สัมภาษณ์พิเศษชาวเมียนมา “ณ เวลานี้ ชนะเผด็จการทหาร คือเป้าหมายสูงสุด”

(Photo by AFP)

เหตุการณ์ในเมียนมาหรือพม่า หลังการรัฐประหาร กุมภาพันธ์ 2564 ที่กินเวลากว่า 2 ปี จากการประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจลุกลามเป็นสงครามกลางเมืองทั่วประเทศ กลายเป็นปมให้กับอาเซียนและโลกที่มองหาทางออกจากวิกฤตที่ภายในพม่ามองต่างกันจนมาสู่การใช้อาวุธห้ำหั่นระหว่างฝ่ายรัฐบาลทหารกับฝ่ายต่อต้านที่ดูเหมือนเสียเปรียบจากพลานุภาพของอาวุธสงคราม

แต่แล้วปฏิบัติการ 1027 ของกองกำลังชาติพันธ์ุ 3 ฝ่ายที่จับมือเป็นพันธมิตรได้เปิดฉากโต้กลับแบบไม่ให้กองทัพรัฐบาลทหารตอบโต้ได้ จนสูญเสียที่มั่นทางเหนือให้กับฝ่ายต่อต้านไป หลายคนมองเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามกลางเมืองที่ฝ่ายรัฐบาลทหารกำลังเข้าตาจน ในอีกด้านฝ่ายต่อต้านเห็นการเพลี้ยงพล้ำที่เป็นโอกาสเอาคืน

ทว่า สำหรับชาวพม่าหลายคน รวมถึง นิน เท็ต มู ขิ่น นักเคลื่อนไหวด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ มองว่า ยังเร็วไปที่จะเห็นตอนจบของสงครามนี้ และการต่อสู้นับจากนี้จะยิ่งทวีความดุเดือดมากขึ้น ฝ่ายรัฐบาลทหารจะยิ่งดิ้นรนหนักขึ้นเพื่อไม่ให้พ่ายแพ้

เพราะจุดจบคือการสูญเสียทุกสิ่งที่เคยได้มา

นิน เท็ต ปัจจุบันทำงานเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้ถ่ายทอดช่วงเวลาหลังคว้าปริญญาโทด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น แต่ไม่ได้กลับบ้านหลังทหารเข้ายึดอำนาจว่า ไม่ใช่เพียงเธอเท่านั้น ยังมีชาวพม่าอีกจำนวนมากอาศัยอยู่ที่ออสเตรเลีย พวกเขาทำการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการปฏิวัติประชาชนในเมียนมา

ชาวพม่าที่อาศัยอยู่ต่างแดนแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ลี้ภัยกับนักศึกษาที่เรียนอยู่ต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยหรือแรงงานอพยพมาตั้งแต่การลุกฮือในปี 1988 รวมถึงในปี 2009 (ปฏิวัติจีวรแดง) ด้วย

นิน เท็ต เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ว่าเป็นวันที่ลืมไม่ลงเลย เป็นวันเกิดที่แย่สำหรับตัวเอง ชีวิตหลายล้านทั่วประเทศต้องเปลี่ยนไปโดยกลุ่มคนหยิบมือ และชีวิตตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ช่วงที่เกิดเหตุการณ์กำลังเรียนต่ออยู่ยังไม่รู้อะไรมากนัก แต่พอนั่งนึกย้อนกลับไป ช่างน่ากลัวมาก

 

เมื่อถามถึงมุมมองต่อปฏิบัติการ 1027 ที่โต้กลับกองทัพรัฐบาลทหารจนล่าถอยและเสียพื้นที่ไปนั้น นิน เท็ต กล่าวว่า ยังเร็วไปที่จะพูดว่า ปฏิบัติการดังกล่าวจะนำไปสู่จุดสิ้นสุดของสงครามกลางเมืองทันที แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการอีกหลายอย่าง หลังจากประชาชนต้องได้รับความทุกข์ทรมานจากการปราบปรามโดยกองทัพพม่า

ตอนนี้ได้เกิดปฏิบัติการโต้กลับหลายจุดโดยกองกำลังชาติพันธุ์ตามศักยภาพของพวกเขา ซึ่งจะนำไปสู่ทิศทางของสงคราม แต่ยังหรอก เรายังไม่เห็นตอนจบของสงครามเพียงชั่วข้ามคืน

