พระพุธ : เทพเจ้าแห่งความเฉลียวฉลาดในอินเดีย แต่เป็นเทพเจ้าแห่งวาจาและการพาณิชย์ในไทย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“พระพุธ” ไม่เพียงเป็นเทพเจ้าประจำดาวพุธ และเทพผู้ครองวันพุธแต่เพียงเท่านั้น แต่ตามความเชื่อของพ่อพราหมณ์ในอินเดียนั้น ท่านยังเป็นเทพเจ้าแห่งความเฉลียวฉลาดอีกด้วย

ตามปรัมปราคติของพวกพราหมณ์-ฮินดู เล่าว่า “พระพุธ” ทรงเป็นผู้บุตรของพระโสมะ ซึ่งก็คือ “พระจันทร์” (แน่นอนว่า พระจันทร์ของพวกพราหมณ์เป็นผู้ชาย) กับนางตารา แต่บางตำราก็ว่า พระพุธเป็นบุตรของนางโรหิณี ซึ่งเป็นพระชายาองค์โปรด ในบรรดาชายาทั้ง 27 องค์ของพระจันทร์ต่างหาก

แต่ตำนานที่ว่าเป็นบุตรของนางตารานั้น มีเนื้อหาที่น่าจับใจกว่ามาก เพราะมีรายละเอียดในท้องเรื่องว่า นางตารานั้นไม่ใช่ชายาของพระจันทร์มาแต่เดิม มเหสีของพระพฤหัสบดี เป็นพระจันทร์ท่านไปฉุดคร่าเอาเมียของดาวครูอย่าง พระพฤหัสบดีมาเฉยๆ เสียอย่างนั้น

และเมื่อเกิดเรื่องดังนั้นแล้ว พระพฤหัสบดีก็ไปขอเมียคืนจากพระจันทร์อย่างสุภาพชน

แต่พระจันทร์ได้ประกอบพิธีราชสูยะ (คืองานเถลิงราชย์พระราชา ให้เป็นใหญ่เหนือราชาทั้งปวง) ไปก่อนหน้านั้นแล้ว จึงมีฤทธิ์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

แน่นอนว่า พระจันทร์ย่อมไม่ยอมคืนให้ เรื่องราวจึงกลายเป็นมหากาพย์ที่ใหญ่โตขึ้นกว่าจะเป็นแค่เรื่องในมุ้งของเทวดาเพียงสองสามองค์

จนถึงขนาดเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่อย่างพระพรหมต้องออกหน้ามาไกล่เกลี่ยให้ พระจันทร์ก็ยังดื้อ ไม่ยอมคืนนางตาราให้กับพระพฤหัสบดี

คราวนี้จึงได้เกิดสงครามของเหล่าเทพเจ้าขึ้นในระดับมหากาพย์

 

“พระศุกร์” ซึ่งทรงหมั่นหนังหน้ากับพระพฤหัสบดี ด้วยท่านเป็นพระครูของเจ้าแห่งอสูร อย่างท้าวพลีสูร (ในขณะที่พระพฤหัสบดีเปรียบได้กับปุโรหิตของเหล่าเทวดา) ตามปรัมปราคติพราหมณ์ ก็ย่อมเข้าข้างพระจันทร์ เช่นเดียวกับบรรดาสานุศิษย์ของพระศุกร์ ไม่ว่าจะเป็น อสูร แทตย์ และทานพ (สองชนิดหลังนี่ที่จริงแล้วทั้งคู่ต่างก็เป็นอสูรประเภทหนึ่งนั่นเอง)

ในขณะเดียวกันบรรดาเทวดา ที่นำโดยราชาแห่งเทพอย่าง “พระอินทร์” ก็ย่อมต้องเข้าข้างพระพฤหัสบดี ดังนั้น จึงเกิดเป็นสงครามสวรรค์ครั้งยิ่งใหญ่

รบกันไปรบกันมา โดยไม่ทราบความเสียหาย เพราะไม่มีนักข่าวสำนักไหนรายงาน พระพรหมท่านก็ทรงห้ามทัพได้สำเร็จ สุดท้ายพระจันทร์ก็ทรงต้องจำยอมคืนนางตารา กลับสู่อ้อมอกของพระพฤหัสบดีท่านแต่โดยดี

