ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล : ศิลปะการเป็นนายธนาคารกลาง (2)

ตอน 1 2 จบ

สดุดี(คนอื่น)
ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์ (เรียบเรียง)

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล (ตรวจ)

กระบวนการทำนโยบาย

ผู้ว่าการประสาร ไตรรัตน์วรกุล บอกว่า โชคดีที่ท่านผู้ว่าการจัตุมงคลเข้ามาปรับกระบวนการทำนโยบายการเงินให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

กล่าวคือ สมัยก่อนแบงก์ชาติจะขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ย จะลดหรือไม่ลดดอกเบี้ย หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน จะทำค่อนข้างเป็นเรื่องภายใน ไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูล กระบวนการดำเนินนโยบายการเงิน ประชาชนจะไม่มีส่วนร่วม เรื่องพวกนี้จะตัดสินโดยผู้ว่าคนเดียว ซึ่งต่างจากสมัยหลังการตัดสินเป็นองค์คณะบุคคล

ตัวอย่าง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีองค์คณะ 7 คน จากภายใน 3 คนและคนนอก 4 คน ก่อนตัดสินใจจะมีการวางตารางเวลาและให้คนในตลาดการเงินรู้ว่า จะประชุมเมื่อไหร่ มีการออกรายงานเศรษฐกิจทุกๆ ไตรมาส ในการประชุมแต่ละครั้งก็จะมีการแถลงข่าวผลการประชุม มีการเปิดเผย ผลการลงคะแนนเสียง หลังการประชุม 3 สัปดาห์ก็มีการเปิดเผยรายงานการประชุม

นอกจากนี้ ข้อมูลประกอบการตัดสินใจส่วนหนึ่งนำมาจากข้อคิดเห็นของภาคธุรกิจและประชาชนด้วย

สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการสร้างธรรมาภิบาลในการดำเนินนโยบาย ซึ่งนำไปสู่การมีส่วนร่วม ความน่าเชื่อถือ โปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเป็นการสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย


การสื่อสาร

ขณะเดียวกันในเรื่องของการสื่อสารก็พยายามมองยุทธศาสตร์หรือ Strategy โดยนำ Balanced Scorecard หรือ Strategy Map มาใช้ ก็จะเห็นว่า “การสื่อสาร” เราได้วางเรื่องเอาไว้ และพยายามคิดว่า ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ของเรามีใครบ้าง เพราะนอกจากที่นักข่าวมาถาม ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะหน้าแล้ว เราก็พยายามที่จะเข้าถึง Stakeholders กลุ่มต่างๆ ซึ่งทางฝ่ายเขาก็มีความพยายามที่จะเชิญไปพูดอยู่แล้ว ปาฐกถาพวกนี้ไม่ได้ไปแบบ Random หรือแบบสุ่ม แต่ไปตาม Stakeholders กลุ่มต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจกับกลุ่ม Stakeholders

ตัวอย่างเช่น Stakeholder ที่เป็นกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มนักธุรกิจเอกชน กลุ่มสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ กลุ่มหอการค้าต่างประเทศ เหมือนกับว่า เรามี Map ในเชิง Communication Strategy

แน่นอนในส่วนที่ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน (ผน.) ซึ่งเป็นเลขานุการ (กนง.) ก็ทำในเรื่องของความโปร่งใส ผน.ก็ทำหน้าที่อธิบาย Fact ว่า กรรมการ กนง. มีข้อคิดอย่างไร ซึ่งเป็น communication strategy อย่างหนึ่ง

แต่เป็น Fact base โดยเล่าต่อว่า กรรมการ กนง. คิดอย่างไร


การเมืองท้าทาย

แน่นอนในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา มีเรื่องเยอะ เช่น

ยุคประธานคนที่ 2 สถานการณ์ขณะนั้น รัฐบาลเขาก็ต้องใช้จ่ายมาก ด้วยนโยบายต่างๆ ที่ใช้หาเสียงในช่วงเลือกตั้งและยังเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่มาซ้ำเติม เขาดูแล้วมีหนี้สาธารณะก้อนหนึ่งที่เรียกว่า หนี้กองทุนฟื้นฟูที่เกิดจากการแก้ปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินปี 2540 และเป็นหนี้สูงถึง 1.14 ล้านล้านบาท

เขาก็มีความคิดโอนหนี้ออก เพื่อมีพื้นที่ในการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งเขาก็อาจไม่ได้ดูในรายละเอียดที่ดีพอ ตั้งใจออกพระราชกำหนดและโอนหนี้ก้อนนี้เบ็ดเสร็จมาที่แบงก์ชาติ

