อุบัติเหตุซ้ำซาก! รถไฟฟ้าสีเหลือง-ชมพูความปลอดภัยต่ำ ภาคประชาสังคมร้องรัฐกำกับเข้ม-ทบทวนสัญญา

ประชาชนคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต่างตื่นตกใจกับเหตุระทึก “ล้อประคอง” หรือ “Guide Wheel” ของขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองซึ่งดำเนินการโดยบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ “EBM” ในเครือบีทีเอส หลุดร่วงตกใส่รถแท็กซี่ที่จอดอยู่จนได้รับความเสียหาย บริเวณใกล้กับสถานีศรีเทพา ถนนเทพารักษ์ ต.เทพารักษ์ อ.เมืองสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567

เป็นอุบัติเหตุสุดสะพรึงซ้ำซาก เพราะก่อนหน้านั้นเพียงสัปดาห์เดียว ช่วงเช้ามืดวันที่ 24 ธ.ค.2566 “รางจ่ายกระแสไฟฟ้า” ของ“รถไฟฟ้าสายสีชมพู” ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ “NBM” ในเครือบีทีเอสอีกเช่นกัน ก็เพิ่งหลุดร่วงลงมากระแทกพื้นราบ เป็นทางยาวหลายกิโลเมตร ทำให้ทั้งรถยนต์หลายคันและเสาไฟฟ้าพังเสียหายหักโค่นเสียหาย ส่งผลให้ต้องปิดการให้บริการสายสีชมพูถึง 7 สถานี

นำมาซึ่งการตั้งคำถามของผู้เชี่ยวชาญถึงความสามารถและศักยภาพของผู้ออกแบบก่อสร้างและผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทางว่ามีความพร้อมและความชำนาญเพียงพอหรือไม่ เพราะรถไฟฟ้าทั้งสายสีเหลือง-สีชมพู เพิ่งเปิดใช้งานได้เพียงระยะเวลาไม่นาน แต่กลับพบปัญหา “ล้อประคอง” หลุดร่วง และระบบรางไฟฟ้าหลุดต่อเนื่องในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

นับเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ และผู้สัญจรไปมาในแนวเส้นทางรถไฟฟ้ายกระดับ  เนื่องจากไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

ไร้แผ่นรองใต้ท้องรถ การออกแบบที่มองข้ามความปลอดภัย

ต่อกรณีการตั้งข้อสังเกตถึงระบบรักษาความปลอดภัยของเทคโนโลยีรถไฟรางเดี่ยว หรือ “โมโนเรล” จากการสำรวจข้อมูลพบว่า รถไฟฟ้าที่ผู้ประกอบการเดินรถนำมาให้บริการทั้ง 2 เส้นทาง เป็นรถยี่ห้อ Alstom รุ่น INNOVIA Monorail 300  ซึ่งการออกแบบชุดป้องกันระบบเดินรถที่บริเวณด้านล่างชุดโบกี้ จะไม่มีชุดป้องกันสิ่งของหรืออุปกรณ์เดินรถตกลงมายังถนนเบื้องล่าง เป็นแต่เพียงชุดครอบยาวลงมาถึงด้านข้างเท่านั้น

ทำให้เมื่อมีอุปกรณ์หลุดจากตัวรถจะมีโอกาสสูงที่จะหล่นไปยังถนนเบื้องล่างทันที นับเป็นเรื่องที่อันตรายมากต่อผู้ที่สัญจรไปมาที่มีโอกาสถูกสิ่งของตกใส่ได้ตลอดเวลา

ตัวอย่างชัดเจนที่สุด คือ เหตุการณ์ที่ล้อประคองรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุดร่วง หากขบวนรถที่ผู้ประกอบการเดินรถนำมาให้บริการมีการออกแบบชุดป้องกันสิ่งของหรืออุปกรณ์เดินรถตกลงมายังถนนเบื้องล่าง ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้

สะท้อนให้เห็นความเชี่ยวชาญ ในความใส่ใจในการออกแบบที่ยังไม่ให้ความสำคัญกับประเด็น “ความปลอดภัย” เท่าที่ควร

ทั้งยังสะท้อนว่า การออกแบบ ดูแลประสิทธิภาพโครงการรถไฟฟ้าไม่ใช่เพียงแต่จะคำนึงถึงแค่การที่ “เอกชนเสนอราคาถูก” แล้วภาครัฐจะอนุมัติสัมปทานกันง่ายๆ เพราะเรื่องของ “ความสามารถทางเทคนิค” และด้านประสบการณ์ืวิศวกรรมขั้นสูงนั้นเห็นได้ชัดว่ามีความสำคัญมากจริงๆ !

