จรัญ มะลูลีม : ความรุนแรงต่อเนื่องในตุรกี (จบ)

จรัญ มะลูลีม

คลิกอ่าน ตอนที่ 1 

การโจมตีตุรกีด้วยระเบิดยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น ในวันที่ 16 สิงหาคม ปี 2016 เมื่อรถบรรทุกระเบิดวิ่งเข้าชนสถานีตำรวจทางตอนเหนือของตุรกี

นอกจากนี้ ยังมีการโจมตีด้วยระเบิดซึ่งมุ่งเป้าไปที่รถทหารทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศตามมาอีกระลอก

เจ้าหน้าที่ของตุรกีออกมาอ้างว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นฝีมือของพรรคแรงงานชาวเคิร์ด (Kurdistan Worker”s Party) หรือ PKK ซึ่งใช้การระเบิดรถยนต์ที่มุ่งเป้าไปที่สถานีตำรวจหรือใช้การระเบิดตามท้องถนนเพื่อโจมตีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาอย่างต่อเนื่อง

ซีมิล บายิด ผู้บัญชาการ PKK ขู่ว่าจะเพิ่มการโจมตีตำรวจในเมืองต่างๆ ของตุรกีให้หนักหน่วงยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

คลื่นแห่งการโจมตีต่อเนื่องนี้เกิดขึ้นในขณะที่ตุรกีกำลังมุ่งหน้าปราบปรามสานุศิษย์ของขบวนการฮิซเม็ต (การบริการ) ของกุลเลนซึ่งพำนักอยู่ในสหรัฐ อย่างที่ทราบกันดีว่ากุลเลนถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยกว่า 270 คนเสียชีวิต

รถยนต์บรรทุกระเบิดดังกล่าวพุ่งเข้าชนสถานีตำรวจในจังหวัดวานเลต ซึ่งอยู่ตอนเหนือของประเทศ สังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหนึ่งคนและพลเรือนอีกสองคน

อย่างน้อยประชาชน 73 นาย พลเรือน 53 คน ได้รับบาดเจ็บ มีควันไฟพวยพุ่งออกมาจากบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้ หน้าต่างอาคารสี่ชั้นและบริเวณใกล้เคียงได้ถูกระเบิดทำลายจนเสียหายยับเยิน

ในจังหวัดบิตลิส ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ ทหารถูกสังหารไปสี่นาย หลังจากฝ่ายกบฏลอบวางระเบิดเอาไว้ใต้ท้องถนน และเกิดระเบิดขึ้นเมื่อทหารผ่านเส้นทางดังกล่าว ทหารอีก 7 นายได้รับบาดเจ็บจากการโจมตี เจ้าหน้าที่รักษาความสงบหมู่บ้านซึ่งได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลเพื่อมาช่วยงานฝ่ายความมั่นคงต่อสู้กับ PKK ก็มาจบชีวิตลงในการปะทะกับฝ่ายกบฏในเมืองดังกล่าว

เมื่อเกิดเหตุนายกรัฐมนตรีของตุรกี บินาลี ยิลดีรีม ซึ่งเดินทางมาที่พื้นที่ที่มีระเบิดและเดินทางไปเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บกล่าวว่า

ขบวนการของกุลเลนได้เสียความมุ่งมั่นของตนไปแล้วและมอบหน้าที่ (ก่อความรุนแรงนี้) ให้กับ PKK เขาบอกว่าเมื่อหน้าที่ของฝ่ายหนึ่งจบสิ้นลง อีกฝ่ายหนึ่งก็จะเข้ามาทำหน้าที่แทน

นายกรัฐมนตรีผู้นี้ สัญญาว่าจะต่อสู้กับ PKK จนกว่าพวกเขาจะ “ถูกขจัด” ให้หมดสิ้นไป “ไม่มีองค์การก่อการร้ายใดจะมาบังคับให้ตุรกีก้มหัวให้ได้” เขากล่าว

นับจากปี 2015 มาแล้วที่การเจรจาสันติภาพซึ่งรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ของฝ่ายรัฐบาลและ PKK ประสบความล้มเหลว จากนั้นเป็นต้นมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของตุรกีก็ได้เสียชีวิตมาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 600 นาย ในขณะที่กลุ่มติดอาวุธ PKK จำนวนนับพันถูกสังหาร

กล่าวกันว่าจนถึงเวลานี้มีคนจำนวนนับหมื่นคนมาแล้วที่ได้จบชีวิตลง อันเนื่องมาจากความขัดแย้งเมื่อฝ่าย PKK พยายามตั้งรัฐอิสระขึ้นทางตะวันออกเฉียงเหนือของตุรกีในปี 1984 ตุรกี EU และสหรัฐถือว่ากลุ่ม PKK เป็นกลุ่มก่อการร้าย

แอนดริว การ์ดเนอร์ นักวิจัยฝ่ายขวาของตุรกีออกมากล่าวว่าบรรดาผู้ที่ก่ออาชญากรรมจะต้องถูกดำเนินคดีและต้องรับผิดชอบต่อการกระทำอันเลวร้ายที่กระทบต่อสิทธิแห่งการมีชีวิต

กลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้ออกมาประณามการระเบิดโดยใช้รถยนต์ดังกล่าวว่าเป็นการโจมตีที่ขาดความรับผิดชอบและโหดร้าย

ต่อมาในวันที่ 26 สิงหาคม เหตุการณ์ในทำนองเดียวกันกับที่เกิดขึ้น เมื่อ 10 วันที่ผ่านมา (16 สิงหาคม) ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งการโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของตำรวจเมืองซิซเรย์ เป็นการโจมตีด้วยรถบรรทุกระเบิดจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คนและบาดเจ็บอีกนับโหล เป็นการใช้ความรุนแรงโดยต่อเนื่องครั้งล่าสุดในดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกรบกวนด้วยการใช้ระเบิดเสมอมา

เมืองซิซเรย์อยู่ติดกับจังหวัดเซอร์นัก อันเป็นจังหวัดที่มีเขตแดนติดกับชายแดนของอิรักและซีเรียและมีประชากรชาวเคิร์ดอยู่ที่นั่นจำนวนมาก

สำนักข่าวอะนาโคลูของรัฐอ้างว่าฝ่าย PKK เป็นผู้กระทำเนื่องจากพรรค PKK ได้เข้ามาข้องเกี่ยวกับการปะทะกันอยู่เสมอนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2016 เมื่อการเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายกบฏล้มเหลว

ที่ผ่านมาประชาชน 40,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเคิร์ดได้จบชีวิตลงนับจากฝ่ายกบฏได้ลุกขึ้นสู้ด้วยการติดอาวุธมาตั้งแต่ปี 1984

ก่อนหน้านี้ อิฟกัน อะลา รัฐมนตรีมหาดไทยได้อ้างว่าฝ่าย PKK ได้โจมตีรถบรรทุกของ เคมาล คิลิดคาโรลู ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน

รัฐบาลอ้างว่าการโจมตีอย่างต่อเนื่องนี้เป็นฝีมือของฝ่าย PKK อย่างไรก็ตาม PKK ยอมรับว่าพวกเขาเป็นผู้โจมตีอย่างน้อยหนึ่งครั้ง นั่นคือการโจมตีสถานีตำรวจ

เมื่อพิจารณาจากบริบทรอบข้างดูเหมือนว่าตุรกีกับความรุนแรงกำลังจะแยกกันไม่ออกไปอีกนาน