ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
กรมศิลปากร เริ่มวิชาโบราณคดี
โบราณคดีมีกำเนิดจากคณะราษฎร (ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475) และกลุ่มชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” (เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทย พ.ศ.2482) โดยมอบหมายกรมศิลปากรเริ่มการเรียนการสอนวิชาโบราณคดี เพื่อฝึกอบรมคนเข้าทำราชการทางโบราณคดี สนองลัทธิชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย”
ต้นเหตุที่เริ่มมีการเรียนการสอนโบราณคดี พบหลักฐานจากคำบอกเล่าของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม เมื่อ 46 ปีที่แล้ว (ตั้งแต่ พ.ศ.2521) ว่าเนื่องจากกรมศิลปากรขาดแคลนข้าราชการที่มีความรู้และประสบการณ์ทางศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงประวัติศาสตร์โบราณคดี ทำให้หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนินทุ-อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น) แนะนำ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม จัดการฝึกอบรมคนเข้าทำราชการทางโบราณคดีในกรมศิลปากร ดังนี้
“พูดกันจริงๆ แล้ว วิชาโบราณคดีจริงๆ —– เพิ่งจะมามีเอาเมื่อรุ่นผมกับหลวงรณสิทธิ์นี่เอง เราไปตรวจหัวเมืองกันบ่อยๆ คุณหลวงมักจะพูดกับผมเสมอว่า ‘เวลานี้เท่ากับคุณทำงานด้วยตัวคนเดียวนะ จะมีเจ้าหน้าที่ก็ไม่ค่อยสันทัดเลย น่าที่คุณจะได้คิดอบรม สอนทางโบราณคดีขึ้นมาบ้าง เผื่อจะได้คนมาช่วยทำงาน'”
“ท่านพูดมาแบบนี้ ผมก็เลยคิดแก้ไข รับพวกจบ ม.6 มาอบรมอยู่ 6 เดือน แล้วส่งเข้าสอบบรรจุเป็นข้าราชการเลย
มีคนมาสมัครเรียนแค่ 4 คน หญิง 1 ชาย 3 ตอนนั้นก็สอนกันไปตามแกน อาจารย์สอนก็ไม่มี เงินค่าสอนยิ่งไม่มี ผมต้องสอนกับอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ เท่านั้นเอง ผลัดกัน โดยผมสอนวิชาโบราณคดี ส่วนอาจารย์เขียนสอนศิลปะ”
“ที่เรียนกันยุคแรกก็ไม่มีอะไร เพียงแต่สอนกันให้หนักทางประวัติศาสตร์ จับหลักฐานต่างๆ มาเป็นพื้นฐาน”
[บางตอนจากบทสัมภาษณ์ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม โดย สันติภพ เจนกระบวนหัด (ขณะนั้นเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น เจนภพ จบกระบวนวรรณ) พิมพ์เป็นส่วน “ประวัติ มานิต วิลลิโภดม แบบฉบับของนักโบราณคดีไทย” ในหนังสือ สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน ของ มานิต วัลลิโภดม สำนักพิมพ์การเวก พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2521 หน้า (31)-(32)]

คำบอกเล่าของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม อ้างถึงหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (ข้าราชการกรมศิลปากร) ว่าขณะเริ่มต้นการเรียนการสอนโบราณคดีในโรงเรียนศิลปศึกษา หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ขณะนั้นทรงศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะอยู่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อทรงศึกษาสำเร็จแล้วเสด็จกลับรับราชการตามเดิมที่กรมศิลปกร อาจารย์มานิต วัลลิโภดม จึงทูลเชิญสอนในโรงเรียนศิลปศึกษา ดังนี้
“จนเมื่อหม่อมเจ้าสุภัทรฯ ท่านกลับจากเมืองนอกแหละ ผมก็รุกท่านทันที จัดตั้งศิลปศึกษาขึ้นมารวบเอานาฏศิลปเข้าไปด้วย เป็นอนุปริญญา เลยรวบเอาวิชาด้านนี้เข้าไปด้วย ต่ออีกหน่อยก็ขยายตัวเป็นคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร”
“ผมรุกให้ท่านสอนวิชาเหล่านี้เลย เพราะผมมีงานกรมศิลป์เยอะมากแล้ว ไหนจะงานธุรการ ไหนจะต้องออกสำรวจหัวเมืองอีก มันชักจะไม่ไหวแล้ว”
[หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงเป็นโอรสสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ต่อไปข้างหน้าทรงเป็นคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ทรงเป็นศาสตราจารย์ และทรงเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร]

คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (กรมศิลปากร)
การเรียนการสอนแผนกโบราณคดี โรงเรียนศิลปศึกษา (กรมศิลปากร) ถูกผนวกอยู่ในมหาวิทยาลัยศิลปากร สังกัดกรมศิลปากร พ.ศ.2498 (เมื่อ 69 ปีที่แล้ว)
มหาวิทยาลัยศิลปากรถูกสถาปนา พ.ศ.2486 โครงสร้างบริหาร ดังนี้ (1.) สังกัดกรมศิลปากร (2.) อธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยตำแหน่ง [ขณะนั้น (พ.ศ.2486) พระยาอนุมานราชธน เป็นอธิบดีกรมศิลปากร จึงทำหน้าที่ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นคนแรก (ไม่เรียกอธิการบดี)] (3.) อาจารย์สอนวิชาต่างๆ ล้วนเป็นข้าราชการกรมศิลปากร (4.) มี 3 แผนก ได้แก่ แผนกประณีตศิลปกรรม, แผนกศิลปอุตสาหกรรม, แผนกนาฏดุริยางค์ (5.) หลังจากนั้นเพิ่ม 2 แผนก ได้แก่ แผนกสถาปัตยกรรม, แผนกโบราณคดี
กำเนิดคณะโบราณคดี มีเหตุจากการเรียนการสอนโบราณคดีถูกโอนจากโรงเรียนศิลปศึกษา (กรมศิลปากร) เข้าไปเป็นแผนกหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร (กรมศิลปากร) เมื่อ พ.ศ.2498 (69 ปีที่แล้ว) หลังจากนั้นถูกเรียกว่าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (กรมศิลปากร) โดยมีหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) เป็นคณบดีคนแรก (พ.ศ.2498-2507)
หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) พ.ศ.2440-2529 ชาวนครปฐม (อ.สามพราน) บรรพชาเป็นสามเณร วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ เปรียญธรรม 3 ประโยค ต่อมาลาสิกขา แล้วถวายตัวเป็นมหาดเล็กเรือนนอกกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ต่อมาทำงานในหอพระสมุดสำหรับพระนคร และเป็นผู้ช่วยงานค้นคว้าเอกสารให้ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ จากนั้นทำงานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร •
| สุจิตต์ วงษ์เทศ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022