ชาติคืออะไร? กับ ความคิดแบบสมัยใหม่

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ กล่าวถึงคำว่า “ชาติ” ตามความหมายแรกว่ารากเหง้า สายที่สืบลงมา กล่าวคือ กำพืดหรือกำเนิด

คนทุกคนมีกำพืด ขยายความได้ว่า ต้องกำเนิดจากใครบางคน

ตัวเราแต่ละคนสืบสายเลือดมาจากบรรพบุรุษ หากเราไม่มีกำพืดเดียวกันจริงก็ถือได้ว่าเป็นคนละชาติเดียวกัน

ส่วนคนทุกคนมีถิ่นกำเนิด ตอนเกิดจึงต้องเกิด ณ ที่ใดที่หนึ่ง บริเวณใดบริเวณหนึ่ง คำว่า “ชาติ” ได้กินความหมายในเวลาต่อมาโดยหมายถึงที่ที่เกิด บ้านเกิดหรืออาณาบริเวณรายรอบพื้นที่ที่ใครคนนั้นถือกำเนิดขึ้น

ในเวลาต่อมา คำว่า “ชาติ” ถูกใช้เรียกกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโครงสร้างเป็นแบบของตัวเอง แยกให้เห็นเด่นชัดจากกลุ่มอื่น

ไม่ว่า “ชาติ” จะถูกเรียกเป็นสายเลือดหรือถิ่นกำเนิดหรือกลุ่มตามพัฒนาการของคำดังกล่าว

แต่ “ชาติ” ตามความหมายสมัยใหม่ ที่หมายถึงรัฐซึ่งมีประชากรถือสัญชาติว่าเป็นประชาชนหรือพลเมืองของรัฐนั้น และอยู่ใต้รัฐบาลที่มีอำนาจกลางคอยจัดการผลประโยชน์ของรัฐ อันถือว่าเป็นผลประโยชน์ร่วมของสมาชิกทั้งสังคม

ชาติในความหมายเช่นนี้เป็นของใหม่ โดยปรากฏเค้าเงื่อนชัดขึ้นในคำประกาศว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และพลเมือง ในการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.1789 ว่า “ชาติคือรัฐซึ่งก็คือประชาชน”

ความหมายนี้หมายรวมเอาทั้งที่ตั้ง ตัวการปกครอง และผู้เป็นองค์อธิปัตย์ เข้าไว้ด้วยกัน “ชาติ” กับ “รัฐ” กลุ่มชนที่อาจสืบสายเลือดมาด้วยกันและได้มาอยู่ในพื้นที่หรืออาณาเขตเดียวกัน นัยที่รวมเป็นสิ่งเดียวกันนี้เรียกว่า “รัฐชาติ”

ตรงนี้คือความหมายแบบสมัยใหม่

รัฐชาติประกอบไปด้วยพลเมืองที่อาจมีชาติพันธุ์เดียวกันหรือไม่ก็ได้ อาจมีวัฒนธรรมร่วมกันหรือมีความต่างทางวัฒนธรรม อาจมีถิ่นฐานดั้งเดิมบนพื้นที่เดียวกันหรือต่างภูมิลำเนา แต่ภายใต้เขตแดนปัจจุบันของรัฐชาตินั้นๆ เมื่อคนคนหนึ่งได้เป็นสมาชิกของรัฐชาตินั้นๆ จนเรียกสถานะได้ว่าเป็นพลเมือง เขาคนนั้นจะมีศักดิ์ศรี มีสิทธิและพันธะพื้นฐานเช่นเดียวกับพลเมืองคนอื่นๆ

และได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักของกฎหมายอย่างเสมอภาคกัน

ดังนั้น รัฐชาติก็คือรัฐของพลเมือง พลเมืองไม่ใช่ไพร่ที่ต้องขึ้นต่อมูลนายดังรัฐแบบราชอาณาจักร

และไม่ใช่พสกนิกรที่ขึ้นต่อพระราชาดังรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

สิทธิทางการเมืองดังเช่นการออกเสียงแสดงมติซึ่งแต่เดิมมีแต่ในหมู่พวกเจ้า ขุนนางและนักบวชในระดับสูงเท่านั้น ในบัดนี้กลายเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้เป็นพลเมืองไม่ว่าจะเป็นชาวนาหรือคหบดีสืบตระกูลเก่าแก่ ประชาชนหรือพลเมืองคือเจ้าของอธิปไตยไม่ใช่กษัตริย์

