จรัญ มะลูลีม : ความรุนแรงต่อเนื่องในตุรกี (1)

จรัญ มะลูลีม
AFP PHOTO / ILYAS AKENGIN

การโจมตีด้วยความรุนแรงตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าในเมืองที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเลื่องชื่อในกรุงอิสตันบูล หรือสนามบินอะตาเติร์กในเมืองเดียวกันและในสถานที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงอันตรายที่รัฐบาลตุรกีต้องเผชิญอย่างต่อเนื่องมากกว่าประเทศใดๆ ในภูมิภาค

ดินแดนทางใต้ของตุรกีในเวลานี้เป็นเส้นทางผ่านและแวะพักสำหรับนักต่อสู้ที่จะเดินทางไปซีเรีย

ทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ กองทัพของรัฐบาลต้องติดกับดักความรุนแรงอยู่กับนักรบพลเรือนติดอาวุธของชาวเคิร์ด

การโจมตีกรุงอิสตันบูลติดต่อกันถึง 4 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งมีขนาดใหญ่ในปี 2016 แสดงให้เห็นการรักษาความมั่นคงในตัวเมืองที่ล้มเหลว

รัฐบาลตุรกีและผู้ติดตามสถานการณ์ในตุรกีเชื่อว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นฝีมือของกองกำลังไอเอส (IS) และหากเป็นเช่นนั้นจริงก็แสดงให้เห็นว่าตุรกีกำลังเผชิญกับการโต้กลับของไอเอสอย่างหนักหน่วง

AFP PHOTO / ILYAS AKENGIN
AFP PHOTO / ILYAS AKENGIN

แม้จะดูเหมือนว่าหลังการรัฐประหารตุรกีจะมีทีท่าเปลี่ยนไปคือหันมารื้อฟื้นความสัมพันธ์กับรัสเซียอย่างเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหน่วยข่าวกรองของรัสเซียช่วยให้เออร์ดูอันพ้นไปจากการถูกรัฐประหารได้อย่างหวุดหวิด เมื่อความสัมพันธ์กับรัสเซียถูกปรับปรุงขึ้นมาใหม่ ความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้นำซีเรีย ซึ่งตุรกีต่อต้านมาตลอดก็อาจเปลี่ยนไปได้เช่นกัน เมื่อตุรกีออกมากล่าวว่าพร้อมจะมีความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่างซีเรีย ซึ่งเป็นปรปักษ์กันมายาวนาน

ที่ผ่านมาเออร์ดูอันมีนโยบายที่แข็งกร้าวต่อซีเรีย และมีส่วนช่วยบ่มเพาะกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรีย ซึ่งมาจากตะวันออกกลางให้แข็งแกร่งขึ้น

ในการต่อต้านผู้นำซีเรียตุรกีผนึกกำลังกับปรปักษ์ของ บาชัร อัลอะสัด อย่างซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ในการเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในสงครามกลางเมืองในซีเรีย

ตุรกีมีชายแดนยาว 800 กิโลเมตรเคียงคู่กับซีเรีย นักรบพลเรือนติดอาวุธจากทั่วโลกอาจแวะมาพักที่ซีเรียได้ทุกเมื่อ ชายแดนดังกล่าวไม่มีการปิดกั้นและเป็นมูลเหตุสำคัญที่ไอเอสพยายามที่จะสร้างกองทัพของนักต่อสู้จากต่างชาติขึ้นที่นี่

สำหรับตุรกีการเข้าไปส่งเสริมกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลอะสัดเพื่อเป้าหมายระยะสั้นๆ ทำให้ตุรกีกลายเป็นประเทศที่ต้องมารองรับการโต้กลับไปอีกนาน

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่สนับสนุนไอเอสมาก่อน แต่ในระยะหลังๆ ตุรกีก็เปลี่ยนผ่านมาเป็นประเทศที่ต่อต้านไอเอส ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความกดดันของประเทศตะวันตก แต่ดูเหมือนจะสายไปเสียแล้ว ทั้งนี้ ไอเอสเองแม้จะอ่อนแอลงในอิรักและซีเรียแต่กลับเข้มแข็งขึ้นในดินแดนที่อยู่นอกประเทศอิรักและซีเรียไปเรียบร้อยแล้วโดยไอเอสได้ส่งนักระเบิดพลีชีพของตนออกไปปฏิบัติการทางเหนือ

ครั้งแรกไอเอสได้เข้าโจมตีกลุ่มฝ่ายซ้ายที่รวมตัวกันอยู่ในตุรกี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองซูรัก (Suruc) และอังการาในปี 2015 เวลานี้การโจมตีเข้ามาถึงอิสตันบูล ซึ่งเท่ากับเป็นการเตือนตุรกีว่าต่อไปนี้ความรุนแรงจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เออร์ดูอันกล่าวว่า ตุรกีมีความเกี่ยวข้องกับสงครามในซีเรียอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้โดยตุรกี “จะต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายจนถึงที่สุด” ทั้งนี้ ตุรกีจะมียุทธศาสตร์ป้องกันการโจมตีด้วยระเบิดและความรุนแรงได้อย่างไรนั้น เป็นปัญหาที่ตุรกีกำลังเผชิญอยู่

 

ไม่ว่าเออร์ดูอันจะยอมรับมันหรือไม่ก็ตาม ความฝันถึงการขยายอิทธิพลของตุรกีหลังอะสัดลงจากอำนาจได้กลายเป็นความฝันที่ยังอยู่อีกยาวไกล

ดังนั้น หากเออร์ดูอันเปลี่ยนแปลงนโยบายของตนเร็วเท่าไหร่ก็จะเป็นประโยชน์แก่ตุรกีและซีเรียมากเท่านั้น หลายฝ่ายจึงเสนอว่าประการแรกตุรกีจะต้องปิดชายแดนที่เป็นรอยต่อกับซีเรียลงเสียก่อนเพื่อมิให้ไอเอสเข้ามาในตุรกี

พร้อมกันนี้ตุรกีควรเข้าร่วมกับนานาชาติในความพยายามที่จะเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่ายกบฏกับฝ่ายรัฐบาลซีเรีย

หากทำได้ตุรกีก็จะหันมาให้ความสนใจกับไอเอสเป็นการเฉพาะได้และช่วยทำให้ประเทศในภูมิภาคที่ต้องการเอาชนะไอเอสรวมตัวกันได้มากขึ้น

แม้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับตุรกีที่จะทำเช่นนั้น เนื่องจากเส้นทางภูมิศาสตร์แห่งการลงทุนของตุรกีอยู่ในเส้นทางนี้เรียบร้อยแล้ว

หากตุรกีไม่ยอมเปลี่ยนผ่านยุทธศาสตร์เดิมๆ ตุรกีอาจจะไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ของชาติเอาไว้ได้เนื่องจากทั้งเมืองหลวงและเมืองท่องเที่ยวของตุรกีได้ตกอยู่ท่ามกลางการโจมตีด้วยระเบิดและความรุนแรงอื่นๆ อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

คลิกอ่านตอนที่ 2