สุรชาติ บำรุงสุข | 2566 – ‘สนไทย’ จะลู่ลมไหม?

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

คงปฎิเสธไม่ได้ว่างานด้านการต่างประเทศของไทยนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 สืนเนื่องจนถึงหลังการเลือกตั้ง 2562 เป็นต้นมา ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเรื่องของทิศทางนโยบายที่ดูจะมีลักษณะของการพึ่งพิงการสนับสนุนของรัฐบาลในค่ายตะวันออกอย่างมาก โดยเฉพาะการสนับสนุนทางการเมือง ต่อการจัดตั้งรัฐบาลทหารที่เกิดที่กรุงเทพ เนื่องจากท่าทีของโลกตะวันตกไม่ตอบรับกับการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพ และกลายเป็น “พันธะผูกพัน” ที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องหันไปหาความสนับสนุนจากรัฐบาลจีน และรัสเซีย

ท่าทีที่ไม่สนับสนุนการรัฐประหารของผู้นำทหารไทย กลายเป็นช่องว่างทางการเมืองอย่างดี ที่เปิดโอกาสให้รัฐบาลปักกิ่ง และมอสโคว์ แทรกตัวเข้ามาในช่องว่างดังกล่าว ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ที่เกิดระหว่างรัฐบาลทหารไทยกับรัฐบาลของรัฐมหาอำนาจใหญ่ฝ่ายตะวันออกก็มีพัฒนาการเพิ่มมากขึ้นอีกหลังจากการเลือกตั้งในต้นปี 2562 จนถึงปัจจุบัน

การดำเนินนโยบายการต่างประเทศในลักษณะเช่นนี้ มักจะถูกอธิบายว่า การเอียงเข้าหารัฐมหาอำนาจตะวันออกก็เพื่อการ “ปรับสมดุล” ในงานด้านต่างประเทศของไทย ที่รัฐบาลทหารและกลุ่มผู้สนับสนุนมีความเชื่อว่า ไทยในช่วงที่ผ่านมามีความใกล้ชิดกับฝ่ายตะวันตกมากเกินไป จึงมีความจำเป็นต้อง “สร้างสมดุลใหม่” ด้วยการเข้าไปใกล้ชิดกับปักกิ่งและมอสโคว์ให้มากขึ้น จนเกิดข้อสังเกตว่า จากรัฐประหาร 2557 จนถึงรัฐบาลสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พาประเทศไทยออกจากความสัมพันธ์ที่เคยมีในหลายส่วนกับตะวันตก

สภาวะเช่นนี้สอดคล้องกับความรู้สึกของชนชั้นนำ กลุ่มผู้นำทหารสายขวาจัด และบรรดากลุ่มปีกขวา ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า พวกเขาไม่ชอบโลกตะวันตกที่ไม่สนับสนุนรัฐประหารที่กรุงเทพ และไม่ชอบมากขึ้นที่ตะวันตกจะมาเรียกร้องให้ผู้นำรัฐประหารรีบคืนประชาธิปไตยให้กับสังคมไทย ขณะเดียวกัน พวกเขามีท่าทีตอบรับอย่างชื่นชมที่จีนและรัสเซียไม่ออกเสียงวิจารณ์การเมืองไทย พวกเขาจึงมักเรียกร้องให้ไทยเข้าไปใกล้ชิดกับ “รัฐมหาอำนาจตะวันออก” มากขึ้น

แต่สังคมอาจจะต้องตระหนักว่า การสร้างสมดุลใหม่ของการต่างประเทศไทยที่บรรดาปีกขวาไทยให้การสนับสนุนอย่างแข่งขันนั้น อยู่ภายใต้เงื่อนไขการรัฐประหาร อันส่งผลให้รัฐบาลไทยต้องพาตัวเองไปอยู่กับการสนับสนุนทางการเมืองของจีนและรัสเซีย และกลายเป็น “หนี้ทางใจ” ที่กรุงเทพต้องคอยจ่ายตอบแทนแก่รัฐผู้สนับสนุน ถ้าการปรับนี้เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของระบอบรัฐสภา รัฐไทยน่าจะมี “ความยืดหยุ่น” ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพ-ปักกิ่ง-มอสโคว์ มากขึ้น ไม่ใช่การเป็น “รัฐลูกไล่” เช่นในปัจจุบัน (ในบางกรณี อาจต้องใช้คำว่า “รัฐลูกน้อง” ได้ด้วย)

การมี “พันธะทางใจ” ทำให้มุมมองไทยต่อปัญหาในเวทีระหว่างประเทศอยู่ในกรอบคิดเดียวกับจีนและรัสเซีย ที่ละเลยต่อบรรทัดฐานของระเบียบระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ในกรณีของสงครามยูเครนนั้น ไม่ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศไทยจะกล่าวอ้างหลักการอะไรก็ตาม แต่สุดท้ายนักสังเกตการณ์ระหว่างประเทศทุกคนรู้ดีว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงต่างประเทศไทย เกิดภาวะ “ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม” และ “ไม่กล้าแสดงออกทางด้านมนุษยธรรม” ที่จะ “กล้าลงเสียงประนาม” การทำสงครามของประธานาธิบดีปูติน ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวยูเครนอย่างใหญ่หลวง ตลอดรวมถึงการโจมตีอย่างไม่จำแนกของรัสเซีย