แต่เรามีความหวังว่า นี่จะเป็นจุดพลิกผันสู่อวสานของรัฐบาลทหาร

(Photo by Handout / MYANMAR MILITARY INFORMATION TEAM / AFP)

เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อความสนใจของคนที่ติดตามข่าวทั้งต่างประเทศและไทย ที่ไปสนใจกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนมากกว่าสงครามกลางเมืองในพม่าว่า ตัวเองคิดว่าเราจะสู้หรือไม่ในสงครามนี้ จริงๆคือเราสู้ในสงครามนี้อยู่แล้ว แต่ประเด็นคือ เราสู้เพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์ คนอ่อนแอ และลดความสูญเสียมากกว่าสนใจว่าใครจะชนะ

ดังนั้น ประเด็นจึงอยู่ที่ ต่อสู้ในสงครามพร้อมปกป้องผู้คน และต่อสู้บนหลักความยุติธรรม

เมื่อถามถึงบทบาทในฐานะนักศึกษากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โอกาสที่จะมีการสืบสวนเหตุการณ์จากการกระทำโดยมิชอบของรัฐบาลทหารพม่ามีมากแค่ไหน นิน เท็ต กล่าวว่า จะเป็นเรื่องดีถ้าเราชุดทำงานสืบสวนอิสระในเมียนมาอย่างที่ควรจะเป็น แต่นอกจากนั้น ยังมีประเด็นอีกว่า จะจำแนกด้วยว่า ใครเป็นพลเรือนไร้ทางสู้กับคนที่จับอาวุธต่อสู้ ใครต่อสู้ ใครปกป้อง นี่ไม่ใช่เรื่องของการล้างแค้นเอาคืนเพื่อทวงความเป็นธรรม เราทำเพื่อความยุติธรรมแต่ไม่ใช่ชำระแค้น เราต้องแบ่งให้ชัดถึง 2 สิ่งที่ต่างกันนี้

“นับตั้งแต่กระสุนนัดแรกลั่นเมื่อมีนาคม 2564 โลกทำได้แค่เฝ้าดูประชาชนมือเปล่าถูกฆ่า สหประชาชาติหรือใครก็ไม่มาปกป้องคนเมียนมา ทำให้ประชาชนต้องปกป้องตัวเอง นั้นทำไมคนธรรมดาต้องจับปืนสู้ นั้นแหละคือสิ่งที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าหากถึงวันที่การปฏิวัติประสบชัยชนะ ก็มีเรื่องที่ต้องทำคือกองกำลังชาติพันธุ์ที่ยังถืออาวุธอยู่ จะต้องมีนโยบายขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ นั้นรวมถึงการปฏิรูปด้านความมั่นคงทั้งหมด” นักปกป้องสิทธิมนุษยชน กล่าว

นิน เท็ต กล่าวเสริมว่า บางคนในประชาคมระหว่างประเทศคิดว่า คนเมียนมาเลือกใช้ความรุนแรง นั้นไม่จริงเลย กองทัพรัฐบาลต่างหากที่เลือกใช้ (กับประชาชนมือเปล่า) ประชาชนแค่เลือกปกป้องตัวเอง เราไม่ได้เลือกความรุนแรง แต่ความรุนแรงเลือกเรา ตัวอยากบอกให้ชัดตรงนี้

หลายคนที่จับอาวุธต่างเป็นผู้ประท้วงโดยสันติในแรกเริ่มทั้งสิ้น

(Photo by AFP)

เมื่อถามถึงบทบาทแก้ไขปัญหาของสหประชาชาติและอาเซียนที่ทำอยู่ขณะนี้ นิน เท็ต กล่าวด้วยน้ำเสียงเอือมระอาว่า พวกเขาควรทำอะไรมากกว่านี้ แม้แต่อาเซียนซึ่งก็ไม่รู้กำลังทำอะไรอยู่ นอกจากประชุมลับกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไร ประชาคมระหว่างประเทศ ต้องทำอะไรจริงจังกว่านี้เพื่อยุติความขัดแย้งในเมียนมาและคืนอำนาจให้ประชาชน