แต่ปรากฏว่าคืนไม่คืนเปล่า พระจันทร์ยังได้ทรงมอบของแถมให้กับพระพฤหัสบดี คือลูกน้อยๆ ในท้องของนางตาราด้วย แน่นอนว่า เจ้าหนูน้อยคนนั้นชื่อว่า “พระพุธ” ไม่อย่างนั้นผมคงไม่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่า พระพุธเป็นผู้บุตรของพระจันทร์

แต่ก็ไม่มีตำนานฉบับไหนระบุไว้ว่า ระหว่างพระพฤหัสบดี นางตารา และพระพุธ จะมีปัญหาภายในครอบครัวใดๆ อันเกิดแต่สงครามชิงนางครั้งนั้นหรอกนะครับ แถมพระพฤหัสบดีท่านยังใจดีกับเด็กน้อยพระพุธ เพราะนอกจากจะยอมเลี้ยงดูแล้ว ยังสั่งสอนศิลปวิทยาการต่างๆ ให้จนหมดไส้หมดพุง (ย้ำอีกทีว่า พระพฤสบดีนั้นเป็นดาวครู) จนเมื่ออายุครบ 30 ปีพระพุธก็จดจำศาสตร์ได้ทุกแขนง แล้วกลายเป็นเทพเจ้าแห่งความฉลาดปราดเปรื่องไปนั่นเอง

 

ปรัมปราคติเกี่ยวกับพระพุธ (ที่หาอ่านได้ยากเย็น) ยังมีที่สำคัญอยู่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องของนางอิลา ซึ่งอันที่จริงแล้วนางงามนางนี้ เดิมทีนั้นเป็นผู้ชาย

เรื่องของเรื่องก็คือ มีกษัตริย์อยู่องค์หนึ่งชื่อ “ท้าวอิลราช” ได้เสด็จประพาสป่า แล้วหลงเข้าไปในดินแดนลับแลของพระอิศวร ซึ่งขณะนั้นกำลังหยอกเย้ากับพระแม่อุมา ด้วยการจำแลงพระวรกายเป็นหญิงอยู่ แต่ด้วยพลังเวทย์อันรุนแรงของพระองค์ ทำให้อะไรต่อมิอะไรในดินแดนนั้นก็กลายเป็นหญิงไปทั้งหมดด้วย

แน่นอนว่า ท้าวอิลราช และคณะผู้ติดตามก็ไม่รอด

เมื่อคณะของท้าวอิลราชกลายเป็นผู้หญิงกันยกชุดก็ตกใจเป็นอย่างมาก จึงพากันไปเข้าเฝ้าพระอิศวร แต่พระอิศวรกริ้วหนัก (คงเพราะพวกท้าวอิลราชไปขัดพระเกษมสำราญ) จึงไม่แก้คำสาปให้ แต่ยังดีที่พระแม่อุมามีจิตเมตตา จึงผ่อนผันโทษให้ โดยให้เป็นชาย 1 เดือน หญิง 1 เดือนสลับกันไป

ขณะที่เป็นชายก็ให้ลืมเรื่องราวตอนเป็นหญิง ส่วนในขณะที่เป็นหญิงก็ลืมเรื่องขณะที่เป็นชายเสียให้สิ้น

ที่สำคัญคือเมื่อเป็นหญิงจะมีความงามเป็นเลิศ และมีชื่อว่า “นางอิลา”

 

พระพุธจะเข้ามามีบทบาทในท้องเรื่องก็ตอนต่อจากนี้แหละครับ เพราะต่อมาพวกนางอิลาได้หลงทาง (อีกแล้ว) ไปยังบริเวณที่พระพุธบำเพ็ญตบะอยู่

เมื่อพระพุธได้พบนางอิลาก็ตะลึงในความงามจนถึงขึ้นตบะแตก และสุดท้ายก็ได้นางอิลาเป็นเมีย จนที่สุดนางอิลาก็มีโอรสพระองค์น้อยๆ ให้กับพระพุธ

แน่นอนที่พระพุธย่อมทรงทราบดีว่า นางอิลา เป็นผู้ชายคือ ท้าวอิลราช มาก่อน ต่อมาพระพุธจึงทรงรวบรวมสมัครพรรคพวกไม่ว่าฤๅษีชีพราหมณ์ มาร่วมกันประกอบพิธีอัศวเมธ เพื่อล้างบาปให้กับนางอิลา

