจบ ไม่ตอบอะไร จบบทสนทนาแรกกับหัวหน้า

เขาเดินออกจากห้องของหัวหน้า

บังเอิญเจอกับเพื่อนเก่า “ธฤต” เดินสวนมาพอดี

“เฮ้ย ธฤต แกทำงานที่นี่ด้วยหรอ”

“กรวิชญ์ ไปไงมาไงเนี่ย แกย้ายมาที่นี่หรอ”

กรวิชญ์ตอบ “ใช่ๆ เพิ่งจะคุยกับหัวหน้าเสร็จเนี่ย”

“หา อย่าบอกนะว่า แกอยู่แผนกเดียวกัน” ธฤตพูด พร้อมทำท่าประหลาดใจ

“ก็ใช่น่ะสิแก เพิ่งเข้ามาได้สองวัน ได้คุยกับหัวหน้าครั้งแรกเนี่ย” กรวิชญ์เสริม

ธฤตยิ้มกริ่มพักหนึ่ง พอจะทำให้กรวิชญ์สงสัยเล็กๆ แล้วเอ่ยถาม

“แล้วพี่แกพูดเรื่องการทำงานเป็นทีมของที่นี่รึปล่าว”

กรวิชญ์ตอบ “เออๆ ใช่ๆ แกย้ำเยอะเลยตอนจบ”

ธฤตยิ้มเล็กๆ แล้วพูดแกมประชด

“เดี๋ยวแกก็รู้”

 

ในยุคนี้ ที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว

คนเก่งเพียงไม่กี่คน คงไม่สามารถพาองค์กรไปให้ตลอดรอดฝั่งได้

“ทีมงาน” ที่ดี จึงเป็น “ส่วนประกอบ” ที่สำคัญ

ดังที่ เดวิด เคลลี่ (David Kelly) ผู้ก่อตั้ง d.school ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมระดับโลกอย่าง “ไอดีโอ (IDEO)” เคยกล่าวไว้ว่า

“All of us are smarter than any of us”

หมายความว่า

พวกเราทุกคนในที่นี้ หากทำงานร่วมกันทั้งหมด

ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ร่วมกันแล้ว

ยังไง ยังไง

ก็เก่งกว่าคนเพียงคนเดียว

ไม่ว่าคนคนนั้นจะเก่งมากแค่ไหนก็ตาม

สุดท้าย ไม่สามารถสู้ศักยภาพของทั้งทีมรวมกันได้

บริษัท กูเกิล (Google) เองก็ให้ความสำคัญมากกับการ “เลือกบุคลากร”

ถ้าดูตามสถิติแล้ว เข้ายากกว่ามหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง “ฮาร์วาร์ด (Harvard)” เสียอีก

เรื่องราวความยากเย็นแสนเข็ญของการเลือกคนเข้าทำงานของ “กูเกิล” นั้น

ได้มีการพูดคุยกันมาก สามารถหาอ่านได้ทั่วไป

หากแต่ว่าเรื่องราวการบริหารทีมภายในนี่สิ ที่มีบางแง่มุมที่น่าสนใจ

หาอ่านไม่ได้ง่ายๆ

แต่ก็ไม่พ้นสายตา “หนอนหนังสือ” อย่างผมครับ

“ลาสโลว์ บ๊อก (Laszlo Bock)” ผู้บริหารสูงสุดสายงานบุคคลของ “กูเกิล”

เคยเขียนหนังสือออกมาหนึ่งเล่ม มีชื่อว่า “เวิร์กรูล (Work Rules)”

บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบริหารบุคคลของ “กูเกิล”

มีบทหนึ่ง เขาเขียนหัวเรื่องว่า

“Pay Unfairly” หรือที่แปลตรงตัวว่า “จ่ายเงินอย่างไม่ยุติธรรม”

อ่านตอนแรก ก็แปลกใจครับ นึกว่า “เขาพิมพ์ผิด”

มีอย่างที่ไหน จ่ายเงินพนักงานแบบไม่ยุติธรรม

แต่เขาไม่ได้พิมพ์ผิดครับ

 

องค์กรหลายแห่งเข้าใจผิด

แปลคำว่า “ยุติธรรม” เป็นคำว่า “เท่ากัน”

การทำงานเป็นทีม ทุกคนช่วยงานกัน

ผลตอบแทนก็ต้องเท่ากัน

นี่สิ ยุติธรรม

แต่กูเกิลบอกว่า แนวคิดแบบนี้ เป็นเรื่อง “ไร้สาระ” มากๆ

ไม่มีทางที่ในโลกนี้ คนทุกคนจะทำงานได้เท่ากัน

ต้องมีคนที่ทำงานมาก ทำงานดี

และมีคนที่ทำงานน้อย ทำงานแย่

หน้าที่ขององค์กรคือ “ตอบแทนคนเหล่านี้ ตามสิ่งที่เขาทำให้องค์กร”