ภาคประชาสังคมจี้ เช็กความปลอดภัยครั้งใหญ่ทั้งระบบ

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จากการสืบค้นข้อมูลในต่างประเทศไม่พบการเกิดอุบัติเหตุรถไฟฟ้ารางเดียวโมโนเรล ล้อหลุด หรือรางระบบไฟฟ้าร่วง โดยการเกิดอุบัติเหตุลักษณะดังกล่าวเพิ่งพบในประเทศไทยครั้งแรก

นอกจากนี้ รศ.ดร.ชาลียังตั้งข้อสังเกตอีกว่ารถไฟฟ้าสายสีเหลืองและรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีระบบการเดินรถที่ค่อนข้างโคลงเคลง แตกต่างจากรถไฟฟ้าโมโนเรลในต่างประเทศซึ่งจะนิ่งและไม่ค่อยโคลงเคลง โดยคาดว่าอาจจะเกิดจากปัญหาความชำนาญในการติดตั้งระบบของเจ้าหน้าที่ จึงอยากให้มีการตรวจสอบระบบติดตั้งทั้งหมด หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยจำนวนมากหลายจุดควรจะหยุดให้บริการเพื่อปรับระบบติดตั้งใหม่ให้ปลอดภัยของผู้โดยสารมากขึ้น

สอดคล้องกับมุมมองของ นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการเดินรถต้องดำเนินการ คือ ต้องตรวจระบบเดินรถใหม่ทั้งระบบ ตั้งแต่การก่อสร้างโครงสร้าง การติดตั้งระบบเดินรถ การติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ การที่ล้อประคองหลุดออกจากตัวรถง่ายขนาดนั้นไม่ใช่เรื่องปกติ

สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ ภาครัฐต้องสั่งให้ผู้ประกอบการเดินรถเร่งหามาตรการป้องกันความปลอดภัยเพิ่มเติม เพราะชิ้นส่วนของระบบเดินรถแต่ละชิ้นมีน้ำหนักมาก หากเกิดเหตุซ้ำซ้อนในช่วงที่มีการจราจรหนาแน่นจะทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตแน่นอน

แผนอพยพไม่ชัดเจน ความเสี่ยงที่ผู้โดยสารต้องแบกรับ

นายประภัสร์ ยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูว่ายังไม่มีแผนการอพยพคนที่ชัดเจนโดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเหลืองไม่มีพนักงานขับรถหรือพนักงานบนตัวรถ หากเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุขัดข้อง การสื่อสารผ่าน CCTV จะมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่

รวมถึงวิธีการอพยพคนโดยเอารถมาจอดคู่แล้วให้คนเดินข้ามไปขึ้นรถอีกขบวนเป็นวิธีที่ไม่มีความปลอดภัยแม้แต่น้อย การเปิดให้บริการโดยยังไม่แก้เรื่องนี้มีความเสี่ยงมากๆ

ในอนาคตหากเกิดเหตุการณ์ที่ต้องมีการอพยพผู้โดยสารจริง ตนเป็นห่วงว่าจะมีผู้โดยสารที่ตื่นตระหนกกระโดดลงมาจากรางรถไฟ และอาจเกิดความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

กระตุ้นภาครัฐทบทวนสัญญา เพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชน

ในส่วนของมาตรการ “บทลงโทษ” ผู้ประกอบการเดินรถ ซึ่งภาครัฐระบุว่าสามารถทำได้เพียงสังหยุดการเดินรถ แต่ไม่สามารถสั่งปรับเงินหรือแก้ไขสัญญาได้ นายประภัสร์ตั้งคำถามถึงภาครัฐว่า ใครมีความสำคัญกว่ากันระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติกับผลประโยชน์ของผู้รับสัมปทาน

หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเอาสัญญามาเปิดดูรายละเอียด หากพบว่าเอกชนบกพร่องเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัย ให้พิจารณาว่าเป็นการทำผิดสัญญา เพราะเป็นสิ่งที่กระทบต่อสวัสดิภาพและความเสียหายของทรัพย์สินประชาชน ผู้รับสัมปทานต้องแก้ไข ถ้าไม่แก้ไข รัฐสามารถใช้สิทธิ์ขอยกเลิกสัญญาหรือเขียนสัญญาใหม่ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์แก่ประชาชนจะปล่อยให้มีเหตุการณ์แบบนี้โดยไม่มีบทลงโทษที่เด็ดขาดไม่ได้

