ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล : ศิลปะการเป็นนายธนาคารกลาง (จบ)

ตอน 1 2 จบ

สดุดี(คนอื่น)
ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์ (เรียบเรียง)

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล (ตรวจ)

การสร้าง Public Trust

ผู้ว่าการประสาร ไตรรัตน์วรกุล บอกว่า เวลาเราอยู่ในภาคทางการก็มีประโยคที่ Classic เลยก็คือ “Public Office is a Public Trust” เมื่อแบงก์ชาติเป็นองค์กรสาธารณะ (Public Office) ก็ต้องสร้างบารมีให้ประชาชนไว้วางใจ (Public Trust) ในทางตรงข้าม ถ้าไม่สามารถทำให้ประชาชนไว้วางใจแล้ว องค์กรสาธารณะก็ไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้น หัวใจคือ Trust คือมันเปล่าประโยชน์ถ้าเรามีตำแหน่ง Public Office แต่ไม่มี Public Trust หัวใจจึงต้องสร้าง Public Trust ตัวนี้

การสร้าง Public Trust ไม่ได้มองเฉพาะตำแหน่งผู้ว่าการแต่ต้องสร้าง Public Trust ให้กับทั้งองค์กร คือ แบงก์ชาติ และพยายามบอกสมาชิกในองค์กรให้มีหลักอ้างอิง จำได้ไหมที่พยายามพูดถึงค่านิยมร่วม 4 คำ คือ ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน จะเห็นว่า มีมิติหลากหลายมากกว่า เพราะ Public Office is a Public Trust เหมือนเป็นเป้าหมาย

แต่ วิธีที่จะไปสู่ Trust ตัวนี้มันจะต้องมีกรรมวิธี ซึ่งจะมาจากอะไรก็แล้วแต่ แต่ก็พยายามใช้หลัก 4 ข้อนี้ คือ ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน ถ้าทำประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นแนวทางปฏิสัมพันธ์กับ Stakeholders ของเรา ถ้ามี 4 ข้อนี้ในใจ ก็จะนำไปสู่ Public Trust ได้ คือ

ยืนตรง คือ เราต้องมีหลักการที่ดี หลักการในที่นี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะ “ซื่อสัตย์สุจริต” อย่างเดียวเพราะซื่อสัตย์สุจริตอย่างเดียวไม่พอ แต่ถ้าเห็นใครทำอะไรไม่ดี ก็ต้องทัดทาน อันนี้คือเรื่อง การยืนตรง

มองไกล ก็คือให้คิดหน้าคิดหลัง คิดสั้นคิดยาว โดยเฉพาะแบงก์ชาติที่เจอผลนโยบายบ่อยก็คือ อาจได้ผลดีระยะสั้น แต่ผลเสียระยะยาวมหาศาล พวกนโยบายประชานิยม หรือนโยบายกระตุ้นทั้งหลาย หรือฉาบฉวย และเป็นภัยร้ายแรงต่อมา

สองเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่แบงก์ชาติเก่งอยู่แล้ว ตั้งแต่ผมเข้ามาก็ได้รับสดับฟังจากคนข้างนอก และผมได้ให้สำรวจการรับรู้ (Perception Survey) ของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ทั้งจากภายในและภายนอก ก็ยืนยันตรงกันว่า “คนแบงก์ชาติมีหลักการดี มีความซื่อสัตย์” และด้วยเราฝึกมาทางด้านวิชาการ จึงมักมีบทวิเคราะห์ต่างๆ ทั้งสั้นและยาว

แต่ที่เพิ่มอีก 2 ข้อหลัง เห็นว่าเป็นจุดอ่อน ต้องแก้ไขเพิ่มเติม

เรื่องแรกคือ เรื่องยื่นมือ อันนี้เป็นอันที่ถ้าครบ 5 ปี แล้วทำได้ก็ถือว่า เป็นความสำเร็จ (Achievement) เพราะคนแบงก์ชาติถูกฝึกมาให้ซื่อสัตย์สุจริตและไม่สุงสิงกับกลุ่มผลประโยชน์ ไม่รับสินจ้าง ไม่รับอะไรทั้งสิ้น ที่เห็นชัดเจนคือ กลุ่มผู้ตรวจสอบธนาคารพาณิชย์เราถูกสอนมาตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นเลยว่า ห้ามรับเลี้ยงจากธนาคารพาณิชย์ ตรงนี้ก็จะทำให้รู้สึกว่า เราปิดตัวเอง

