ศึกอิหร่าน-อิสราเอล แค่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น

(AFP)

มองผิวเผินเข้าไปจากภายนอก สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางในยามนี้ดูเหมือนจะลดระดับความร้อนแรงลง ไม่เดือดพล่านแทบลุกเป็นไฟเหมือนตลอดสัปดาห์เศษที่ผ่านมา

ห้วงวิกฤตในตะวันออกกลางเริ่มต้นเมื่อเช้ามืดของวันสงกรานต์ 13 เมษายน เมื่อปรากฏโดรนติดระเบิด 170 ลำ, ขีปนาวุธวิถีโค้ง 120 ลูก กับจรวดแบบครูสอีก 30 ลูก ถล่มเข้าใส่เป้าหมายในดินแดนอิสราเอล จุดเริ่มต้นของการโจมตีส่วนใหญ่ครั้งนั้น มาจากภายในอิหร่านโดยตรง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งในแง่การทหารเกิดขึ้นหลังจากนั้น สรรพาวุธเกือบทั้งหมด หรือราว 99 เปอร์เซ็นต์ ถูกอิสราเอลสกัดกั้นไว้จนหมดสิ้น ภายใต้ความร่วมมือ ช่วยเหลือจากอังกฤษ, ฝรั่งเศส, จอร์แดน และสหรัฐอเมริกา จำกัดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินในอิสราเอลลงเหลือน้อยที่สุด จนแทบกล่าวได้ว่า ปราศจากผลเสียหายใดๆ เลยก็ว่าได้

สหรัฐและพันธมิตรทั้งที่เป็นชาติตะวันตกและชาติอาหรับในอ่าวเปอร์เซีย แนะนำต่อ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลว่า ควรยับยั้งชั่งใจ งดเว้นการโจมตีตอบโต้เอาไว้ ระงับไม่ให้สถานการณ์ลุกลามกลายเป็นการทำศึกโดยตรงระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล

 

แต่ดูเหมือนผู้นำอิสราเอลจะตัดสินใจเป็นตรงกันข้าม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การโจมตีเพื่อทำลายระบบป้องกันทางอากาศ ของฐานทัพอากาศอิหร่านในเมืองอิสฟาฮาน ตอนกลางของประเทศ ที่ว่ากันว่าเป็นศูนย์กลางทางนิวเคลียร์ของอิหร่านเมื่อ 19 เมษายนที่ผ่านมา

ถึงตอนนั้น อุณหภูมิสงครามในตะวันออกกลางพุ่งขึ้นสูงสุด ก่อนลดระดับลงเร็วพอๆ กันเมื่ออิหร่านแถลงยืนยันว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการโจมตีของอิสราเอลดังกล่าว “จำกัดอย่างยิ่ง” และไม่แสดงท่าทีที่จะตอบโต้กลับคืนเป็นการแก้เผ็ดการโจมตีดังกล่าว

จนทำให้หลายคนเชื่อว่า สงครามใหญ่ในตะวันออกกลางสามารถหลีกเลี่ยงไปได้อีกคำรบ

การโจมตีอิหร่านของอิสราเอลถูกมองว่าเป็นเพียงการกระทำเชิง “สัญลักษณ์” เพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของเนทันยาฮู ผู้นำที่ชาวอิสราเอลให้การยอมรับต่ำที่สุดผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ เพียงแค่ 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในเวลานี้

 

กระนั้น ผู้สันทัดกรณีในกิจการตะวันออกกลางหลายคน กลับยืนยันตรงกันว่า ในความเป็นจริงแล้ว อุณหภูมิสงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน ไม่ได้ลดน้อยถอยลง ตรงกันข้าม ยังสูงปรี๊ด เขม็งเกลียวแน่น สุ่มเสี่ยงสุดขีดต่อการลุกลามออกไปเป็นสงครามขนาดใหญ่ได้ทุกเวลา รอเพียงวันเวลาแตกระเบิดเท่านั้นเอง

