หญิงร้าย – ผู้หญิงแม่ร้าย

ญาดา อารัมภีร

เคยคุยถึงคำว่า ‘ผ้าร้าย’ และ ‘ร่างร้าย’ ไปบ้างแล้ว ผ้าร้าย คือ ผ้าขี้ริ้ว วรรณคดีเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” เล่าถึงสภาพน่าทุเรศของเปรตว่า

“ผ้าร้ายน้อยหนึ่งก็ดีแลจะมีปกกายเขานั้นก็หาบ่มิได้เลย เทียรย่อมเปลือยอยู่ชั่วตน ตัวเขานั้นเหม็นสาบพึงเกลียดนักหนาแล”

‘ร่างร้าย’ เป็นคำที่กวีใช้บรรยายถึงชูชกในเรื่อง “มหาเวสสันดรชาดก” ว่ามีรูปร่างหน้าตาต่ำทรามกว่าคนทั้งหลาย

“ชูชโก ส่วนว่าเฒ่าร่างร้ายชูชกทลิททกทารุณชาติ”

นอกจากสองคำข้างต้นนี้ ยังมีคำว่า ‘หญิงร้าย’ หรือ ‘ผู้หญิงแม่ร้าย’ เป็นคำเก่าแก่ สมัยสุโขทัยก็มีใช้แล้ว หมายถึง หญิงถ่อย หญิงโสเภณี ‘ถ่อย’ คือ ชั่ว เลว ทราม

“อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ สมัยรัชกาลที่ 5 ให้ความหมายว่า

” ถ่อย, ความชั่ว. การมิดี. การอุบาทว์, เปนคำด่าถึงคนทำความชั่วต่างๆ นั้น เช่น เขาด่ากันว่าอ้ายถ่อยนั้น”

ส่วน ‘โสเภณี’ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า หญิงที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าประเวณี, หญิงโสเภณี นครโสเภณี หญิงนครโสเภณี หญิงงามเมือง หรือนางกลางเมือง ก็ว่า

 

ใน “ไตรภูมิพระร่วง” วรรณคดีสมัยสุโขทัย ใช้คำว่า ‘ผู้หญิงแม่ร้าย’ กับนางอัมพปาลิกา ซึ่งเป็นโสเภณีผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ความเป็นมาของนางนั้นน่าสนใจยิ่ง

แรกเริ่มนางเกิดแบบอุปปาติกโยนิในคาคบไม้มะม่วง เกิดปุ๊บโตปั๊บเป็นสาวทันที อดีตชาติทั้งดีและร้ายก่อนหน้านี้บันดาลให้เกิดผล การที่เคยบวชเป็นภิกษุณีรักษาศีลมั่นคง ส่งผลให้มีรูปร่างหน้าตางามเด่น แต่ด้วยบาปกรรมที่เคยด่าว่าพระเถรีอรหันต์ ทำให้นางต้องกลายเป็นนางนครโสเภณี นางเคยตกนรกและเป็นหญิงแพศยามาแล้วหลายต่อหลายชาติ ความที่นางศรัทธาเลื่อมใสพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า จึงได้บวชและบรรลุเป็นพระอรหันต์และนิพพานในที่สุด

ไตรภูมิพระร่วงเล่าถึงนางว่า

“ยังมีนางผู้หนึ่งชื่อว่า นางอัมพปาลิกา แลนางนั้นได้บวชเป็นภิกษุณีในศาสนาพระพุทธิเจ้านั้น แลนางนั้นถือศีลาทิคุณหมั้นคงยิ่งนัก อุปฐากรักษากวาดวัดผัดแผ้วทุกเมื่อ ในกาลวันหนึ่งนางภิกษุณีองค์หนึ่งนั้น ไปปทักษิณะพระเจดีย์เจ้าด้วยหมู่ชาวเจ้าเถรีทั้งหลายด้วยกัน เมื่อนั้นยังมีเจ้าไทเถรีองค์หนึ่ง ธ เป็นอรหันตาขีณาสพ แลแก่กว่าเจ้าไททั้งหลาย แลท่านนั้นปทักษิณไปก่อนท่านทั้งหลาย แลท่านมาพลันนัก แลมิทันแปรหน้าหนีพระเจดีย์เจ้า แลน้ำลายเหนียวของนางเถรีอรหันต์นั้นก็เล็ดออกก้อนหนึ่ง ต้องพระเจดีย์เจ้าแล ท่านนั้นก็บ่อมิทันเห็น แล ธ ก็เดินไปภายหน้า เมื่อนั้นจิงภิกษุณีผู้ชื่อนางอัมพปาลิกานั้น เห็นก้อนน้ำลายนั้น จิงนางอัมพปาลิกานั้นจิงด่าว่าดังนี้ว่า ผู้หญิงแม่ร้ายผู้ใดแลมาถ่มน้ำลายลงเต็มพระเจดีย์เจ้าอันเป็นเจ้ากูดั่งนี้ แลกูเจ็บใจกูนักหนาหาที่อุปมามิได้เลย นางอัมพปาลิกาด่าแล้วดังนั้นก็เลยไปแล

