ไทม์เอาต์ / SearchSri /วิกฤตผีแดง

Manchester United's Norwegian manager Ole Gunnar Solskjaer gestures from the touchline during the English Premier League football match between Manchester United and Liverpool at Old Trafford in Manchester, north west England, on October 24, 2021. (Photo by Oli SCARFF / AFP) / RESTRICTED TO EDITORIAL USE. No use with unauthorized audio, video, data, fixture lists, club/league logos or 'live' services. Online in-match use limited to 120 images. An additional 40 images may be used in extra time. No video emulation. Social media in-match use limited to 120 images. An additional 40 images may be used in extra time. No use in betting publications, games or single club/league/player publications. /

ไทม์เอาต์/SearchSri

วิกฤตผีแดง

 

ตั้งแต่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน วางมือจากงานโค้ชลูกหนังเมื่อปี 2019 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมดังแห่งเกาะอังกฤษก็ห่างหายจากตำแหน่งแชมป์พรีเมียร์ลีก ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 9 แล้ว

ตั้งแต่เฟอร์กี้อำลาวงการ แมนฯ ยูเปลี่ยนโค้ชมามากหน้าหลายตา มีแชมป์แบบจับต้องได้ 3 ถ้วย คือ เอฟเอคัพ ฤดูกาล 2015-2016 ในยุคของ หลุยส์ ฟาน กัล และยูโรป้าลีกกับลีกคัพฤดูกาล 2016-2017 ในยุคของ โชเซ่ มูรินโญ่

แต่ผลงานการลุ้นแชมป์ลีกยังคงห่างไกลจากความเป็นจริงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทั้ง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ลิเวอร์พูล ต่างยกระดับการเล่นจนผูกขาดความยิ่งใหญ่และเบียดแย่งแชมป์กันอย่างสนุกตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งปัจจุบันยังมี เชลซี มาเป็นตัวสอดแทรกด้วย

ความเป็นทีมที่มีฐานแฟนบอลเป็นอันดับท็อปของโลก อีกทั้งยังเป็นเจ้าของสถิติแชมป์ลีกสูงสุด 20 สมัย จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้งแฟนบอลและผู้บริหารต่างหมดความอดทนเมื่อทีมยังไม่เข้าใจโอกาสลุ้นความสำเร็จแม้แต่น้อย

 

ปัญหาของแมนฯ ยูไม่ใช่แค่เรื่องไม่มีลุ้นแชมป์อย่างเดียว แต่ที่ขัดใจแฟนๆ เอามากๆ คือการเล่นบอลไม่มีทรง กุนซือบางคนทำทีมเน้นผลมากเกินไป ให้ลูกทีมเล่นแบบกล้าๆ กลัวๆ เน้นตั้งรับ ไม่ได้เน้นเกมบุกกดดันคู่ต่อสู้ แบบที่เป็นเครื่องหมายการค้าของปีศาจแดงมายาวนาน

จะบอกว่านักเตะแมนฯ ยูในปัจจุบันศักยภาพไม่พอจะลุ้นแชมป์ก็ไม่น่าใช่ เพราะแยกย่อยเป็นรายบุคคลถือว่าทั้งชื่อเสียง ค่าตัว รวมถึงผลงานในอดีตต่างอยู่ในระดับแถวหน้าทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเล็กหรือรุ่นใหญ่

ไม่ว่าจะเป็น คริสเตียโน โรนัลโด้, ราฟาเอล วาราน, ปอล ป๊อกบา, เอดิสัน คาวานี่ ไหนจะมี บรูโน แฟร์นันเดส และ แฮร์รี่ แม็กไกวร์ ที่ต่างทำผลงานโดดเด่นระดับสโมสรและทีมชาติอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้ เจดอน ซานโช่ มาเสริมทัพอีก

แต่กลายเป็นว่า พรีเมียร์ลีกเริ่มต้นไป 9 นัด แมนฯ ยูอยู่อันดับ 7 ของตาราง มีแต้มตามหลังทีมที่ไม่ค่อยมีซูเปอร์สตาร์ หรืองบฯ ทำทีมจำกัดอย่าง เวสต์แฮม หรือ ไบรท์ตัน เสียอีก

ปัญหาใหญ่ของแมนฯ ยูที่นักวิจารณ์หลายคนชี้เป้าคือ การไม่รู้จักใช้งานนักเตะฝีเท้าเยี่ยมที่มีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ชวนตั้งคำถามถึงกึ๋นและฝีมือของโอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกม “แดงเดือด” ล่าสุด ที่แมนฯ ยูพ่ายให้ลิเวอร์พูล ย่อยยับแบบหมดทางสู้ 0-5 ประตู ที่โอลด์แทรฟฟอร์ด

 

ตอนโซลชาร์เข้าไปรับตำแหน่งนั้น หลายคนมองว่าเป็นตัวเลือกที่ดีเพราะเป็นตำนานสโมสร มีบารมีพอให้นักเตะเกรงใจ อีกทั้งมีดีเอ็นเอของแมนฯ ยูที่พร้อมจะให้โอกาสดาวรุ่งจากอคาเดมีของทีม

เรื่องสายสัมพันธ์ในทีมก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องศักยภาพในฐานะโค้ชเป็นอีกเรื่องที่ต้องตั้งคำถาม

การจัดทีมเวลานี้อาจจะพออ้างได้ว่า การดึงตำนานสโมสรอย่างโรนัลโด้กลับมาเป็นการตัดสินใจที่ฉุกละหุกของผู้บริหารทีม หลังตกเป็นข่าวจะย้ายไปแมนฯ ซิตี้ จึงไม่ได้อยู่ในแผนของโซลชาร์มาก่อน

แถมนักเตะระดับโรนัลโด้ย้ายกลับมาจะไม่เอาลงสนามก็ไม่ได้ จึงต้องพยายามจัดแผนให้พยายามใช้งานโรนัลโด้ให้มากที่สุด จนอาจเสียกระบวนไปบ้าง

แต่ประเด็นนี้ก็น่าคิดต่อว่า ถ้าเป็นโค้ชระดับท็อปอย่าง เยอร์เก้น คล็อปป์, เป๊ป กวาร์ดิโอลา หรือ โธมัส ทูเคิล เข้าไปกุมบังเหียน ผลลัพธ์ที่ออกมาจะดีกว่านี้หรือไม่

การเปลี่ยนโค้ชบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องดี แต่การยึดติดกับโค้ชคนเดิมทั้งที่ยังไม่เห็นความก้าวหน้าที่ชัดเจนนักก็ใช่ว่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป

อย่างน้อยเชลซีก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเปลี่ยนโค้ชบ่อยๆ ก็ทำให้ทีมประสบความสำเร็จได้ ถ้าโค้ชและนักเตะเจ๋งพอ

ที่สำคัญ ผู้บริหารและเจ้าของทีมก็ต้องกล้าทุ่ม กล้าลงทุน และจริงใจกับโค้ช นักเตะ และแฟนบอลด้วยเช่นกัน ถ้าหวังจะทวงความยิ่งใหญ่กลับคืนมา