‘บุตรธิดาแห่งมาตุภูมิ’

คนมองหนัง
ภาพจาก X : @thalugazzz

‘บุตรธิดาแห่งมาตุภูมิ’

 

แม่พ่อจ๋าลูกขอขมาไหว้

ก่อนออกเดินทางไกลทะลุฟ้า

ศึกครานี้ลูกอาจวายชีวา

เพื่อไขว่คว้าใฝ่หาซึ่งเสรี

แม่พ่อจ๋าอย่ากังวลห่วงอะไร

ลูกจะเก็บรักใส่ใจไปทุกที่

รักเอ่อท้นหัวใจคนอีกมากมี

รักล้นปรี่ที่พักแรมตามรายทาง

แม่พ่อจ๋าท่านจะไม่โดดเดี่ยว

ลูกมิได้สู้คนเดียวอย่างอ้างว้าง

ลูกมีเพื่อนมากมายอยู่เคียงข้าง

เราจะแผ้วถางซ่อมสร้างมาตุภูมิ

แม่พ่อจ๋าได้รับสารของลูกไหม

จากเหล่ามิตรสหายที่มารวมกลุ่ม

โปรดเมตตายามพวกเขามาชุมนุม

โปรดปกคุ้มดุจดังบุตรธิดาตน

แม่พ่อจ๋ายามลูกหันหลังจาก

จุดหมาย ณ อีกฟากจักไม่หมองหม่น

เสรีภาพจักเฉิดฉายกลบมืดมน

ฝันจักถูกบันดาลดลตรงบั้นปลาย

 

หมายเหตุ

เนื้อหาของบทกวีภาษาไทยในล้อมกรอบ ถอดความ-แปรความมาจากคำร้องของเพลงการเมืองชื่อ “Anak Ng Bayan” (Son of the People – บุตรของประชาชน) ซึ่งผมได้รับฟังเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2559 ระหว่างชมภาพยนตร์ฟิลิปปินส์เรื่อง “A Lullaby to the Sorrowful Mystery” กำกับฯ โดย “ลาฟ ดิแอซ”

ในบริบทของภาพยนตร์เรื่องนั้น บทเพลงเพลงนี้ถูกบรรเลง-ขับร้องโดยตัวละครนักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ ผู้ออกไปร่วมสู้รบเพื่อปลดแอกดินแดนบ้านเกิดจากอำนาจของเจ้าอาณานิคมสเปน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเขาร้องบรรเลงบทเพลงเสร็จสิ้นลง นักดนตรีผู้นี้พร้อมด้วยบรรดามิตรสหายในกองกำลังปลดแอกเพื่อเอกราช ก็ถูกดักซุ่มโจมตีและเสียชีวิตทั้งหมด

 

ผมแปลเนื้อเพลง “บุตรของประชาชน” (จากซับไตเติ้ลภาพยนตร์ภาษาอังกฤษ) เป็นภาษาไทยครั้งแรกเมื่อปี 2564 โดยปรับแปลงชื่อเสียใหม่เป็น “บุตรธิดาแห่งมาตุภูมิ”

อันเป็นช่วงเวลาที่แกนนำ “ม็อบเยาวชน” หลายรายในบ้านเมืองเรา เริ่มโดนจับกุมหรือถูกดำเนินคดี

จากนั้น ก็เคยนำมางานแปลดังกล่าวมาโพสต์ในโซเชียลมีเดียส่วนตัว (แบบเปิดให้อ่านเฉพาะกลุ่ม) อยู่บ้างเป็นบางวาระ เมื่อได้ทราบข่าวคราวการต้องโทษทัณฑ์โดยปราศจากความยุติธรรมหรือการประท้วงอดอาหารของเยาวชนผู้กระตือรือร้นทางการเมืองเหล่านั้น

เพื่อยกย่อง-ให้กำลังใจแก่การต่อสู้และความกล้าหาญของคนหนุ่มสาว

กระนั้นก็ดี ผมไม่เคยคาดคิดและคาดหวังมาก่อนว่า จะต้องมาอุทิศบทกวีแปลชิ้นนี้ให้แก่การเสียสละชีวิตของ “คนรุ่นใหม่” ไม่ว่ารายไหน และไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับรายละเอียดในการเคลื่อนไหวของเขา/เธอก็ตามที

ทว่า สุดท้าย ก็ถึงวาระที่จำเป็นจะต้องเผยแพร่บทกวี “บุตรธิดาแห่งมาตุภูมิ” ออกสู่สาธารณะ เพื่ออุทิศแด่ “บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม” ซึ่งเสียชีวิตลงอย่างน่าเศร้าสลดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ภายใต้ “การลงทัณฑ์” และ “ภาวะไร้อิสรภาพ” อันไม่สมควรบังเกิดขึ้นกับมนุษย์รายใดทั้งสิ้น

 

“แม่พ่อจ๋ายามลูกหันหลังจาก

จุดหมาย ณ อีกฟากจักไม่หมองหม่น

เสรีภาพจักเฉิดฉายกลบมืดมน

ฝันจักถูกบันดาลดลตรงบั้นปลาย” •

 

| คนมองหนัง