ยุทธการ 22 สิงหา : เริ่มบท สงคราม ป้อมค่าย ผลักดันเหลือง ปะทะ แดง

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

สถานการณ์นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา เด่นชัดยิ่งว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นฝ่ายรุก รูปธรรมที่เด่นชัดอย่างที่สุด คือการรุกเข้าไปยึดครองทำเนียบรัฐบาล

การรุกของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นสภาพการณ์ที่เข้าใจได้ในการตอบโต้โดยตรงต่อรัฐบาลพรรคพลังประชาชน

เข้าใจได้เหมือนกับการรุกของพรรคประชาธิปัตย์ใน “รัฐสภา”

เมื่อการเคลื่อนไหวบนท้องถนนประสานเข้ากับการเคลื่อนไหวผ่านพื้นที่ในรัฐสภาก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งได้รับการหนุนเสริมจาก “องค์กรอิสระ” ก็ยิ่งมากด้วยความคึกคัก

ผลก็คือไม่เพียงแต่ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ต้องพ้นจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

หาก นายจักรภพ เพ็ญแข ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง “รัฐมนตรี”

และเมื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหยิบเอาปมว่าด้วยปราสาทเขาพระวิหารขึ้นมาประเด็นรุกไล่ต่อแต่ละจังหวะก้าวของกระทรวงการต่างประเทศในความสัมพันธ์กับกัมพูชา

ในที่สุด นายนพดล ปัทมะ ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง “รัฐมนตรี”

 

จังหวะก้าวหนึ่งของรัฐบาลในการตอบโต้ต่อการรุกของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ประสานกับการรุกของพรรคประชาธิปัตย์

เริ่มต้นจากการจุดประเด็นของพรรคประชาธิปัตย์

วันที่ 29 สิงหาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ได้เข้าหารือกับ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้เปิดประชุมรัฐสภาร่วมกันในวันที่ 1 กันยายน

เป้าหมายเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง

เน้นอย่างเป็นการจำเพาะไปยังกรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นที่ชุมนุม กระทั่งต่อมาเกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

คืนวันเดียวกันนี้แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลนัดหารือและเสนอให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาเป็นการฉุกเฉินในวันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม

เป็นการประชุมในลักษณะเดียวกันกับญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอันถือได้ว่าเป็นวิกฤตร้อนแรงของประเทศ

แต่เมื่อถึงวันประชุมรัฐสภาเข้าจริงๆ ที่ประชุมก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้

โดยพรรคประชาธิปัตย์และ ส.ว.บางส่วนได้เสนอให้ นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกหรือยุบสภา

แต่ได้รับการปฏิเสธจากทางด้านของรัฐบาล

เด่นชัดยิ่งว่าข้อเสนออันมาจากพรรคประชาธิปัตย์เมื่อประสานเข้ากับความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาก็ก่อรูปขึ้นเป็นกระแสและความต้องการให้ นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกเพื่อตัดปมแห่งวิกฤต

นี่ย่อมเป็นการรุกที่กลายเป็น “ประเด็น” และดำเนินไปในลักษณะกดดันต่อ นายสมัคร สุนทรเวช โดยตรง

เป็นการกดดันขณะที่กรณี “ชิมไป บ่นไป” อยู่ใน “ศาลรัฐธรรมนูญ”

 

ภาพ 2 ภาพที่ปรากฏขึ้นหากมองจาก “การเคลื่อนไหว” ภาพหนึ่งเป็นภาพของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ภาพหนึ่งเป็นภาพการรวมตัวกันของประชาชนที่ออกมาปกป้องรัฐบาล

ภาพแรกเด่นชัดที่ทำเนียบรัฐบาลและบริเวณโดยรอบ

ภาพหลังในเบื้องต้นก่อตัวขึ้นที่สวนจตุจักรค่อยๆ สะสมกำลังแล้วจึงไปปักหลักอยู่ที่ท้องสนามหลวง รอจังหวะในการเคลื่อน