เจตนารมณ์ของสังคมก็คือเจตนารมณ์ร่วมของพลเมืองหรือประชาชน

ผลประโยชน์ของสังคมก็คือผลประโยชน์ของประชาชนนั่นเอง

แอร์เนสต์ เรอนอง (Ernest Renan) กล่าวว่า “ชาติเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่ในประวัติศาสตร์ โลกในยุคโบราณไม่รู้จักชาติ อียิปต์ จีน หรือคาลเดียโบราณ ไม่ใช่ชาติ พวกเขาคือกลุ่มคนที่มีบุตรของพระอาทิตย์หรือบุตรของท้องฟ้าเป็นผู้นำ เดิมในอียิปต์หรือจีนไม่มีสิ่งที่เรียกว่าพลเมืองอย่างที่เรารู้จัก โลกในยุคโบราณมีสาธารณรัฐ ราชอาณาจักร สาธารณรัฐที่มารวมกลุ่มกันเป็นสมาพันธ์ มีจักรวรรดิ แต่ไม่มีชาติในความหมายแบบที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้” (น.20)

ถ้าเชื่อตามทฤษฎีนักการเมืองบางคนเหนืออื่นใด ชาติคือราชวงศ์หนึ่งๆ ซึ่งเป็นตัวแทนของการยึดครองเมื่อครั้งอดีต ผู้คนจำนวนมากเคยให้การยอมรับ แต่ก็ถูกลืมเลือนในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ชาติสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องมีราชวงศ์ แม้ชาติที่ก่อเกิดขึ้นมาเพราะราชวงศ์ก็สามารถแยกขาดตัวเองออกจากราชวงศ์ได้ แม้ราชวงศ์จะหายไปชาติก็ไม่จำเป็นต้องสิ้นตาม หลักการเดิมที่ให้ความสำคัญแก่สิทธิของเจ้าผู้ปกครองเพียงอย่างเดียวไม่สามารถคงอยู่ได้อีกต่อไป นอกจากสิทธิ์ของราชวงศ์แล้วยังมีสิทธิ์ที่เป็นของชาติ ซึ่งอยู่บนหลักการดังนี้

1. เชื้อชาติ

2. ภาษา

3. ศาสนา

4. ชุมชนของกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน

5. ภูมิศาสตร์

แต่สรุปได้ว่า “มนุษย์ไม่ได้เป็นทาสเชื้อชาติของตนเอง ไม่ได้เป็นทาสของภาษาที่เขาใช้ ไม่ได้เป็นทาสของศาสนาที่เขานับถือ ไม่ได้เป็นทาสของเส้นทางใหม่ของแม่น้ำหรือแนวเทือกเขาที่ทอดตัวออกไป การรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนของมนุษย์ ซึ่งมีพร้อมทั้งสติปัญญาและหัวใจที่อบอุ่น ย่อมก่อเกิดความตระหนักรู้ในระดับมโนสำนึก (moral conscience) ที่เรียกตัวเองว่าชาติขึ้นมา ตราบใดที่สำนึกดังกล่าวนี้ยังพิสูจน์พลังของมันได้ผ่านการเสียสละของตัวบุคคลเพื่อประโยชน์สุขของชุมชน ตราบนั้นมันก็ยังเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมและมีสิทธิ์จะดำรงอยู่ต่อไป” (น.58)

ส่วนคำว่า “ชาติ” คือจิตวิญญาณ (soul) คือหลักการทางจิตวิญญาณ (spiritual principle) สิ่งแรกคือ การมีความทรงจำอันยาวนานร่วมกันอยู่ในครอบครอง อีกสิ่งหนึ่งคือ ความยินยอมพร้อมใจในห้วงเวลาปัจจุบัน คือ ความปรารถนาที่ต้องการมีชีวิตอยู่ร่วมกัน

แอร์เนสต์ เรอนอง (Ernest Renan) กล่าวว่า

“การมีอยู่หรือดำรงอยู่ของชาติคือการลงคะแนนเสียงของประชาชนที่เกิดขึ้นทุกวัน เช่นเดียวกับการดำรงอยู่ของคนคนหนึ่งคือ เครื่องยืนยันว่าชีวิตยังคงดำเนินอยู่ต่อไป… แต่ชาติไม่ใช่อะไรที่ยืนยงอยู่เป็นนิรันดร์ พวกมันมีจุดเริ่มต้น พวกมันก็ต้องมีจุดจบ สักวันหนึ่งชาติอาจถูกแทนที่ด้วยสมาพันธรัฐยุโรปก็เป็นได้ แต่ต่อให้เป็นเช่นนั้น นั่นไม่ใช่กฎของศตวรรษที่เราใช้ชีวิตอยู่ตอนนี้ ณ ปัจจุบันนี้การมีอยู่ของชาติคือสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่จำเป็น การมีอยู่ของมันคือสิ่งที่รับประกันการมีอยู่ของเสรีภาพ เสรีภาพซึ่งอาจสูญหายไป หากโลกมีกฎเพียงกฎเดียวและมีนายเพียงคนเดียว” (น.53-57)