เหตุผลสำคัญประการแรกก็คือ ไม่ว่าทั้งสองประเทศจะแสดงท่าทีออกมาอย่างไร อิสราเอลและอิหร่านก็ยังคงเป็นประเทศ “คู่สงคราม” โดยพฤตินัยอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นใน “สงครามเงา” ผ่านตัวแทนและจารชนเหมือนอย่างในอดีต หรือคู่สงครามอย่างเปิดเผยเหมือนในกรณีเมื่อวันที่ 13 เมษายนก็ตามที

การโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายในอิสราเอลในวันดังกล่าว ทำลาย “กติกาสงคราม” แบบไม่เป็นทางการ ไม่มีลายลักษณ์อักษรระหว่างสองประเทศนี้ไปโดยปริยาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารประเมินว่า อานุภาพของสารพัดอาวุธที่อิหร่านใช้โจมตีอิสราเอลในวันนั้น รวมแล้วเทียบเท่ากับระเบิดไม่น้อยกว่า 60 ตัน

อิสราเอลจำเป็นต้องทำให้แน่ใจได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นอิหร่านหรือชาติใด กลุ่มไหน ต้องไม่กล้าปฏิบัติการทำนองเดียวกันนี้อีกในอนาคต

ปาฏิหาริย์ทางทหาร 99 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีวันเกิดขึ้นบ่อยครั้งแน่ๆ

 

ประการถัดมา การโจมตีเมื่อ 13 เมษายน ส่งผลกระทบต่อความกังวลใหญ่โตที่สุดประการหนึ่งของอิสราเอล นั่นคือความวิตกว่า สักวันหนึ่ง อิหร่านจะสามารถครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ได้ในที่สุด ซึ่งอาจทำให้ผู้นำในเตหะรานตัดสินใจใช้มันเพื่อการโจมตีอิสราเอลทำนองเดียวกันกับการตัดสินใจเมื่อ 13 เมษายน

และโดยข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ว่าอิสราเอลจะชอบหรือไม่ก็ตาม อิหร่านก็รุกคืบไปสู่การเป็น “ชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง” เข้าไปทุกที แม้จะทีละเล็กทีละน้อยก็ตาม

อิหร่านที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในมือ ไม่เพียงสามารถใช้เพื่อโจมตีอิสราเอลได้โดยตรงเท่านั้น ยังส่งอิทธิพล เสริมบารมีกระพือโหมให้บรรดากองกำลังติดอาวุธและชาติพันธมิตรที่เป็นตัวแทนอิหร่านในสงครามเงาที่ผ่านมา กล้าโจมตีต่ออิสราเอลมากยิ่งขึ้น

ยุทธศาสตร์ทางทหารของอิสราเอลก็คือการ “ป้องปราม” นั่นคือ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อป้องปรามไม่ให้ศัตรูกล้าตัดสินใจลงมือหรือก่อสงครามต่ออิสราเอล ไม่ว่าจะเป็นสงครามในรูปแบบ หรือเป็นสงครามนอกรูปแบบอย่างสงครามนิวเคลียร์

หากอานุภาพทางทหารของอิสราเอลไม่เพียงพอต่อการก่อเกิดสำนึก “ป้องปราม” ดังกล่าว หนทางที่อิสราเอลเลือกก็คือ ทำลายแหล่งที่มาที่ช่วยหนุนเสริมให้ข้าศึกศัตรูตัดสินใจลงมือต่อตนลง

ในกรณีของสงครามนิวเคลียร์ก็คือ การโจมตีเพื่อทำลายแหล่งที่มาของนิวเคลียร์ของอิหร่านให้ได้ ก่อนที่อิหร่านจะบรรลุถึงเป้าหมาย การมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง

เหล่านี้คือเหตุปัจจัยที่ว่าทำไม สถานการณ์ในตะวันออกกลางถึงยังคงสุ่มเสี่ยงสูงมากต่อการลุกลามกลายเป็นสงครามใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้

เพราะสงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านเพิ่งจะเริ่มต้น เมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมานี้นี่เอง