ดังนั้น ผู้นำไทยคาดหวังว่าการงดออกเสียงต่อปัญหาสงครามยูเครน ในด้านหนึ่งจะเป็นการชักชวนให้ผู้นำรัสเซียเข้าร่วมการประชุมเอเปคในเดือนพฤศจิกายนที่กรุงเทพ และยังตอบทางใจต่อความสนับสนุนที่มอสโคว์เคยสนับสนุนรัฐบาลทหารกรุงเทพ ในอีกด้านหนึ่งคือ ผู้นำไทยมีอาการ “เกรงใจจีน” จนใช้การลงเสียงในปัญหาสงครามยูเครน เพื่อส่งสัญญาณว่า ไทยมี “จุดยืน” เดียวกับจีน และจะไม่เดินตามกระแสสากล

คำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยในปัญสงครามยูเครนว่า “เราโหวตโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศไทยและของโลกเป็นสำคัญ” จึงฟังไม่ขึ้น และกลายเป็นภาพสะท้อนว่า รัฐบาลสืบทอดอำนาจของไทยพร้อมสนับสนุนรัฐบาลแบบอำนาจนิยมทั้งในจีนและรัสเซียแบบไม่มีข้อต่อรอง และการสนับสนุนเช่นนี้ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า “ผลประโยชน์แห่งชาติของไทย” อยู่ตรงไหน

ในอีกส่วนก็เห็นถึง การแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลอำนาจนิยมของผู้นำทหารในประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลกรุงเทพมีท่าทีในแบบ “ประนีประนอม” และไม่แสดงออกในลักษณะของการกดดันเพื่อที่จะเป็นปัจจัยในการช่วยลดทอนความรุนแรงที่เกิดจากใช้กำลังปราบปรามผู้เห็นต่างและฝ่ายประชาธิปไตยในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นดังการส่งสัญญาณทางการทูตว่า รัฐบาลไทย “ไม่ทอดทิ้ง” รัฐบาลทหารเมียนมาเด็ดขาด ขณะเดียวกันก็จะ “ไม่สนับสนุน” ฝ่ายประชาธิปไตยและรัฐพลัดถิ่นของเมียนมา ซึ่งในอีกด้านหนึ่ง อาจสอดรับกับท่าทีของจีนและรัสเซียในการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาด้วย

แต่หากพิจารณาในภาพรวม เราอาจอธิบายได้ว่า รัฐบาลไทยลงเสียงในเวทีสากลเพื่อเรียกร้องให้จีนและรัสเซียดำรงความสนับสนุนต่อรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ต่อไป เพราะในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2566 นั้น มองไม่เห็นถึงชัยชนะของผู้นำรัฐบาลปัจจุบันแต่อย่างใด จึงมีนัยว่า หากปักกิ่งและมอสโคว์ต้องการเห็นทิศทางการต่างประเทศไทยในแบบที่เป็นอยู่ ก็จะต้องสนับสนุนให้ผู้นำชุดนี้ รวมทั้งกลุ่มของรัฐมนตรีต่างประเทศปัจจุบันได้มีอำนาจในการควบคุมทิศทางการต่างประเทศของไทยต่อไป

สภาวะเช่นนี้ทำให้ใครที่เคยเชื่อว่า นโยบายต่างประเทศไทยเป็นเสมือน “สนลู่ลม” ที่พร้อมจะยืนต้นอยู่ได้เสมอในท่ามกลางของ “พายุการแข่งขัน” ของรัฐมหาอำนาจใหญ่ อาจต้องคิดทบทวนใหม่ เพราะการกำหนดทิศทางแบบ “ไม่แคร์กระแสโลก” และเชื่อว่า รัฐไทยอยู่ได้ด้วยกระแส “ลมตะวันออก” ที่พัดมาจากปักกิ่งและมอสโคว์เท่านั้น อาจต้องไม่ลืมว่า “ลมตะวันตก” ก็พัดแรงเช่นกัน

ลมพายุแห่งการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่พัดแรงเสมอ แต่วันนี้ “สนไทย” ไม่ลู่ลมแล้ว เพราะยืนต้นตายไปตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 ถ้าเช่นนั้น เราจะปลูก “สนต้นใหม่” หลังเลือกตั้ง 2566 ได้หรือไม่ หรือไทยจะต้องดำเนินนโยบาย “สนตาย” ด้วยอาการพินอบพิเทาต่อผู้นำรัฐมหาอำนาจตะวันออกต่อไปไม่หยุด!

[หมายเหตุผู้เขียน: ผู้สนใจนโยบายแบบ “สนตาย” อ่านเพิ่มเติมได้จากคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไทยในมติชนออนไลน์, 2 มกราคม 2566]