เขาอาจมองระยะสั้นว่า การใส่หนี้ลงที่แบงก์ชาติไปเลยจะได้มีพื้นที่กู้เงินเพิ่มถึง 1.14 ล้านล้านบาท โดยไม่ได้ศึกษาภารกิจของธนาคารกลางของประเทศว่า บัญชีของแบงก์ชาติเองก็ต้อง รับภาระหนักอยู่แล้ว เหตุเพราะว่า นโยบาย QE จากต่างประเทศมีผลให้เงินทุนไหลเข้าประเทศมาก การดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติก็ต้องดูดซับสภาพคล่องด้วยการออกพันธบัตรที่มีต้นทุนดอกเบี้ยมากกว่าผลประโยชน์จากการเอาเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุน ถ้าเขาทำสำเร็จก็อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของแบงก์ชาติที่อาจทำให้ไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้ด้วยดี ซึ่งก็จะเกิดผลเสียระยะยาว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ต้องยอมรับว่า 5 ปีที่ผมอยู่ในตำแหน่งเป็นช่วงวิกฤตการเงินโลก ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนมาก แรงเสียดทานย่อมมากเป็นธรรมดา

“ในยุคท่านผู้ว่าการประสาร ไตรรัตน์วรกุล มีสถานการณ์มากมายที่เป็นชนวนให้เกิดปรากฏการณ์ “ปลดผู้ว่าการ” อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผมก็ติดตามดู และทราบจากการบอกเล่าว่าในคณะกรรมการแบงก์ชาติเคยมีการระบุความไม่เหมาะสมของท่านผู้ว่าการประสารและบันทึกรายงานการประชุมไว้”

… “สดุดี (คนอื่น)” โดย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล


“ศิลปะ” ในการก้าวข้ามความท้าทาย

เวลาความเห็นของเราไม่ตรงกับเขา ที่สำคัญมากคือ “เราต้องมีหลักความเป็นผู้ใหญ่” คือ ฟังเหตุผลทางเขา และก็หาโอกาสอธิบายเหตุผลทางเรา ซึ่งในแต่ละครั้งที่ผ่านมา เราก็พยายามและเวลาขัดแย้งกันหนักๆ ก็ไม่ใช่ว่า อยู่ดีๆ เราจะไปต่อล้อต่อเถียงทุกจังหวะก็ไม่ใช่ ก็จะฟังว่า เขามีเหตุผลอะไร ในที่ประชุม เราก็อธิบายเหตุผลทางเรา ในที่สาธารณะ เราก็อธิบายเหตุผลและให้ข้อมูลต่อประชาชน ที่สำคัญ คือเราต้องไม่รู้สึกเหนื่อยกับการอธิบาย นี่คือตัวอย่าง

เมื่อมองย้อนไปก็ตกใจนะ ในช่วง 5 ปี ผมไปปาฐกถาแบบเป็นเรื่องเป็นราวเกือบ 180 ครั้ง ทั้งในและต่างประเทศ ปาฐกถาเหล่านี้ผมไม่ได้ไปแบบสุ่ม แต่เลือกไปตาม stakeholders กลุ่มต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถทำความเข้าใจกับทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึง

ผมคิดว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของงานผู้ว่าการ เป็นความรับผิดชอบของเราที่ต้องอธิบาย นอกจากนี้ ก็ต้องอธิบายที่เป็นเล็กๆ น้อยๆ อีกเยอะ วงเล็กวงย่อยก็ต้องอธิบาย ซึ่งนี่ยังไม่รวมการพบปะกับกลุ่มต่างๆ ที่ไม่เป็นทางการ

แต่ท้ายสุดอำนาจทางการเมืองที่เขามีเหนือเราอยู่แล้วและบั้นปลายคือ

“เขามีอำนาจที่จะเอาเราออก”

นั่นคือสิ่งที่ต้องยอมรับ แต่ไม่ใช่เงื่อนไขที่ต้องยอมถอยจากหลักที่วางไว้

ประสบการณ์ในอดีตทำให้ผมเห็นตัวอย่างว่า “มันมีชีวิตหลังตำแหน่ง” คือ ผู้ว่าการท่านหนึ่ง ซึ่งผมไม่ประสงค์จะออกนาม รัฐมนตรีที่มาจากฝ่ายการเมืองบังคับให้ท่านลดดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่ขณะนั้นดูจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยแล้วไม่ควร