นี่เป็นภาพอันต่างไปจากยุค 2552 และต่างไปจากยุค 2553

การก่อรูปขึ้นของมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลพอจะมองออกว่ามาจากสายใดในทางการเมืองของพรรคพลังประชาชน

เป็นมวลชนจากหลายจังหวัดในภาคอีสานตอนใต้

แต่ยิ่งชุมนุมการนำก็จะค่อยๆ เปลี่ยนมือไปอยู่ในความกำกับของกลุ่ม นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และรวมทั้ง นายจักรภพ เพ็ญแข มากยิ่งขึ้น

ความหมายก็คือ การก่อรูปขึ้นของ “นปก.” อันเป็นองค์กรมวลชนก่อนการจัดตั้งเป็น “นปช.”

องค์กรนำรวมศูนย์อยู่ที่ PTV เพื่อต่อกรกับ ASTV

 

เมื่อมีการตั้งป้อมค่ายระหว่างการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับการชุมนุมของแนวร่วมต่อต้านเผด็จการ การระดมพลังเข้ามาเพื่อเสริมเติมปริมาณและสร้างความคึกคักมีความจำเป็น

นปก.เริ่มขยายแนวร่วมไปยังต่างจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นฐานคะแนนเสียงพรรคพลังประชาชน

นัดหมายกันที่ศาลากลางจังหวัด แล้วเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร

ในวันที่ 1 กันยายน 2551 กลุ่มต่อต้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่รวมพลังกันอยู่ท้องสนามหลวงเพิ่มปริมาณมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับตัดสินใจเคลื่อนขบวนไปบนถนนราชดำเนินฝ่าด่านตำรวจ

ไปจนเกิดการปะทะกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่หน้าองค์การสหประชาชาติ

อันเป็นหน้าด่านของพันธมิตรก่อนที่จะเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล

ผลก็คือเกิดการบาดเจ็บและสถานการณ์เริ่มบานปลายและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเสียชีวิตไป 1 ราย

เท่ากับการต่อสู้ได้เข้าสู่ระดับหลั่งเลือด พลีชีพ

 

ผลทางด้านมวลชน ฝ่ายต่อต้านพันธมิตรสนับสนุนรัฐบาลบริเวณถนนราชดำเนินได้สลายตัวและย้ายไปชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ

สะท้อนให้เห็นว่าพลังส่วนใหญ่เป็นพลังจากส่วนใดของพรรคพลังประชาชน

นั่นย่อมเป็นพลังที่มีความสัมพันธ์อยู่กับ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อยู่กับ นายวรชัย เหมะ

ขณะเดียวกัน รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ

นั่นก็คือ การประกาศและบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา 07.00 น. ของวันที่ 2 กันยายน

อ้างเหตุผลจากการปะทะและมีผู้เสียชีวิต

พระราชกำหนดนี้มอบหมายให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้ารับผิดชอบ

เวลา 10.00 น. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะหัวหน้ารับผิดชอบพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เรียกหน่วยงานด้านความมั่นคงและส่วนราชการต่างๆ เข้าประชุม

และแถลงว่า “จะแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยโดยยึดถือระบอบประชาธิปไตยและจะไม่ให้ประชาชนปะทะกันอีก”

สถานการณ์โดยรอบดำเนินไปอย่างไร

 

ดําเนินไปโดยที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังปักหลักยึดทำเนียบรัฐบาลและดำเนินกิจกรรมท้าทายโดยตรงไปยังรัฐบาล

พรรคประชาธิปัตย์แถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาล

ขณะที่ทางด้านวุฒิสภา กลุ่ม ส.ว.ที่เรียกตนเองว่า “กลุ่ม 40 ส.ว.”ออกแถลงการณ์คัดค้านโดยเตรียมเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุดให้ระงับคำสั่งของรัฐบาล

เรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลกดดันให้ นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

กระแสที่ก่อรูปขึ้นและทวีความร้อนแรงเป็นลำดับก็คือ กระแสเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก กระแสกดดันให้ นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แม้กระทั่งกลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษาก็ประกาศจะหยุดเรียน เพื่อกดดัน