เผยแพร่ |
---|
การปรับคณะรัฐมนตรีรอบนี้ ทำให้สังคมดูจะสนใจกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอย่างมาก อาจเป็นเพราะการลาออกอย่างกระทันหันของรัฐมนตรีท่านเดิม จนทำให้ตำแหน่งนี้ตกอยู่ในความสนใจของผู้คนในสังคม
ถ้าเราลองขยับออกจากคำถามทางการเมืองแล้ว คำถามอีกด้านที่สังคมดูจะสนใจกับตำแหน่งนี้ก็คือ ถ้าเราลองกำหนด “คุณสมบัติแบบอุดมคติ” แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศควรจะเป็นแบบใด
ฉะนั้น บทความนี้จะทดลองนำเสนอแบบ “รัฐมนตรีในอุดมคติ” กับงานด้านต่างประเทศของไทยว่า ควรจะเป็นเช่นไร การนำเสนอนี้มาจากประสบการณ์ในการสอนนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของผู้เขียน และอีกส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลของนิสิตปริญญาโทและปริญญาเอกที่ทำวิทยานิพนธ์เรื่องบทบาทของรัฐมนตรีต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามดังได้กล่าวแล้วว่า ข้อเสนอนี้เป็นแบบอุดมคติในเชิงวิชาการ เพราะตระหนักว่า งานด้านการต่างประเทศในปัจจุบันมีความยุ่งยากและซับซ้อนภายใต้เงื่อนไขของสถานการณ์ทั้งในระดับโลก และในระดับภูมิภาค การจะดำเนินนโยบายต่างประเทศไปในแบบ “เรื่อยๆมาเรียงๆ” นั้น อาจจะไม่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของไทยในเวทีสากล กล่าวคือ นโยบายต้องการการ “ขับเคลื่อน” เพื่อให้สถานะของประเทศไทยเป็นที่ปรากฏในโลก เพราะรัฐไทยไม่อาจดำรงตนเสมือนหนึ่งเป็น “มนุษย์ล่องหน” ด้วยความเชื่อเช่นของรัฐบาลของผู้นำทหารก่อนการเลือกตั้ง 2566 ว่า การไม่ปรากฏตัวบน “จอเรดาร์โลก” เป็นผลประโยชน์ของไทย
นอกจากนี้ การมาของสถานการณ์ใหม่ๆ และปัญหาใหม่ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ ยิ่งเป็นเสมือนเสียงเรียกร้องให้ รัฐบาลไทยโดยรัฐมนตรีต่างประเทศยิ่งต้องปรับตัว เพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเวทีโลกมากขึ้น
ดังนั้น ถ้าเราพิจารณาภาพในเชิงมหภาคแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศในอุดมคติน่าจะมีคุณสมบัติ ดังนี้
1) ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ เพราะความรู้และความเข้าใจดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศ
2) ในกระบวนการกำหนดนโยบาย รัฐมนตรีต้องเป็นผู้พลักดันให้นโยบายสามารถถูกนำไปปฏิบัติได้จริงตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ อันเป็นเรื่องของ “policy implementation” เพราะนโยบายทำแล้ว แต่ผลักดันไม่ได้ ย่อมไม่เกิดผลตอบแทนในเชิงนโยบาย
3) ต้องเป็นผู้ที่สามารถผลักดันนโยบายที่ทำให้เกิดการรักษา “ผลประโยชน์สำคัญ” ของรัฐไทยในเวทีสากล
4) ต้องเป็นผู้ที่ดำเนินนโยบายที่ช่วยลดทอนปัญหา ผลกระทบ และภัยคุกคามในทางการเมืองระหว่างประเทศต่อรัฐไทยให้ได้ (อย่างน้อยต้องให้ได้มากที่สุด)
5) ต้องสามารถควบคุมและ/หรือบริหารระบบราชการในกระทรวงฯ ให้ได้ เพราะ “จักรกลระบบราชการ” ยังคงเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนงานนโยบาย
6) ต้องสามารถประสานกับนายกรัฐมนตรี และ/หรือ ทำงานในลักษณะที่เป็นทีมเดียวกับนายกรัฐมนตรี ประเด็นนี้คุณสมบัติสากลของคนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ
7) นายกรัฐมนตรีจะต้องรับฟังและให้ความไว้วางใจรัฐมนตรีต่างประเทศ เพราะตัวรัฐมนตรีจะต้องแสดงบทบาทเป็นดัง “ผู้นำทีมไทย” ในเวทีภายนอก โดยมีนายกรัฐมนตรีมีสถานะเป็น “หัวหน้าทีมไทยแลนด์”
8) จะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจระบบราชการ ปัญหา อุปสรรค และข้อขัดข้องที่จะต้องแก้ไขในการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศในแต่ละเรื่อง เพราะนโยบายนี้เป็นเรื่องภายนอกรัฐ แต่อุปสรรคและข้อขัดข้องของระบบราชการอยู่ภายในรัฐ
9) จะต้องสามารถสร้างความมั่นใจให้กับรัฐบาลและตัวนายกรัฐมนตรีได้ว่า เขาจะสามารถผลักดันนโยบายต่างประเทศในการรักษาผลประโยชน์ของรัฐในเวทีโลก
10) การมี “ทีมความคิด” (Think Tanks) มีความสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ เช่น บทบาทของบ้านพิษณุโลกในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัน หรือประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
11) ต้อง “กล้าคิด-กล้าทำ” เพราะสถานการณ์ระหว่างประเทศอาจเดินไปเร็ว และมีพลวัตสูง รัฐมนตรีต่างประเทศจึงควร “กล้าตัดสินใจ” เพราะหลักการไม่ต่างกับการลงทุนในตลาดหุ้นคือ “นโยบายมีความเสี่ยง” และในบริบทของงานการต่างประเทศ การไม่ตัดสินใจคือ การตัดสินใจอีกแบบหนึ่ง หรือไม่มีสิ่งที่เรียกว่า การไม่ตัดสินใจในนโยบายต่างประเทศ
12) จะต้องสร้างความเชื่อมั่น และความศรัทธาให้กับคนในหน่วยงานว่า เขาจะสามารถนำองค์กรฝ่าฟันอุปสรรคไปข้างหน้าได้ในฐานะของการเป็น “รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง” และไม่ได้มีนัยว่า จะต้องเป็นที่รักของคนในกระทรวงแบบ 100% เพราะเป็นไปไม่ได้
ดังนั้น ในภาวะที่รัฐบาลกำลังมีรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ซึ่งคงต้องเข้ามาแบกรับบทบาทของกระทรวงฯ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมานับจากการรัฐประหารที่กรุงเทพฯ กระทรวงฯ มีสภาพเป็น “บัวแล้งน้ำ” … “ดอกบัวแก้ว” ไม่สวยสดเท่าที่ควร
ฉะนั้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐมนตรีท่านใหม่จะช่วยรดน้ำ ให้ดอกบัวแก้วกลับมาสวยงามในเวทีโลกอีกครั้ง หลังจากแห้งเหี่ยวไปนานกับสภาพ “น้ำแล้ง” ในการเมืองไทย!