สุดท้ายท่าน “ยอม” ลดดอกเบี้ย หลังจากนั้น ท่านก็ถูกให้ลาออกอยู่ดี และรัฐมนตรีคลังก็ไม่ต้องอธิบายเหตุผล แค่เอาชื่อผู้ว่าการท่านใหม่เข้าไปในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเช้าวันอังคาร โดยทั่วไปวิธีปฏิบัติคือ คนใกล้ชิดรัฐมนตรีคลังก็อาจจะโทรศัพท์มาบอกผู้ว่าการว่า “ให้ยื่นใบลาออกซะ”

ตอนที่ท่านกำลังจะออก ท่านก็เสียใจว่า “ท่านยอม”

อุทาหรณ์ก็คือ ยังไงวันหนึ่งก็ต้องออกจากตำแหน่ง แต่พอออกจากตำแหน่งแล้วเรารู้สึกอย่างไร ท่านเองก็รู้สึกว่า ไม่สบายใจ เพราะในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่ง “ท่านยอม” นั่นชี้ให้เห็นว่า “เรามีชีวิตหลังออกจากตำแหน่ง” แต่เราจะรู้สึกภูมิใจหรือไม่ภูมิใจกับช่วงที่เราอยู่ในตำแหน่งนั่นเป็นตัวสำคัญ

แต่คนมักจะถามว่า เราจะใช้เรื่องของการ “ลาออก” หรือไม่ออกไปต่อสู้กับฝ่ายการเมืองหรือไม่

ผมก็ตอบว่า “คิดว่าไม่ใช่” เพราะถ้าผู้ว่าการธนาคารกลางอยู่ดีๆ และด้วยเรื่องที่ไม่ได้หนักหนาสาหัสเกินไป เสร็จแล้วไปลาออก ประชาชนก็จะเบื่อหน่าย จึงต้องเป็นเรื่องที่สำคัญจริงๆ

การลาออกต้องมีความหมาย คือ ต้องให้ฝ่ายการเมืองไปตอบคำถามประชาชน อันนั้นถึงจะมีความหมาย โดยทั่วไป เขาใช้ไม่ใช่เฉพาะไทย แต่ประเทศอื่นด้วย คือต้องให้ฝ่ายการเมืองมีภาระไปอธิบายกับประชาชน แต่ถ้าสมมติว่า ลาออกเสร็จแล้ว ฝ่ายการเมืองไม่ต้องมีภาระอะไรไปอธิบายประชาชน ก็ไม่มีความหมาย

ที่เล่าเรื่องตรงนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า เรามุ่งไปที่ประเด็นหลัง แต่เราต้องทำงานมาก่อนหน้ามากกว่าจะอธิบายเหตุผลในช่วงที่มีปัญหา

ก็คือต้องให้ประชาชนเข้าใจและมีศรัทธา กล่าวคือ

ในยามที่ฝ่ายการเมืองทำอะไรไม่ถูกต้อง อย่างเช่น ในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปกลางปี 2554 ทุกพรรคก็แข่งกันออกนโยบายประชานิยม หลายอย่างอาจได้ผลในระยะสั้น แต่จะเกิดผลเสียในระยะยาวมหาศาล ซึ่งก็พิสูจน์ในภายหลัง อาทิ นโยบายจำนำข้าว หรือนโยบายรถคันแรก ในยามนั้น เราก็ต้องมีความกล้าพอในการที่จะทัดทาน ทัดทานด้วยเหตุผล ไม่ใช่ไปตีโพยตีพาย

ในยามปกติก็ต้องทำเรื่องเหล่านี้ หรือให้ประชาชนเห็น เพราะพอถึงคราวจำเป็นจะต้องใช้ ก็จะได้มี Record เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์

Record นี้คือ “การรับรู้” ของประชาชน

บางครั้ง ถ้าฝ่ายการเมืองเขาทำอะไรไม่ถูกต้องแล้วเราเฉยๆ อย่างนี้ไม่พอ พอถึงตรงที่จะต้องขอแรงสนับสนุนจากประชาชน “มันไม่มา”

เหมือนกับบางคนพยายามแยกความแตกต่างของความหมายระหว่างคำว่า “ซื่อสัตย์สุจริต” กับคำว่า “Integrity” ในภาษาอังกฤษ คำว่า “Integrity” มีความหมายลึกซึ้งกว่า “ซื่อสัตย์สุจริต”

ซื่อสัตย์สุจริต ในเชิงความหมายมันหยุดแค่ “ไม่คดโกง ไม่ทุจริต” แต่แค่นั้นไม่พอ

Integrity ในตำแหน่งอย่างผู้ว่าการธนาคารกลาง ถ้าเห็นว่า อะไรจะเป็นอันตรายกับประเทศต้องทัดทาน การเงียบเฉย

แล้วบอกว่า “เพียงพอ” มันไม่พอ

แล้วบอกว่า “ไม่ทุจริตคดโกง” มันไม่ได้