เมื่อถามถึงบทบาทของชาติมหาอำนาจที่อาจเกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองครั้งนี้ ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่า จีนเดินเกมส์ถือสองข้างทั้งฝ่ายรัฐบาลทหารและฝ่ายกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ โดยเฉพาะปฏิบัติการ 1027 ที่ยังได้นำไปสู่การทลายกลุ่มทุนจีนเทาที่ทำขบวนการคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่นั้น นิน เท็ต กล่าวว่า ชาวพม่าก็มีความกังวลต่อการแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจ

แม้เป็นแบบนั้น เป้าหมายเรายังคงชัดเจนคือ “การโค่นรัฐบาลเผด็จการทหาร” ดังนั้น ตอนนี้ขอเอาชนะรัฐบาลทหารให้ได้ก่อน ส่วนเรื่องอื่นค่อยว่ากันต่อไป ซึ่งหลายคนก็คิดเช่นนี้

(Photo by AFP)

นิน เท็ต ได้กล่าวถึงอนาคตหลังสงครามกลางเมืองจบลงว่า ในหัวตัวเองคิดอยากทำอะไรหลายอย่าง ทั้งสิทธิมนุษยชน การสร้างความเป็นหนึ่ง การสลายช่องว่างระหว่าง ชาวพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป หลังการปฏิวัติประชาชน คือการปฏิวัติทางอุดมการณ์ ชาวพม่าต้องจับมือร่วมแรงร่วมใจ กับหลายชนชาติ ต่างพื้นที่ ต่างศาสนา จากหลายที่มา ทำให้เป็นประเทศประชาธิปไตยอันสันติผาสุก

“เราต้องมีแนวทางและนโยบายที่ต้องทำให้ประชาชนที่จำต้องจับอาวุธเพื่อต่อสู้ในสงคราม กลับสู่วิถีชีวิตในฐานะคนธรรมดา ไม่ต้องจับปืนอีกต่อไป ทำให้การบริหารอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ประวัติศาสตร์จะต้องไม่ซ้ำรอย” นิน เท็ต กล่าว

เมื่อถามถึงการ สมานรอยร้าวทางเชื้อชาติในเมียนมานั้นได้รวมถึงชาวโรฮิงญาที่เคยถูกกระทำด้วยหรือไม่ นิน เท็ต กล่าวว่า แน่นอนว่ารวมอยู่ด้วย เพราะสายตาในตอนนี้เปลี่ยนไปจากในช่วงปี 2560-2561 ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องราวในรัฐยะไข่ ประชาชนถูกล้างสมองด้วยความเชื่อต่อชาวโรฮิงญาอย่างผิดๆ หลังจากการปฏิวัติสำเร็จ ประเทศชาติยุคใหม่จะแสดงความเอื้ออาทรต่อทุกชาติพันธุ์รวมถึงโรฮิงญาด้วย

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงสิ่งแรกที่อยากทำถ้ามีโอกาสได้กลับบ้านเกิดหลังต้องใช้ชีวิตต่างแดน นิน เท็ต กล่าวว่า อยากกลับไปกินอาหารบ้านเกิดตัวเอง อยากกลับบ้านเพื่อเดินทางไปพื้นที่ที่ยังไม่เคยเข้าไป แต่ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาถึงจุดนั้นแค่ไหน

 

แน่นอนว่า ประเทศไทยนั้นดีกว่าเมียนมา แต่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศบ้านเกิด ต่อให้นอนโรงแรมดีแค่ไหน ก็ยังไม่ใช่นอนในบ้านตัวเอง บรรดาเพื่อนชาวพม่าที่อยู่ในจังหวัดชายแดน หลังทราบข่าวปฏิบัติการ 1027 ก็เริ่มมีความหวังว่าจะได้กลับบ้าน แม้รู้กันว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ทำให้ทุกคนเห็นความหวัง เฝ้ารอให้วันนั้นมาถึง

ส่วนตัวเองนั้นมองว่ามีงานต้องทำและใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน แม้จะไม่ได้อยู่เมียนมา แต่ก็ทำทุกอย่างเพื่อประเทศบ้านเกิด ตลอด 2 ปีมานี้ เปลี่ยนชีวิตอย่างมาก ไม่ใช่ชีวิตอย่างที่วาดฝันไว้ แต่ตัวเองมาอยู่ตรงนี้แล้ว

อาจต้องใช้เวลา แต่เราจะคว้าชัยชนะนี้