ย้อนคดี ผลจาก“เครื่องจับเท็จ” นำ ใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้เพียงใด ?

จากกรณี ข่าวการเสียชีวิต ของคุณนิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม นักแสดงชื่อดังโดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์ เพื่อร่วมทริปล่องเรือในครั้งนี้ นำมาสู่ข้อสงสัยเกี่ยวกับสาเหตุและเรื่องราวบนเรือจนนำมาสู่การเสียชีวิตมากมาย

ล่าสุด วันนี้ (วันที่ 28 ก.พ.) ที่ สภ.เมืองนนทบุรี พ.ต.อ.จาตุรนต์ อนุรักษ์บัณฑิตย์ ผกก.สภ.เมืองนนทบุรี ได้เปิดเผยความคืบหน้าคดี การเสียชีวิตของ แตงโม-นิดา รวมทั้ง เตรียมเรียกเพื่อนแตงโม ทั้ง 5 คนในเรือ เข้า ‘เครื่องจับเท็จ’ ตอบประเด็นที่สังคมสงสัยให้เคลียร์

สำหรับการใช้เครื่องจับเท็จนั้น จะสามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานในคดี ในชั้นศาลได้เพียงใด

มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์ ได้ไปค้นคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีที่เคยนำเครื่องจับเท็จมาใช้ และนำไปอ้างอิงในชั้นศาล และศาลวินิจฉัยในส่วนการนำเครื่องจับเท็จมาใช้ ในคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 734/2553 ความว่า “เครื่องจับเท็จก็เป็นเพียงเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ที่นำผลการตอบคำถามของจำเลยมาวิเคราะห์ตามหลักวิชาการ แล้วประเมินผลจากการวิเคราะห์นั้นว่า จำเลยพูดจริงหรือเท็จ อันมีลักษณะเป็นเพียงความเห็นในทางวิชาการ ย่อมไม่อาจนำมาพิสูจน์ทราบ ถึงข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยเป็นที่แน่ชัดได้ ต่างกับการพิสูจน์ตัวบุคคล ที่อาจพิสูจน์ทราบได้โดยอาศัยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์”

สำหรับ รายละเอียด คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 734/2553 มีดังนี้

แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะมีร้อยตำรวจเอกหญิงผู้ชำนาญด้านเครื่องจับเท็จ กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ตรวจพิสูจน์จำเลยเป็นพยานเบิกความว่า ได้ตั้งคำถามจำเลยว่า

1. คุณเป็นคนฆ่าผู้ตายใช่หรือไม่

2. ในวันเกิดเหตุคุณใช้อาวุธทำร้ายร่างกายผู้ตายจนตายใช่หรือไม่ และ

3. คุณเป็นคนฆ่าผู้ตายในบ้านที่เกิดเหตุใช่หรือไม่

ปรากฏว่าจำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อ ซึ่งจากการวิเคราะห์ผ่านเครื่องจับเท็จแล้ว ได้ความว่าจำเลยให้การเท็จ เนื่องจากผลคลื่นกราฟแสดงว่า จำเลยโกหกในคำตอบทั้ง 3 ข้อ พยานเชื่อว่า จำเลยเป็นผู้ฆ่าผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม

เครื่องจับเท็จก็เป็นเพียงเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ที่นำผลการตอบคำถามของจำเลยมาวิเคราะห์ตามหลักวิชาการ แล้วประเมินผลจากการวิเคราะห์นั้นว่า จำเลยพูดจริงหรือเท็จ อันมีลักษณะเป็นเพียงความเห็นในทางวิชาการ ย่อมไม่อาจนำมาพิสูจน์ทราบ ถึงข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยเป็นที่แน่ชัดได้ ต่างกับการพิสูจน์ตัวบุคคล ที่อาจพิสูจน์ทราบได้โดยอาศัยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์

ดังนั้น เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบให้เห็นว่า จำเลยฆ่าผู้ตายประการใด ลำพังเครื่องจับเท็จและความเห็นของร้อยตำรวจเอกหญิงผู้ชำนาญด้านเครื่องจับเท็จ ยังไม่อาจรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายฆ่าผู้ตายดังที่โจทก์ร่วมฎีกาได้

ประกอบกับ จำเลยก็ให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ต้น พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำผิดจริงหรือไม่

ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2