แนวคิดเรื่องยื่นมือ อยากให้เราเป็นฝ่ายไปประสานงานกับคนอื่น หรือ รับรู้ปัญหาของคนอื่น เปิดฟังความเห็นของเขา ช่วยแก้ไขปัญหาของเขาหากทำได้

ในกระบวนการของเราอาจเปิดให้เขามีส่วนร่วมด้วย พวกการรับฟังต่างๆ ซึ่งก็ทำหลายเรื่อง

เช่น ศูนย์ให้ความคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) อะไรต่างๆ พยายามรับฟังปัญหาของเขา ยื่นมือออกไปช่วยเหลือเรื่องการวางแผนทางการเงิน การออม หรืออย่างสายนโยบายการเงินระยะหลัง ก็ออกพบผู้ประกอบการมากขึ้น นอกจากเราดูตัวเลขมหภาคแล้วก็มีเจ้าหน้าที่ลงไปคุยกับภาคธุรกิจเพื่อนำมาประกอบภาพการวิเคราะห์เศรษฐกิจ

หรือเมื่อผมไปกล่าวปาฐกถาที่สำนักงานภาค เขาก็มักจัดต่อด้วยการให้นักธุรกิจมาทานข้าวด้วย 10-20 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เขาทำธุรกิจแล้วมีปัญหาหรือไม่ อัตราแลกเปลี่ยนมีปัญหากับเขาหรือไม่ หรือกระบวนการออกกฎก็ทำกันมา ระยะหลังก็จะมีการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) มากขึ้น

หรืออย่างเราทำแผนก็ถือโอกาสเอาผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาให้ข้อคิดเห็น หรือหน่วยงานเศรษฐกิจด้านอื่น เวลานี้ก็มีผู้แทนเราเข้าไปร่วมประชุมด้วย นี่คือตัวอย่างด้านการยื่นมือ

เรื่องติดดิน ก็สังเกตอยู่ว่า คนภายนอก โดยเฉพาะภาคธุรกิจบางครั้งก็มีข้อวิจารณ์ว่า ที่เราคิดก็ไม่ชินกับภาคปฏิบัติว่าของจริงตลาดธุรกิจเป็นอย่างไรบ้าง เวลานี้เราก็เปิดให้ยืมตัวไปปฏิบัติงาน (Secondment) และเซ็นลงนามข้อตกลง (MOU) กับหน่วยงานภาคธุรกิจ 10-20 กว่าแห่งที่จะส่งพนักงานเราไปทำงานกับเขา 6 เดือนหรือ 1 ปีบ้าง ระบบรับพนักงาน (Recruitment) ระยะหลังก็ยืดหยุ่นขึ้น และเปิดรับพนักงานที่มีประสบการณ์ในภาคปฏิบัติด้วย

และเรื่องติดดินก็หมายถึงการถ่อมตนด้วย ก็พยายามปลูกฝังว่า เราต้องพยายามถ่อมตน

ที่อธิบายยืดยาวก็เพื่อจะเสริมเรื่อง “การก้าวข้าม” ว่า เราได้ทำงานมาก่อนหน้าในหลายมิติ และสิ่งเหล่านี้คือกระบวนการสร้างความไว้วางใจของแบงก์ชาติต่อประชาชน ส่วน “ศิลปะ” ในการเผชิญหน้ากับความท้าทายก็เป็นส่วนหนึ่ง

แต่ถ้าไม่เคยทำอะไรมาก่อน หรือประชาชนไม่มี Record คงไม่พอเช่นกัน

 

Public Trust นำมาสู่ความ “อิสระ” หรือไม่?

ความจริงผมไม่ชอบคำว่า “อิสระ” เพราะต้องอาศัยความเข้าใจความหมาย และเป็นคำที่ต้องระมัดระวัง

ผมคิดว่า รากฐานที่จะนำมาสู่ความเป็นอิสระ คือ

“ควรทำในสิ่งที่ถูกต้อง และ

ต้องไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”

โดยทั่วไป คนจะไปให้น้ำหนักเฉพาะในส่วนหลัง ก็หนักเอาการอยู่ เพราะเขามีอำนาจเหนือเรา ถ้าเขามาบังคับให้เราทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ซึ่งในส่วนนี้ เขาไม่ถึงกับบังคับเรา แต่เราก็ถือว่า เขาทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราก็ต้องถือเป็นเหตุให้เราจะต้องไปทัดทานด้วย แต่มันเป็นแค่ครึ่งเรื่องเท่านั้นเอง

