ทำไมมุสลิมค้านกฎหมายเหล้า กัญชา และ LGBTQ/บทความพิเศษ อุสตาซอับดุชชะกูรฺ

บทความพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

 

ทำไมมุสลิมค้านกฎหมายเหล้า กัญชา และ LGBTQ

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและผู้อ่านทุกท่าน

ท่าทีของ ส.ส.มุสลิม องค์กรมุสลิม คัดค้านกฎหมายสมรสเท่าเทียม สุราก้าวหน้า และกัญชาเสรี กำลังถูกตั้งคำถามในสังคมไทยโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่มีความคิดเห็นค่อนข้างไปทางเสรีประชาธิปไตย

อาจารย์รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ อาจารย์ด้านภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมลายา ประเทศมาเลเซีย ได้ให้ทัศนะเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม ดังนี้

1. พรรคประชาชาติที่มีผู้สนับสนุนเป็นมุสลิม ถือว่าเป็นพรรคตัวแทนของมุสลิมที่เลือกพรรคนี้ พรรคก็มีสิทธิที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ (ถ้าเราจะติติงพรรคนี้ก็เกี่ยวกับวิธีการสื่อสารที่จะพูดยังไงให้คนที่ไม่ใช่มุสลิมได้เข้าใจในประเด็นนี้ ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังคือพูดแล้วผลที่ตามมาต้องไม่เกิดการโจมตีอิสลามมากไปกว่านี้)

2. ประเทศไทยประกอบด้วยประชากรที่หลากหลายความเชื่อ หลากหลายวิถีชีวิต การที่ชาว lgbtq+ ต้องการสมรสเท่าเทียมก็เป็นสิทธิของพวกเขาที่จะเรียกร้องให้มีได้

3. ขณะเดียวกันเราในฐานะมุสลิมก็มีสิทธิที่จะปกป้องหลักการของเราด้วยเช่นกัน ที่ไม่สามารถยอมรับการสมรสแบบนี้ได้ในสังคมมุสลิมของเรา

4. ถ้าพิจารณาอีกด้านการสมรสเท่าเทียมไม่ได้เกี่ยวกับเรา เพราะในอิสลามการแต่งงานต้องระหว่างเพศชายกับหญิงเท่านั้น ดังนั้น สมรสเท่าเทียมจึงไม่อาจเทียบกับการนิกะห์ตามหลักของอิสลาม

5. ข้อเรียกร้องที่มุสลิมในประเทศนี้ทำได้คือขอให้ระบุเป็นข้อยกเว้นว่า กฎหมายนี้ไม่ใช้กับมุสลิม ถ้าจะมีคนแย้งว่ายกเว้นไม่ได้ทุกคนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายของไทย ประเด็นนี้ทำไมจะทำไม่ได้ในเมื่อกัญชาเสรียังมีข้อยกเว้นสำหรับคนอายุต่ำกว่า 20 ปี และสตรีมีครรภ์ แล้วถ้ามุสลิมจะเรียกร้องให้ยกเว้นเพราะขัดกับหลักศาสนาทำไมจะทำไม่ได้

6. “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

มาตรา 31 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

7. ส่วนการปฏิบัติต่อมุสลิมที่เป็น Lgbtq+ สังคมมุสลิมก็ต้องเริ่มจากสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาที่จะโอบอุ้มดูแลอย่างเมตตา ไม่ใช่ผลักไสคุกคามข่มขู่ให้ออกไปจากศาสนา ให้ความรู้ความเข้าใจ ทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีก่อน

8. ยังมีปัญหาสังคมอื่นๆ อีกมากในสังคมมุสลิมเรากำลังเผชิญอย่างหนักหนาสาหัส เช่น ยาเสพติด ครอบครัวแตกแยก แม่เลี้ยงเดี่ยวเพราะชายไม่รับผิดชอบ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทุกด้านที่นับวันถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไข

ขณะที่ ผศ.ดร.อับดุลรอนิง สือแต และอัล-อัค อับดุลมะญีด อุปมา ได้อธิบายเมื่อวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน 2565 ผ่าน Clubhouse Young Muslim Assosiation of Thailand ถึง “การตีความ morality หรือศีลธรรมที่มุสลิมมองแตกต่างกับชุดจริยศาสตร์โลกเสรีนิยม” ว่า [ศีลธรรม] สิ่งสำคัญที่จะผิดพลาดไปมากคือการมองเห็นความชั่วร้ายที่อิสลามพูดถึงว่าเป็นการละเมิด “ศีลธรรม” (Morality) อย่างที่คนพูดๆ กัน เช่น เห็นการฆ่าคนตายคือการละเมิดชีวิตหนึ่งที่ผิดหลักศีลธรรมอันดีงาม… แต่เมื่อมามองคำอธิบายของการฆ่าคนในอัลกุรอานนั้นมันไปกว่านั้น นั่นคือ การฆ่าชีวิตหนึ่งนั้น “ประหนึ่งการฆ่าชีวิตทั้งหมด” นั่นจึงไม่ใช่ศีลธรรมแบบที่เราเข้าใจ แต่เป็นการบอกว่า สถานะของการฆ่าคนอย่างอธรรมแม้แต่เพียงคนเดียวคือการทำลายเผ่าพันธ์มนุษยชาติ (ไม่ต้องนึกถึงเลยว่า สงครามที่ทำลายชีวิตคนบริสุทธิ์นับหมื่นนับแสนจะเป็นเรื่องที่เลวร้ายสาหัสเช่นไรในมุมมองนี้)

เช่นเดียวกับการทำซีนา (ผิดประเวณี) มันจะไม่ใช่มุมมองแบบศีลธรรมแบบทั่วไป คือเป็นความผิดทางเพศระหว่างชายหญิงเท่านั้น แต่มันหมายถึงการทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นเพศหญิง ซึ่งไม่ใช่แค่การหลับนอนของชายหญิงอันเป็นส่วนตัว (คนอื่นอย่ามายุ่ง)

แต่เสมือนหนึ่งการยอมรับให้คนอื่นๆ มาทำเช่นนี้กับพี่สาวหรือน้องสาวตัวเองได้เช่นกัน

ดั่งที่ท่านนบีตั้งคำถามกับชายที่มาขออนุญาตทำซีนาว่า ถ้าคนมาขอทำซีนากับแม่ของท่าน กับน้องสาวพี่สาวของท่าน กับน้าสาวของท่าน ท่านจะว่าอย่างไร? ซึ่งชายคนนั้นก็บอกว่าไม่สามารถยอมรับได้… การทำซีนามันก็เสมือนกับการเหยียดหยามความเป็นผู้หญิงของทุกบ้าน ตัวอย่างพวกนี้ทำให้มุมมองต่อการเห็นความเลวไม่ใช่เป็น “ศีลธรรมทางศาสนา” แบบที่เราเคยเข้าใจ แต่มันคือการกระทำผิดต่ออารยธรรมมนุษย์ ต่อเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ ต่อธรรมชาติแห่งความดีงาม… อัลกุรอานมักเรียกความดีว่า “มะอรูฟ” หมายถึง “สิ่งมนุษย์รู้จักและคุ้นเคยกันดี” ขณะที่ความเลวนั้นเรียกว่า “มุงกัร”

ตามรากคำแล้วมันหมายถึง “สิ่งที่มนุษย์ไม่อาจยอมรับมันได้” ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์จึงปฏิเสธมัน

ส่วนกัญชาเสรี สุราก้าวหน้า ผศ.ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด เสนอว่า ในช่วงนี้ ที่รัฐบาลโลกสร้างกระแสเสรีนิยมไปทั่วโลก เป็นเสรีนิยมที่แยกจากประชาธิปไตย ทั้งเพศเสรี กัญชาเสรี เหล้าเสรี และอะไรๆ ที่จะตามมามากมายการปฏิบัติต่อกระแสเสรีนิยมเหล่านั้น ควรจะต้องสุขุมใจเย็น ทุ่มเทความพยายามชี้แจงเหตุผล ความเป็นมาและความเป็นไป มากกว่าการเผชิญหน้าอย่างเกรี้ยวกรานและการประณามด่อทอ

และที่สำคัญ การทุ่มเทความพยายามชี้แจงเหตุผลเป็นเรื่องที่ควรกระทำ มากกว่าแค่การบอกว่า “เพศเสรี” “กัญชาเสรี” ผิดหลักการศาสนาอิสลาม

ในตำราประมวลวัจนะศาสดาซึ่งอิหม่ามอะหมัด บันทึกเหตุการณ์หนึ่งในสมัยของศาสดามุฮัมมัดว่า

อบูอุมามะฮ์เล่าว่า มีชายหนุ่มผู้หนึ่งมาหาท่านนบี ศอลฯ เขากล่าวว่า “โอ้ท่านรอซูลุลอฮ์ โปรดอนุญาตให้ฉันผิดประเวณีเถิด”

ว่าแล้วผู้คนก็พากันมาหาชายหนุ่มผู้นั้น พร้อมกับการเอ็ดตะโรพวกเขาว่า “อะไรกัน อะไรกัน”

ศาสดามุฮัมมัดจึงกล่าวว่า “มานี่ซิ”

แล้วเขาก็เข้ามาใกล้ แล้วนั่งลง ท่านนบี ศอลฯ จึงถามว่า

“เธออยากให้ใครทำกับมารดาของเธอหรือไม่?”

“ไม่ครับ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ชีวิตผมขอพลีแด่ท่านครับ” เขาตอบ

“คนอื่นก็ไม่อยากให้เกิดกับมารดาของพวกเขาเช่นกัน” ศาสดามุฮัมมัดกล่าว

“แล้วเธออยากให้เกิดกับบุตรสาวของเธอหรือไม่ ?” ศาสดามุฮัมมัดถาม

“ไม่ครับ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ชีวิตผมขอพลีแด่ท่านครับ” เขาตอบ

“คนอื่นก็ไม่อยากให้เกิดกับบุตรสาวของพวกเขาเช่นกัน” ศาสดามุฮัมมัดกล่าว

“แล้วเธออยากให้เกิดกับพี่สาวน้องสาวของเธอหรือไม่?” ศาสดามุฮัมมัดถาม

“ไม่ครับ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ชีวิตผมขอพลีแด่ท่านครับ” เขาตอบ

“คนอื่นก็ไม่อยากให้เกิดกับพี่สาวน้องสาวของพวกเขาเช่นกัน” ท่านศาสดากล่าว

“แล้วเธออยากให้เกิดกับป้าๆ ของเธอหรือไม่?” ศาสดามุฮัมมัดาถาม

“ไม่ครับ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ชีวิตผมขอพลีแด่ท่านครับ” เขาตอบ

“คนอื่นก็ไม่อยากให้เกิดกับป้าๆ ของพวกเขาเช่นกัน” ศาสดามุฮัมมัดว่า

“แล้วเธออยากให้เกิดกับน้าๆ ของเธอหรือไม่ ?” ศาสดามุฮัมมัดถาม

“ไม่ครับ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ชีวิตผมขอพลีแด่ท่านครับ” เขาตอบ

“คนอื่นก็ไม่อยากให้เกิดกับน้าๆ ของพวกเขาเช่นกัน” ศาสดามุฮัมมัดกล่าว

แล้วศาสดามุฮัมมัดก็วางมือลงบนอกชายหนุ่มผู้นั้น พลางว่า “โอ้อัลลอฮ์ โปรดอภัยบาปของเขา โปรดชำระหัวใจของเขาให้บริสุทธิ์ และโปรดรักษาอวัยวะเพศของเขาจากสิ่งไม่ดี”

หลังจากนั้น ชายหนุ่มผู้นั้นไม่รังเกียจสิ่งใดมากกว่าการผิดประเวณีอีก

ปัญญาชนมุสลิมล้วนยึดแนวทางนี้ในการทำงาน

เมื่อประมุขแห่งอัซฮัร ออกมาคัดค้านเพศเสรี ก็จะบอกว่า “จะทำให้ประชากรลด และทำให้มนุษยชาติสูญพันธุ์” มากกว่าจะบอกกับผู้ที่ไม่ศรัทธา/ไม่เคร่งครัด ว่า ผิดหลักศาสนา

เมื่อ 15 มิถุนายน 2565 – ภาคีเครือข่ายองค์กรมุสลิมกว่า 25 องค์กร ได้ร่วมประชุมหารือ กรณีมีการอนุมัติกัญชาเสรี ผ่านสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ประชุมมีมติจัดตั้งองค์กรเครือข่ายคัดค้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่ขัดกับหลักศีลธรรม โดยมี ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผอ.ศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี ประจำภาคใต้ เป็นประธาน และนายอุดร น้อยทับทิม อดีตรองผู้ว่าฯ ยะลา เป็นรองประธาน โดยองค์กรเตรียมเคลื่อนไหวใหญ่ เพื่อรณรงค์คว่ำร่าง พ.ร.บ.กัญชาเสรี ในวาระสองทุกรูปแบบอย่างสันติวิธี และผ่านทุกช่องทางของการสื่อสาร

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรมี 2 ระดับ

1. แนวทางระดับแนวดิ่ง

1.1 การปฏิสัมพันธ์และหาทางออกในระดับชั้นกรรมาธิการ โดยมีฝ่ายกฎหมายเป็นแกนหลักในการหาข้อมูลเพื่อประกอบการดำเนินงานให้ถูกต้อง รวดเร็ว และเกิดผล

1.2 การพบปะพูดคุยและทำความเข้าใจกับนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

1.3 การรวบรวมรายชื่อจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด และชุมชน เพื่อยับยั้งและแก้ไขในชั้นวาระที่ 2 (กรรมาธิการ) ของการพิจารณากฎหมาย

2. แนวทางระดับแนวราบ

2.1 การหาพันธมิตรเพิ่มขององค์กรภาคีเครือข่ายมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม เพื่อภารกิจและเป้าหมายเดียวกัน

2.2 การสร้างความเข้าใจและพื้นที่พูดคุยในระดับเยาวชน นิสิตนักศึกษา และสถาบันการศึกษา โดยให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในมิติด้านต่างๆ ของข้อมูล

2.3 ใช้การประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ อาทิ สื่อโซเชียลมีเดีย การ์ตูน สื่อวิดีโอ สื่อวิทยุ และสำนักข่าวต่างๆ

2.4 การส่งหนังสือสารความเข้าใจและตระหนักร่วมถึงคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักร โดยมีฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ

2.5 การจัดทำคุฏบะฮฺวันศุกร์ และแจกจ่ายให้มัสยิดทั่วประเทศดำเนินการ โดยอาจกำหนดวันคุฏบะฮฺ เพื่อเป็นมาตรการเชิงสัญลักษณ์ของการคัดค้าน