E-DUANG : จบจาก เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ มองไปยัง BANGKOK PRIDE

ทั้งๆที่บรรยากาศแห่ง”เย็นฉ่ำทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ยังไม่จบและเคลื่อนเข้าสู่บรรยากาศแห่ง”งานไหล” ไม่ว่าจะเป็นทีพัทยา ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่

กรุงเทพมหานครก็จุดพลุ ในเรื่อง Bangkok Pride 2024 Celebration of Love

ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม ถึง วันที่ 4 มิถุนายน

ใครที่เห็นภาพการจัดงานนี้เมื่อปี 2566 ย่อมจดจำภาพที่ปรากฎ ณ สยามสแควร์ อย่างเด่นชัด ไม่ว่าขบวนพาเหรดที่เคลื่อนมา จากสีลม ที่เคลื่อนมาจากราชประสงค์

ที่จำหลักอย่างหนักแน่นก็คือ การยืนอยู่บนเวทีร่วมกันระหว่าง นส.แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย กับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล

ยิ่งมองผ่านความร่วมมือระหว่างพรรคเพื่อไทยในฐานะรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้านในการขับเคลื่อนร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ในสภาผู้แทนราษฎร ยิ่งงดงาม

เป็นความงดงามที่อยากเห็นการสานต่อความยินดีระหว่าง 2 พรรคการเมืองนี้ให้ปรากฏผ่าน Bangkok Pride

อย่าให้เป็นไปในลักษณะ”สร้างดาวกันคนละดวง”เกิดขึ้น

 

บรรยากาศการเคลื่อนไหวผ่าน”เย็นฉ่ำทั่วหล้า มหาสงกรานต์”น่าจะฉายภาพงาน Bangkok Pride ได้ในระดับที่แน่นอนหนึ่งว่าจะดำเนินไปอย่างไร

เมื่อมองย้อนกลับไปยัง”เส้นแบ่ง”ทางการเมืองเนื่องแต่สถาน การณ์ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566

ไม่ว่าจะเป็นที่”ดอนเมือง” ไม่ว่าจะเป็นที่”เกียกกาย”

ต้องยอมรับว่าผลสะเทือนจากการเกิดขึ้นของ”รัฐบาลพิเศษ”ผ่านการจับมือระหว่างพรรคเพื่อไทย กับ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ เช่นนั้นเอง

ทำให้การเคลื่อนไหวใน”เย็นฉ่ำทั่วหล้า มหาสงกรานต์”ดำเนินไปในบรรยากาศแห่งการแข่งขันประชันกัน ณ เบื้องหน้าการยืนมองของประชาชน

ไม่ว่าจะเป็นภาพที่เชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ขอนแก่น ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ถนนข้าวสาร ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ถนนข้าวเหนียว

 

ถามว่าภายใต้สถานการณ์ในการขับเคลื่อน #สมรสเท่าเทียม มีการแข่งขัน มีการต่อสู้ มีการช่วงชิงหรือไม่ คำตอบอาจเห็นได้จากงาน PRIDE เมื่อปี 2566

ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเข้าร่วมของ นส.แพทองธาร ชินวัตร แห่งพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเข้าร่วมของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แห่งพรรคก้าวหน้า

ทุกลีลา ทุกท่วงท่าอาการ ล้วนมิอาจรอดพ้นไปจากสายตาในการเฝ้ามองของ LGBTQ+ ในเดือนพฤษภาคมต่อมิถุนายน