อีกครึ่งเรื่อง เป็นเรื่องที่เราจะต้องไม่ถือดี (Ego) ไม่ดื้อ ถ้าสิ่งที่เราทำอยู่ สิ่งที่เราเชื่อ ต่อมาภายหลังมันมีเหตุผลทำให้เราเห็นว่า “อาจไม่ถูกต้อง” เราเป็นฝ่ายไม่ถูกต้อง เราต้องถ่อมตน และก็ไม่ดื้อ อันนี้ถึงจะนำไปสู่หลักการ “ทำในสิ่งที่ควรทำ และไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ” เราต้อง “ไม่ดื้อในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง” จึงเรียกว่า “ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ” นั่นคือ ส่วนแรกที่มาจากคำว่าติดดิน คือ “เราต้องถ่อมตน”

บางครั้ง ในการบริหารงานผมก็เคยเจอ เช่น บางครั้งความเห็นพนักงานภายในก็จะบอกว่า “อย่างนี้จะทำให้เราเสียความน่าเชื่อถือ (Credibility) ทำแล้วเสียหน้าอย่างนี้” เราก็ต้องเตือนตัวเองเสมอว่า “ต้องไม่ใช่นะ ถ้าเราอยากจะให้คนเชื่อถือ เพื่อให้เราสามารถมีความคิดและบางครั้งทำได้อิสระจากความไม่ถูกต้อง”

ถ้าเริ่มต้นคิดว่า “ธนาคารกลางต้องเป็นอิสระ มันเริ่มจากสมมติฐานว่า เราเป็นผู้ถูก เขาเป็นผู้ผิด” เราถึงต้องเป็นอิสระจากผู้ผิด

ในโลกความจริงไม่เป็นอย่างนั้น

บางครั้ง เราถูก เขาผิด

บางครั้ง เราผิด เขาถูก ก็เป็นได้

แต่ทั้งหมดคือ การดำรงสถานะที่น่าเชื่อถือ ก็คือ เราไม่ทำในสิ่งที่ผิด และถ้าเราเห็นว่า เขาทำผิดเราต้องทัดทาน และเราไม่ยอมให้เขาบังคับให้เราทำในสิ่งที่ผิด นี่ก็คือครึ่งหนึ่งของเรื่อง ความน่าเชื่อถือจะมาก็ต่อเมื่อ อีกครึ่งหนึ่ง ถ้าบังเอิญเราอยู่ในสถานะที่ไม่ถูก เราก็ต้องไม่ดื้อ

ดังนั้น ความเป็น “อิสระ” ถ้าตีความหมายไม่ดีอาจเป็นการสร้างหลุมพรางให้ตัวเอง แต่ถ้าเราเข้าใจหลักการ 4 ข้อ “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน” ก็ตีความกลับไปได้ว่า “อย่าไปทึกทัก (Presume) ว่า เราถูกเสมอไป และเราต้องเป็นอิสระจากเขาที่เป็นผู้ผิด บางครั้งที่เราเป็นฝ่ายผิด เราก็ต้องไม่มี Ego แล้วก็ต้องไม่ดื้อ” เราจึงจะดำรง Public Trust ไว้ได้

การที่ท่านผู้ว่าการประสาร ก้าวลงจากเก้าอี้ (โยก) ได้อย่างสง่างาม ไม่ได้เกิดจากโชคช่วย แต่ท่านทำการบ้านผู้ว่าการมาอย่างดี โดยการนำบทเรียนในอดีต ผนวกกับความเข้าใจการเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง จึง “ตีโจทย์” แตก และประสบการณ์ในการเป็นผู้บริหารที่เจนจัดในภาครัฐและเอกชนทำให้สามารถวางกลยุทธ์ในการตอบโจทย์ได้อย่างแยบยล ผนวกกับศิลปะในการแก้ปัญหา ควบคู่กับความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้ากับความไม่ถูกต้อง และใช้สติในการควบคุมตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ จึงไม่แปลกที่ “สูตร”

หนึ่ง สอง สาม โป้ง ที่ใช้ในการปลดผู้ใหญ่ปกติ จึงเพี้ยนไปเป็น

หนึ่ง สอง สามมมมม แป้ก!!!