มิใช่ตอบแทนให้ทุกคน “เท่ากัน”

ลองนึกภาพดูว่า

วิศวกรคนหนึ่ง ที่มีหน้าที่เปลี่ยนสี จัดรูปหน้าของเว็บไซต์กูเกิลให้ทันสมัยอยู่เสมอ

กับวิศวกรอีกคนหนึ่ง ที่คิดค้น “Google Adwords” การขายโฆษณา ตามตัวอักษรที่ค้นหา

สร้างรายได้ทางแรกให้กูเกิล และเป็นพื้นฐานของธุรกิจมาจนถึงทุกวันนี้

วิศวกรสองคนนี้สร้างมูลค่าให้บริษัทแตกต่างกันหลายล้านเท่า

แล้วเหตุใดจึงควรได้รับ “ผลตอบแทน” เท่ากัน

ลาสโลว์ให้คำแนะนำว่า

ลองนึกดูตอนนี้ว่า มีพนักงานคนไหนไหม ที่คุณยอมแลกพนักงานห้าคนเพื่อเขาคนเดียว

ถ้ามีละก็

มีความเป็นไปได้สูง ว่าคุณจ่ายเงินเขาคนนั้นน้อยกว่าสิ่งที่เขาควรจะได้รับแล้ว

และเขาอาจจะกำลัง “น้อยใจ” หรือ “หางานใหม่” อยู่ก็เป็นได้

สตีฟ จ็อปส์ เคยให้แนวคิดไว้คล้ายๆ กันว่า

คนขับแท็กซี่ที่ดี กับคนขับแท็กซี่ที่ไม่ดี อาจจะมีฝีมือต่างกัน หนึ่งเท่า หรือสองเท่า

พ่อครัวที่ดี กับพ่อครัวที่ไม่ดี อาจจะมีฝีมือต่างกันสิบเท่า

แต่ในโลกของยุคดิจิตอล

วิศวกรคอมพิวเตอร์ที่ดี กับวิศวกรที่ไม่ดี อาจจะสร้าง “มูลค่า” แตกต่างกันได้ถึง “เป็นร้อยเป็นพันเท่า”

ธุรกิจที่สร้างเงินร้อยล้าน พันล้าน หลายครั้งเกิดจากปลายนิ้วและหัวสมองของวิศวกรไม่กี่คนทำขึ้นมา

การให้ผลตอบแทนเท่ากัน จึงเป็นเพียง “ข้ออ้าง” ของผู้บริหารยุคเก่า

ที่อาศัยคำว่า “ยุติธรรม” มาเป็นข้ออ้างในการไม่ “บริหารคน” มากกว่า

ความยุติธรรมที่แท้จริงคือ การให้ผลตอบแทนตามมูลค่าที่พนักงานแต่ละคนได้ทำให้องค์กรต่างหาก

ลาสโลว์จึงเตือนเอาไว้ว่า

“ถ้าความยุติธรรมของคุณคือ ความเท่าเทียมแบบมักง่าย แล้วละก็ จงจ่ายเงินอย่างไม่ยุติธรรมเถิด (pay unfairly)”

 

ธฤตยิ้มแห้งๆ แล้วตอบกลับกรวิชญ์ไปเบาๆ ว่า

“ฉันลองมาหมดแล้ว เข้ามาปีแรกไฟแรงเหมือนแกเนี่ยแหละ

ทำงานเต็มที่ ถวายหัว ก็ได้เงินเดือนเพิ่ม 5%

อีกปี นั่งเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้คนอื่นทำ

ก็ได้เงินเดือนเพิ่ม 5% เท่ากับคนอื่น

นี่แหละ การทำงานเป็นทีม ทำด้วยกัน สำเร็จด้วยกัน

ในแบบฉบับของหัวหน้าพวกเรา ฮ่าๆๆ

ฉันเตือนไว้เฉยๆ นะ”

 

กรวิชญ์อึ้งไปสามวินาที ได้เพียงยิ้มตอบ พร้อม “ขอบคุณเพื่อนรักในความหวังดี”

คิดว่าเย็นนี้จะแวะไปร้านหนังสือ KinoKuniya แถวบ้าน

แล้วซื้อ “Work Rules” มาเป็นของกำนัลชิ้นแรกให้กับหัวหน้า

ยุติธรรม คือ ทุกคนได้เท่ากัน

แนวคิดล้าสมัยของ “ผู้บริหารมักง่าย” ที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง