ความท้าทาย ‘แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่’ หลังพบผู้นำศาสนา และมุมมองต่อ “โครงการพาคนกลับบ้าน”

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

หลังจาก พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 (คนใหม่) ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เข้ารับตำแหน่ง

ก็ได้เข้าพบผู้นำทั้งมุสลิมและพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อทราบความต้องการ ข้อเสนอแนะในการพัฒนาและแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยเข้าเยี่ยมคารวะนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี วันที่ 1 ตุลาคม 2561 และร่วมพบปะผู้นำศาสนา ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม วันที่ 3 ตุลาคม 2561

วันที่ 2 ตุลาคม 2561 ร่วมประชุมพบปะหารือตัวแทนชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธในพื้นที่จังหวัดยะลา ประมาณ 500 คน พร้อมด้วย พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา และคณะกองฝ่ายเสนาธิการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ชั้น 2 วัดเมืองยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

ผลจากการพบครั้งนี้มีข้อเสนอมากมาย และทุกคนยินดีร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาและแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่มีข้อท้าทายสองเรื่อง

ของพุทธ 1 เรื่อง คือโครงการพาคนกลับบ้าน

กับมุสลิมหนึ่งเรื่อง คือการแก้ปัญหายาเสพติด

โครงการพาคนกลับบ้าน

โครงการพาคนกลับบ้าน เป็นปฏิบัติการด้านการอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐที่ต้องการยุติการใช้ความรุนแรง ผู้หวาดระแวงหลบหนีออกนอกพื้นที่ หรือออกนอกประเทศ มาต่อสู้ในแนวทางสันติด้วยการช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายและปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ

ซึ่งจากสถิติจำนวนผู้เห็นต่างที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน นับแต่เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560 มีทั้งหมด 4,432 คน

โดยแยกออกเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ อาญา) และผู้หวาดระแวง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ออกมารายงานตัวแสดงตนเข้าโครงการรวม 4,535 คน (2 ตุลาคม 2560) ส่งคืนกลับสู่สังคม (set zero) จำนวน 4,403 คน อยู่ระหว่างดำเนินกรรมวิธี 132 คน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมสร้างความไว้วางใจภายใต้แนวคิด “ลดช่องว่าง สร้างความเข้าใจ” โดยนำ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” (ผู้เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย-พคท.) ไปให้ความรู้ เล่าประสบการณ์เทียบเคียงกับโครงการพาคนกลับบ้านอีกด้วย

สำหรับคนพุทธแล้วมีทัศนะว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการพาโจรกลับบ้าน และเป็นนโยบายชวนเชื่อที่ภาครัฐใช้คำว่า “ผู้หลงผิด” ให้เข้ามามอบตัวและร่วมพัฒนาชาติไทย โครงการนี้ “ลดช่องว่าง สร้างความเข้าใจ” ได้จริงหรือ? มันเสมือนเป็นโครงการพาโจรกลับบ้านดีๆ นี่เอง

ดังนั้น คนพุทธจึงต่อต้านด้วยเหตุผลมากมาย

จาก Facebook ของปมชายแดนใต้ได้ตั้งคำถาม-คำตอบ 8 ข้อ ดังนี้

คำถามแรก เซ็ตซีโร่ โครงการพาคนกลับบ้านคืออะไร

คำตอบ จากการสอบถามผู้รู้บอกว่าโครงการพาคนกลับบ้านเริ่มในสมัยปี 2555-จนถึงปัจจุบัน โดยการเปิดทางให้พวกมีหมายต่างๆ เข้าโครงการ ทำให้มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก มีตั้งแต่ลักเล็กขโมยน้อย ติดยา ค้ายา พยายามฆ่า ลอบยิง วางระเบิด เต็มไปหมด ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการไว้แต่แรก

คือ อยากให้พวก ผกร. (ผู้ก่อการร้าย) ออกมาเข้าร่วม จึงถูกโจมตีจากส่วนต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพี่น้องที่นับถือศาสนาพุทธ

แม่ทัพจึงรีเซ็ต หรือเซ็ตซีโร่โครงการ โดยพวกที่เข้าโครงการช่วงปี 2555-2559 ให้หมดพันธะทางกฎหมาย (ชุบตัวเป็นผู้บริสุทธิ์) ซึ่งอาจมีโจรฆ่าคนปะปนไปบ้าง และเริ่มโครงการพาคนกลับบ้านใหม่ในปี 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เช่นเดิม คืออยากให้พวกผู้ก่อการร้ายออกมาเข้าร่วม และปรับเงื่อนไข ให้มีความรอบคอบมากขึ้น อันนี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไป

คำถามที่ 2 ทำไมต้องพาโจรกลับบ้าน?

คำตอบ (จากผู้รู้ระดับสูง) เขาบอกว่า เพื่อต้องการให้ผู้ที่หลงผิด (พวกที่วางระเบิด ลอบยิง เผาวัด เผาโรงเรียน) ใช้ความรุนแรงกับพี่น้องประชาชนได้มีโอกาสถอนตัวออกจากขบวนการ ทำให้การก่อเหตุลดลง ทำให้พี่น้องประชาชนปลอดภัยมากขึ้น และก็ยืนยันว่า ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายเท่าเทียมกันทุกคนอย่างแน่นอน

คำถามที่ 3 มีการให้ที่ดิน สร้างบ้าน ให้เงินทุน แก่โจร (ผู้เข้าโครงการพาคนกลับบ้าน) จริงหรือไม่

คำตอบ ไม่มีแน่นอน (จากผู้รู้ยืนยัน) ที่เป็นข่าวของ ศอ.บต. สร้างหมู่บ้านโจร แท้จริงแล้ว เป็นโครงการฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และแสวงประโยชน์ ให้เป็นที่ฝึกอาชีพให้กับพวกที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านชั่วคราวเท่านั้น การให้เงินและสร้างบ้านให้โจรก็ไม่มีเช่นกัน อาจมีก็เพียงแต่การช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมที่จำเป็นตามข่าวเท่านั้น

คำถามที่ 4 เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านแล้วไม่ติดคุกจริงไหม

คำตอบ ไม่จริง ถ้าผู้เข้าร่วมที่มีหมาย ป.วิอาญา ก็จะต้องดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งรัฐจะช่วยเหลือตามสมควร และต่อสู้ด้วยข้อมูลหลักฐาน ผิดว่าไปตามผิด ติดคุกได้

คำถามที่ 5 ทำไมแม่ทัพไปรับโจรได้ แต่เวลาทหารตายไม่เห็นไปส่งศพ

คำตอบ เนื่องจากปกติ พวกโจรที่ถูกหมายจับจะมีทางเลือก 2 ทาง คือ หนี และมอบตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกหนี เพราะฝ่ายโจรใช้การโฆษณาชวนเชื่อต่อพวกถูกออกหมายว่า ถ้ามอบตัว โชคดีก็ถูกซ้อมปางตาย โชคร้ายก็ถูกอุ้มหาย กลายเป็นผี ส่วนใหญ่จึงเลือกหนี จึงเป็นเหตุที่แม่ทัพต้องไปรับโจร (ผู้เข้าร่วมโครงการ) ด้วยตนเอง เพราะต้องการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้พวกก่อเหตุจริงๆ เข้ามอบตัว

ส่วนกรณีส่งศพทหารกล้า ท่านส่งเป็นประจำอยู่แล้ว แต่เพียงไม่ครบทุกนาย เนื่องจากท่านติดหลายภารกิจ ขอให้พี่น้องประชาชนเข้าใจ

คำถามที่ 6 โครงการพาคนกลับบ้าน ใครได้ใครเสีย

คำตอบ จากผู้รู้บอกว่าโครงการนี้ได้ประโยชน์ทุกคน โจรที่ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสสู้ภายใต้กระบวนการทางกฎหมาย ไม่ต้องกลัวถูกวิสามัญ และลดจำนวนพวกก่อเหตุลง เหตุการณ์ลดลง ประชาชนส่วนใหญ่ใน จชต. (จังหวัดชายแดนภาคใต้) ปลอดภัยมากขึ้น รัฐสามารถนำเงินที่ต้องแก้ไขปัญหา จชต.มาพัฒนาประเทศได้

ใครเสียประโยชน์ อันดับหนึ่งคือพวกผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุ เสียหายมากที่สุด เพราะการที่แนวร่วมออกจากขบวนการมาจำนวนมาก ทำให้องค์กรลับถูกเปิดเผยข้อมูลอาจนำไปสู่การจับกุมหรือทำลายขบวนการได้อย่างสิ้นซาก ดังนั้น การโจมตีให้ยกเลิกโครงการพาคนกลับบ้านส่วนหนึ่งมาจากแนวร่วมขบวนการที่ยุยง สร้างข่าวลือ ให้ข้อมูลที่ผิดพลาดแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อกดดันรัฐให้ยุติโครงการนี้ให้เร็วที่สุด รวมทั้งธุรกิจผิดกฎหมาย ขาดพวกรับจ้างสร้างสถานการณ์เพื่ออำพลางโยนเป็นเรื่องความมั่นคง

คำถามที่ 7 โครงการพาคนกลับบ้านนี้จะจบเมื่อไร

คำตอบ โครงการนี้มีการประเมินตามห้วงเวลา เมื่อเปรียบเทียบจำนวนคนเข้าร่วมโครงการ และจำนวนการก่อเหตุที่เกิดขึ้นเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่าเหตุการณ์การก่อเหตุลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ อาจเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จประการหนึ่ง แต่หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า เกิดผลเสียมากกว่าผลดี อาจมีการพิจารณาปิดโครงการต่อไป

คำถามที่ 8 อยากเข้าโครงการพาคนกลับบ้านต้องทำอย่างไร

คำตอบ ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน 2560 สามารถติดต่อที่ ฉก.หมายเลข 2 ตัว ศปก.อำเภอ ด้วยตนเอง ให้ตัวแทนเข้าติดต่อเพื่อความมั่นใจ หรือสามารถโทร.หาแม่ทัพได้โดยตรงที่หมายเลข 09-2532-4989 หลังจากจากนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการระเบียบต่างๆ หาที่พักชั่วคราว สำหรับผู้ที่มีความต้องการ และอำนวยความสะดวกต่างๆ ระหว่างรอดำเนินกระบวนการทางกฎหมาย

นี่คือข้อท้าทายโครงการพาคนกลับบ้านที่แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่จะต้องเผชิญ มิฉะนั้นความร่วมมือจากคนพุทธที่ได้สัญญากับท่านวันที่ 2 ตุลาคม 2561 จะมีปัญหาทันทีเพราะมันเป็นปัญหาทางความรู้สึกของชาวบ้านที่มีต่อกลุ่มคนที่เข้าร่วมโครงการ ความหวาดวิตก หวาดระแวง ที่เกิดขึ้นมาตลอดระยะเวลา 14 ปีของเหตุการณ์ความไม่สงบ

ปัญหายาเสพติด

จากการที่ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 (คนใหม่) ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดจะเป็นนโยบายต้นๆ ของการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยท่านเข้าเยี่ยมคารวะนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี วันที่ 1 ตุลาคม 2561 และร่วมพบปะผู้นำศาสนา ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม วันที่ 3 ตุลาคม 2561

นโยบายนี้ ท่านเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง จะขจัดทั้งผู้เสพและผู้ค้า โดยไม่มียกเว้นหากมีส่วนเกี่ยวข้อง จะดำเนินการอย่างเฉียบขาด ซึ่งการทำงานจะเน้นแนวทางสันติวิธี และใช้กฎหมายเป็นหลัก โดยเตรียมบูรณาการกับทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะมิติด้านศาสนาโดยใช้มัสยิด (มัสยิดสานใจ ป้องกันภัยยาเสพติด) เป็นฐานการแก้ปัญหาบูรณาการร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการอำเภอในพื้นที่กระจายลงสู่หมู่บ้านตำบล เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง

จากนโยบายนี้ ในแง่ทฤษฎีได้รับการตอบรับจากผู้นำศาสนา ผู้ปกครองในพื้นที่เป็นอย่างมากเพราะเป็นที่ทราบดีว่ายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่และถือว่าเป็นปัญหาแทรกซ้อนของปัญหาไฟใต้ ดังนั้น หากสามารถปฏิบัติเป็นรูปธรรม มวลชนจะกลับมายืนข้างรัฐทันทีโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงที่ประสบปัญหาช่วงแม่ทัพคนที่ผ่านมา

อย่างไรก็แล้วแต่ ควรถอดบทเรียนโครงการและปฏิบัติการในอดีตว่าทำไมยังไม่ประสบความสำเร็จทั้งที่มีด่านตรวจทุกย่อมหญ้า มีทหารหน่วยความมั่นคง 1 ต่อ 10 ของชาวบ้าน

โครงการใดดีแล้วจะต่อยอด พัฒนาอย่างไร (เช่น โครงการญาลันนันบารู) รวมทั้งทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ (หรือองค์กรเอกชนที่ทำแล้วเราจะหนุนเสริมอย่างไร) มีทั้งป้องกัน ปราบปราม พื้นฟู เพื่อนำสันติสุขกลับมา เช่น มีการจัดตั้งศูนย์ศาสนบำบัดยาเสพติดครบวงจร

หากแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่แก้ปัญหายาเสพติดได้ มวลชนก็จะตามมาเอง