ดังนั้น ความคิดเรื่องชาติแบบสมัยใหม่จึงผูกอยู่กับมโนทัศน์เรื่องเสรีภาพที่ควรเสมอกัน ดังนี้

1. เสรีภาพส่วนบุคคลของพลเมือง

2. เสรีภาพในแง่ที่ถือว่าตัวพลเมืองแต่ละคนเป็นสิ่งที่มีเอกองค์อำนาจทางการเมือง

3. ความคิดเรื่องเสรีภาพของชาติ เป็นมโนทัศน์แบบเฉพาะและนำไปสู่ความคิดแบบที่ถือกันว่าอิสรภาพของชาตินั้นต้องปกป้องหากจำเป็นโดยผู้เป็น “บุตรสืบสายโลหิต” ในที่นี้ชาติเปรียบเป็นพ่อ พลเมืองเปรียบเป็นบุตร

สรุปว่า ความคิดเรื่อง “ชาติ” ในความหมาย “จิตวิญญาณของประชาชน” (the spirit of the people) ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของการสร้างเอกลักษณ์แบบรวมหมู่ได้ถูกใช้เป็นแรงผลักดันเพื่อสร้างความมั่นใจต่อระบบที่เกิดขึ้น

ประชาชนที่เป็นพลเมืองของรัฐนั้น เป็นตัวขับเคลื่อนทางการเมืองในช่วงการก่อรูปและการธำรงรัฐแบบสมัยใหม่ สิ่งที่เรียกว่า “การตระหนักรู้ตนเองหรือจิตสำนึกแห่งชาติ” ที่มีฐานอยู่บนการอิงกำเนิด ภาษา และประวัติศาสตร์ร่วม ซึ่งสร้างนัยของการเป็นของชุมชน จึงเป็นความคิดที่รัฐจำเป็นต้องปลูกฝังเพื่อทำให้ประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของรัฐนั้นๆ ได้ตระหนักถึงการอยู่ภายใต้รูปแบบอย่างใหม่ทางการเมืองของการที่ต่างเป็นของกันและกัน

ฮาเบอร์มาส (Harbermas) กล่าวว่า

“ชาติตามนัยแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา เป็นสิ่งประดิษฐ์ในจินตนาการที่มักถูกอ้างว่าเป็นสิ่งธรรมชาติและมีการเติบโตแบบธรรมชาติ เพื่อให้เชื่อว่าเป็นสิ่งจำเป็นโดยพื้นฐานต่อการสร้างเอกลักษณ์ของตัวตนของเราอย่างมีความหมาย”

ความเป็นชาติที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นตามจินตนาการในท้ายที่สุดก็ถูกค้นพบว่าไม่มีอะไรนอกจากจินตนาการ!

ชาติเป็นเพียงสิ่งสมมติ เกิดขึ้นมาในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์บางช่วงของมนุษย์ที่เรียกว่ายุคใหม่

What is a nation? หรือชาติคืออะไร? ของ แอร์เนสต์ เรอนอง (Ernest Renan) เล่มนี้

เป็นคำบรรยายที่มีชื่อเสียง ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นธารของแนวคิด “ชาตินิยมแบบพลเมือง” (civil nationalism)

ซึ่งเป็นคู่คัดง้างกับ “ชาตินิยมที่เน้นความเป็นชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรม” (ethnic nationalism) ที่มีต้นธารมาจากฝั่งเยอรมัน และยังเป็นหนึ่งในตัวบทสำคัญของการศึกษาเรื่อง “ชาติและชาตินิยม”

หนังสือเล่มดังกล่าวได้แสดงกรอบคิดที่นำเสนอและอธิบายเพื่อหาคำตอบว่าชาติคืออะไรได้อย่างน่าสนใจ

และยังกระตุ้นให้ผู้อ่านได้สร้างมุมมองใหม่กับความเป็นชาติ รัฐชาติ รัฐสมัยใหม่และชาตินิยมที่อาจถูกตั้งคำถามและตีความได้ในทุกยุคทุกสมัยด้วย

บรรณานุกรม

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์.(2556). ความเป็นชาติ : รัฐชาติและชาตินิยมในยุคโลกาภิวัตน์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://hadesworld-boonsong.blogspot.com/2013/10/blog-post_6048.html. สืบค้นเมื่อ [22 มีนาคม 2561].

แอร์เนสต์ เรอนอง. (2561). ชาติคืออะไร?. กรุงเทพฯ : พารากราฟ.