ขณะที่ น.ส. นารากร ติยายน สื่อมวลชนอาวุโส ได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว เรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามากำกับดูแลและมีบทลงโทษต่อผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าที่เกิดปัญหาข้างต้นอย่างเคร่งครัด ไม่ปล่อยปละละเลย เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงคุณภาพการก่อสร้างงานขนาดใหญ่ของภาครัฐ หน่วยงานที่มีอำนาจควรกลับไปทบทวนกระบวนการจัดหาผู้ออกแบบก่อสร้างและผู้ประกอบการเดินรถให้รัดกุม และพิจารณาถึงความรู้ ความสามารถให้มากกว่านี้

ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่าเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 67 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เรียกบริษัท “EBM” ในเครือบีทีเอส ในฐานะผู้รับสัมปทาน เข้ามาชี้แจงถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมหารือบทลงโทษกรณีเกิดเหตุการณ์หรือเกิดอุบัติเหตุต่อการเดินรถไฟฟ้าแล้ว โดยได้เตรียมออกกฎคาดโทษตัดสิทธิ์การสัมปทานครั้งต่อไป

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 ม.ค.  บริษัท “EBM” ได้ประกาศแจ้งกลับมาให้บริการตามปกติทุกสถานีแล้ว อย่างไรก็ตามยังคงมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์-คอมเมนต์กันในโลกโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเด็นข้อกังขาถึงความพร้อมของระบบรักษาความปลอดภัยในการเดินรถ

“อาการล้อหลุดน่าจะเกิดบ่อยๆ ถ้าดูทรงแล้วครับ เพราะว่าล้อมันอยู่นอกรางรถไฟ ไม่มีอะไรป้องกันไว้”

“ตกลง คือ เป็นระบบที่ปลอดภัยกับผู้โดยสาร เท่านั้น ไหมครับ เว้น ข้างล่าง”

“แทนที่จะสร้างแบบรางเหล็ก ใต้ดิน ต้องมาวิ่งแบบครึ่งๆกลางๆ แถมมีแต่เสาคอนกรีต อูบาทๆ รกสายตา คสช. เน้นของถูก แต่อยากมีผลงานก็แบบนี้แหละ”

“ทำให้ดี เช็คให้ชัวร์ก่อนเปิดใช้ได้ไหมอะ อันตรายทั้งคนนั่ง ทั้งคนขับรถอยู่ข้างล่างอะ!!”

“ใครจะขึ้นก็ขึ้นเถอะไม่ขอขึ้นด้วยแล้วคนนึงกลัว”

“อินโนเวีย 300 ต้องตรวจสอบกันยกใหญ่ละแหละ ว่ามีประสิทธิภาพดีพอที่จะเอามาใช้งานรึเปล่า

ได้ข่าวว่ารถมีอุบัติเหตุบ่อยมาก ; ล้อยางแตก สกรูรางร่วงหลุด ประตูไม่ปิดขณะที่รถกำลังออกตัว รถ2คันชนกัน

ทบทวน ตรวจเช้คสภาพหน่อยน่าจะดีนะค้าบบบ”

“เหล็กร่วมล้อหลุดอีกหน่อยก็ร่วงทั้งขบวน”

“หลอนกว่า ธี่หยุด ก็คือ รถไฟฟ้ารางเดียวนี่แหละ เพราะวิ่งอยู่บนหัวทุกวัน

*อนาถใจ วิศวกรไทย เพียงแค่อาเทคโนโลยีเขามาใช้ ก็ไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้

#เอวัง เสี่ยงตายรายวัน”

“สวัสดีครับแอดมิน จากการที่ผมใช้บริการทั้งสองสี ในเส้นทางหลายช่วง รับรู้ถึงความสั่นและกระแทกรุนแรงมากอยู่ครับ ไม่สงสัยเลยว่าทำไมล้อหลุด กระแทกขนาดนั้น”

นั่นคือเสียงสะท้อนของจริงจากประชาชนที่ทั้งภาครัฐ ผู้มีอำนาจกำกับรถไฟฟ้า รวมถึงตัวผู้ประกอบการเองต้องน้อมรับฟังและรีบวางมาตรการแก้ไขไม่ให้ซ้ำรอยโดยด่วน !