“พิธีอัศวเมธ” คือการปล่อยม้าสำคัญ โดยมีกองทัพเดินทางตามไปหนึ่งปี ถ้าม้าตัวนั้นเข้าไปในอาณาเขตของดินแดนใด ผู้ครองแคว้นต้องแสดงความเคารพ ไม่อย่างนั้นก็ต้องเปิดศึกสงครามกับกองทัพที่ตามหลังม้ามา เมื่อครบหนึ่งปีก็ต้อนม้ากลับเมือง แล้วฆ่าเจ้าม้าตัวนั้นเพื่อบูชายัญ (ดังนั้น ผมจึงไม่แน่ใจว่านี่เป็นการล้างบาป หรือทำบาปเพิ่ม?)

แปลกดีที่พระอิศวรกลับปลื้มปีติกับการที่พระพุธประกอบพิธีนี้เสียอย่างจงหนัก จนถึงขนาดถอนคำสาปให้นางอิลา กลับเป็นท้าวอิลราชตามเดิมมันเสียอย่างนั้น เอาเป็นว่าอย่าไปเดาพระทัยของเทพเจ้ากันเลยครับ ก็แค่ใจมนุษย์ก็เดากันไม่ค่อยจะออกแล้ว

 

แต่เรื่องของพระพุธที่คนไทยรู้จักกันมากที่สุดคงไม่ใช่ทั้งสองเรื่องที่ผมเล่ามาข้างต้น

เพราะส่วนใหญ่แล้วจะรู้จักกันในฐานะเทพนพเคราะห์ (คือเทพเจ้าประจำดวงดาวสำคัญทั้งเก้า) ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับเรื่องโหราศาสตร์มากกว่า

ตำราโหราศาสตร์ทั้งหลาย ที่ก็แต่งกันขึ้นมาในอุษาคเนย์ แถมเผลอๆ ก็มีที่มาจากในประเทศไทยเองนี่แหละ ระบุว่า พระอิศวรสร้าง ‘พระพุธ’ ขึ้นมาจากช้าง 17 ตัว (ไม่รู้ว่าเป็นตัว หรือเป็นเชือก เพราะตำราไม่ได้ระบุว่าเป็นช้างที่ผ่านการฝึกมาหรือยัง? เพราะช้างป่านับเป็นตัว ส่วนช้างฝึกนับเป็นเชือก) เอามาป่น แล้วปะพรมน้ำมนต์จนเกิดเป็นเทพบุตรคือ “พระพุธ” ที่มีพระวรกายสีเขียวมรกตขึ้นมา

ความตรงนี้ต่างจากปรัมปราคติของพราหมณ์อินเดียที่ว่า พระพุธ ทรงได้ชื่อว่า “ศยามานฺคะ” เพราะมีพระวรกายสีดำ

แถมนี่ยังไม่ใช่ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวของพระพุธในไทย กับอินเดียอีกด้วยนะครับ

เพราะตามคติไทยจะเชื่อว่าพระพุธนั้นทรง “ช้าง” เป็นพาหนะ แถมยังทรง “ขอสับช้าง” เอาไว้ในพระหัตถ์ข้างหนึ่งเสมอด้วย (ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรนัก เมื่อคำนึงถึงการที่ถูกพระอิศวรปลุกเสกขึ้นมาจากช้างแทบจะยกโขลง) แต่พระพุธในอินเดียจะทรงกริช, คทา และดาบ โดยมีราชสีห์เป็นพาหนะ

ในตำราโหราศาสตร์ของไทยยังถือด้วยว่า พระพุธเป็นเทพเจ้าแห่งวาจา และการพาณิชย์ นี่ก็ต่างไปจากอินเดียที่ถือว่าพระองค์เป็นเทพแห่งความเฉลียวฉลาดอย่างที่ผมบอกไว้ตั้งแต่ในย่อหน้าแรกของข้อเขียนชิ้นนี้ต่างหาก

เอาเข้าจริงแล้ว ถึงภูมิภาคอุษาคเนย์ และไทยเราจะอิมพอร์ตเทพเจ้าและปรัมปราคติต่างๆ จากอินเดียเข้ามามาก แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนตามความเชื่อ หรือคตินิยมของเราเองอยู่บ่อยครั้ง จนแตกต่างไปจากความเชื่อดั้งเดิมของชมพูทวีป

เรื่องราวของอะไรที่เรียกว่า “พระพุธ” ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในนั้น •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