เมื่อนั้นนางอัมพปาลิกาภิกษุณีจิงจะมารำพึงต่อความอันท่านกล่าวแลบอกข่าวทุกขเวทนาในท้องแม่มนุษย์นี้ร้ายนักหนา แลนางนั้นก็มีใจเกลียดอายยิ่งนักหนา นางนั้นมิได้ปรารถนามาเกิดที่ในท้องของมนุษย์เลย แลนางผู้นั้นจิงปรารถนาขอเกิดเป็นอุปปาติกโยนิแล นางนั้นอยู่สร้างสมณธรรมบวชเป็นภิกษุณีอยู่ตราบเท้าเถิงชนมายุ ครั้นว่านางนั้นสิ้นชนมาพิธีแล้ว นางก็ได้ไปตกนรกด้วยกรรมบาปของนางอันที่นางได้ด่าพระมหาเถรีขีณาสพนั้น แลนางได้ทนทุกขเวทนาอยู่ในนรกโพ้นหึงนานหลายปีนักหนา

ครั้นว่าสิ้นบาปพ้นจากนรกขึ้นมา แลได้เกิดเป็นผู้หญิงแม่ร้ายแพศยาได้หมื่นชาติเพราะบาปอันตนได้ด่าพระมหาเถรีขีณาสพเจ้านั้นว่าผู้หญิงแม่ร้ายนั้น แลจิงได้เป็นหญิงแพศยา ครั้นว่าสิ้นแต่นั้นแล้วจิงได้มาเกิดที่ในค่าคบไม้ม่วงต้นหนึ่งอันมีที่ในอุทยานของพระญาในเมืองไพศาลีนครนั้น”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

คําว่า ‘ผู้หญิงแม่ร้าย’ ก็คือ ‘หญิงร้าย’ นั่นเอง พบคำหลังนี้เป็นระยะๆ ใน “กฎหมายตราสามดวง” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1 ในพระไอยการลักษณรับฟ้อง เล่าถึงทาสหญิงฟ้องร้องว่าถูกเจ้านาย พี่น้องลูกหลานเจ้านายข่มขืน

“ถ้ามันว่าชายนั้นข่มขืนครั้งหนึ่งสองครั้งแล้ว แต่มิได้ร้องแรกให้มีศักขีพญาน ต่อพายหลังจึ่งได้ร้องแรกนั้น ท่านว่าหญิงร้ายจะแกล้งประบัดสีนท่านจึ่งกล่าวโทษเจ้าเงินแลพี่น้องลูกหลานเจ้าเงิน อย่าให้รับไว้บังคับบันชาต่อไป (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ความหมายคือเมื่อถูกข่มขืน 2 ครั้ง ไม่ร้องเรียนตั้งแต่ครั้งแรก มาร้องเอาครั้งที่ 2 แสดงว่าต้องการ ‘ประบัดสีนท่าน’ คือฉ้อโกงทรัพย์สินผู้กระทำ ถึงได้เพิ่งมากล่าวโทษเอาตอนนี้ จึงเรียกทาสหญิงคนนี้ว่า ‘หญิงร้าย’

ยิ่งไปกว่านั้นถ้าหญิงใดมีพฤติกรรม ‘แซบยกกำลังสอง’ ในวันเดียวกัน มีบทลงโทษหญิงร้าย ดังนี้

“มาตราหนึ่ง หญิงใดทำชู้นอกใจผัว มันเอาชายชู้นั้นมาร่วมประเวนีในวันเดียว ๒ คนขึ้นไป ท่านว่าเป็นหญิงแพศยา มิให้ปรับไหมชายชู้นั้นเลย ให้เอาปูนเขียนหน้าหญิงร้ายนั้นเปนตราง ร้อยดอกฉะบาเปนมาไลยไส่ศีศะคอ แล้วเอาขึ้นขาหย่างผจานโดยพระราชกฤษฏีกา ส่วนชายนั้นให้จำคาให้นั่งไต้ขาหย่างผจาน ๓ วัน และให้ทวนชายหญิงโดยสกันมิสกัน”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

คําว่า ‘หญิงร้าย’ ยังพบว่ามีใช้ในสมัยหลัง ดังจะเห็นได้จาก “โคลงนิราศตลาดเกรียบ” สมัยรัตนโกสินทร์ พระเทพโมลี (กลิ่น) เมื่อเดินทางผ่านบ้านงิ้วก็แสดงความเชื่อใจนางผู้เป็นที่รักว่ามีรักมั่นคง ไม่นอกใจผัวเหมือน ‘หญิงร้าย’ ที่ต้องปีนต้นงิ้ว ถูกหนามงิ้วที่มีเปลวไฟกรดทั้งบาดและแผดเผาเนื้อตัว ได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัส

” หญิงร้ายชายชู้ชอบ ชังผัว

งิ้วแง่กรดกรีดตัว ไต่ต้อง

บ้านงิ้วคิดขยาดกลัว หนามแง่ งิ้วรา

จากพี่เชื่อใจน้อง นิ่มเนื้อไกลหนาม”

‘หญิงร้าย’ ใกล้นรก ‘หญิงดี’ ไกลนรก เลือกดีๆ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร