ผี พราหมณ์ พุทธ : ว่าด้วยเรื่องธูป/กำยาน l คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

 

ว่าด้วยเรื่องธูป / กำยาน

 

ด้วยสถานการณ์โควิด ผมจึงอยู่ทำงานที่บ้าน ช่วงนี้จึงมีความสนใจพวกงานอดิเรกและหัตถกรรมบางอย่าง เผื่อเป็นช่องทางทำมาหากินในอนาคตได้

ใครบอกทำอาชีพอาจารย์แล้วชีวิตจะแน่นอนมั่นคง สมัยนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยเผชิญเกณฑ์ประเมินต่างๆ มากมาย วันดีคืนดีเขานึกไม่ต่อสัญญาก็จบเห่ล่ะครับ แถมทำยังกับว่าเงินเดือนค่าตอบแทนมากมายมหาศาล

ทุกวันนี้นอกจากงานสอน ก็ได้ท่านผู้อ่านมติชนสุดสัปดาห์นี่แหละที่สนับสนุนให้ได้เขียน ได้บอกเล่าอะไรต่อมิอะไรผ่านเนื้อที่ตรงนี้ ให้ได้มีรายได้เสริมบ้าง

จึงขอกราบขอบพระคุณ

 

งานอดิเรกที่ออกจะประหลาดอย่างหนึ่งของผมในช่วงนี้ คือกำลังทดลองทำ “ธูป” หรือ “กำยาน” อยู่ครับ เพราะนอกจากชอบเครื่องหอมต่างๆ มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ในฐานะที่ต้องประกอบพิธีกรรมหรือไหว้พระสวดมนต์ การมีธูปที่เราทำด้วยตัวเองก็น่าจะปลอดภัยจากสารเคมีต่างๆ

ที่จริงผมคิดว่า ถ้าเราเป็นคนชอบพวกพิธีกรรม อะไรที่ทำเองได้ก็ควรทำครับ เพราะนอกจากจะประหยัดแล้ว จะได้เรียนรู้ด้วยว่าของต่างๆ มันมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำอย่างไร เผลอๆ เป็นอาชีพที่มีคุณภาพได้

ในบ้านเรานิยมใช้ธูปกันหลากหลายชนิด มีชนิดหนึ่งที่ผมยังไม่เคยเห็นที่อื่น คือ “ธูปไม้ระกำ” ซึ่งใช้ในพระราชพิธีเสียส่วนมาก โดยเขาเอาไม้ก้านระกำมาปอกเหลาให้กลมแล้วคลุกด้วยเครื่องหอม เวลาจุดก็มักมีไส้ทำเป็นชนวนเพื่อให้จุดได้สะดวก ธูปชนิดนี้คงเป็นธูปพื้นบ้านของเราเองที่เลียนแบบจากธูปก้านอย่างธูปจีน

ที่จริงธรรมเนียมการเผาเครื่องหอม เป็นธรรมเนียมสักการบูชาทั่วโลกและมีมายาวนานมาก มนุษย์ค้นพบว่า พืชบางชนิด โดยเฉพาะไม้ยืนต้นอย่างไม้จันทน์ ไม้กฤษณา หรือยางไม้บางอย่าง สามารถให้กลิ่นที่หอมโดยการเผาไหม้ได้

ควันที่กรุ่นอยู่ในอากาศช่วยทำให้รู้สึกว่าบริเวณนั้นมีความสะอาดหรือพิเศษ และการที่ควันลอยขึ้นไปด้านบนทำให้เกิดจินตนาการว่า เครื่องสักการะกำลังลอยขึ้นไปหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือทวยเทพบนสวรรค์

นอกจากอยู่ในฐานะ “ของถวาย” แล้ว การจุดควันหอมหรือธูปจึงถูกใช้ในลักษณะของการ “สื่อสาร” กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปในตัว

ปัจจุบันเราก็ยังคงต้องจุดธูปเมื่อจะต้องบูชาหรือสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอ

 

ในบ้านเรามีความสับสนบางอย่างเกี่ยวกับการใช้คำ “ธูป” กับ “กำยาน” เรามักคิดว่า ก้อนธูปแบบกรวยนั้นเรียกว่ากำยาน แต่หากเป็นแท่งหรือเป็นก้านก็เรียกว่าธูป

เอาเข้าจริงแล้ว ทั้งกำยานและธูปที่ขายในบ้านเราส่วนมากมีส่วนประกอบเดียวกัน คือทำจากขี้เลื่อยไม้แล้วฉีดน้ำหอมเข้าไป

ที่จริงกำยาน (benzoin) เป็นยาง (resin) ของไม้กำยานหรือพืชในตระกูล Styrax และ Styracaceae ใช้เป็นยาสมุนไพรมาตั้งแต่โบราณ นอกจากจะมีกลิ่นหอม นักทำธูปยังให้ข้อมูลว่า กำยานช่วยรักษากลิ่นของสมุนไพรต่างๆ ในธูปเอาไว้ และยังมียางไม้ของพืชในวงศ์ boswellia ซึ่งเราก็เรียกกันว่ากำยานเช่นกัน แต่เพิ่มสร้อยไปหน่อยว่ากำยานโอมาน (frankincense) เพราะโดยมากมาจากประเทศโอมานหรือประเทศใกล้เคียง

นอกจากนี้ ยังมี “มดยอบ” (myrrh) เป็นยางไม้เครื่องหอมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งนอกจากทำเป็นเครื่องหอมแล้วยังใช้ดองศพด้วย ดังตำนานสามโหราจารย์นำกำยาน ทองคำและมดยอบมาถวายแก่พระเยซู

วิธีการใช้กำยาน คือโรยลงไปยังถ่านแดงๆ ก็จะเกิดควันขึ้นมา ดังจะเห็นได้ว่าเวลามีพิธีมิสซาของชาวคริสต์ ก็มีการถวายกำยานที่พระแท่น โดยบาทหลวงจะโรยกำยานลงในโถเผาแล้วแกว่งไปรอบๆ

แต่การใช้แบบนี้ค่อนข้างไม่สะดวก จึงมีผู้นำกำยานมาบดผสมลงในธูป หรือในธูปรูปกรวยซึ่งผลิตมาจากอินเดีย แต่เนื่องจากกำยานมีราคาแพง เมื่อคนไทยทำเลียนแบบแล้ว ก็ไม่ได้ใส่กำยานลงในธูปกรวยนั้น

แต่คนก็ไปเรียกว่ากำยานกันจนชินเสียแล้ว

 

ส่วนธูป มาจากคำสันสกฤตว่า ธูปะ แปลว่า เครื่องหอม (ที่ใช้จุด) แต่เดิมผมเข้าใจว่า ไม่ได้เป็นธูปก้านที่มีก้านไม้ไผ่อย่างธูปจีน แต่ปั้นเป็นก้อนหรือเส้นหรืออาจใช้เป็นผงก็ได้ นอกจากคำว่าธูป ยังเรียกว่า “อครพัตติ” ด้วย ซึ่งมักหมายถึงธูปก้าน

ธูปนั้นพัฒนาอย่างมากในอินเดีย จัดเป็นเครื่องบูชาที่สำคัญของทุกๆ ศาสนา ส่วนในประวัติศาสตร์จีน แม้จะมีเครื่องหอมใช้มานานแล้ว แต่เมื่อจีนติดต่อกับอินเดียและนิยมชมชอบวัฒธรรมอินเดียอย่างมากในสมัยถัง จึงมีการนำเข้าวัตถุดิบสำคัญสำหรับทำธูปจากอินเดีย เช่น ไม้จันทน์ และทำให้รูปแบบการผลิตธูปของจีนเปลี่ยนไปจนถึงปัจจุบัน

ตามสูตรธูปของอินเดีย มีการผสมวัตถุดิบหลายอย่าง เช่น ไม้หอมอย่างไม้จันทน์หรือกฤษณา เนย มูลโค ธัญพืช กำยาน ฯลฯ แต่เนื่องจากธูปในอินเดียใช้งานหลายลักษณะ จึงมีส่วนประกอบที่หลากหลายมาก

ท่านบัณฑิตพรหมานันทะ พราหมณ์อินเดียเคยบอกผมว่า การจุดธูปนอกจากเป็นการถวายควันหอมแล้ว ที่จริงธูปคือการจำลองการ “บูชาไฟ” (โหมะ) เอาไว้ เพราะส่วนประกอบของธูป คือส่วนประกอบเดียวกันกับของในพิธีบูชาไฟ เช่น เนย ข้าว ไม้ฟืน ฯลฯ

ผมก็งงๆ กับคำอธิบายนี้ จนไปเห็นการทำธูปอย่างโบราณและเห็นบางเทวสถานเขาก็ผลิตธูปที่ใช้แทนการบูชาไฟเอาไว้ด้วย

นอกจากใช้บูชา ยังใช้เพื่ออบร่ำ เช่น การอบผ้าหรืออบผม ผู้หญิงชาวอินเดียในสมัยก่อนเมื่อสระเกล้าสนานตัวแล้วก็จะอบร่ำผมด้วยน้ำมันหอมและควันจากการจุดกำยาน คนชาติอื่นก็นิยมทำด้วย สมัยผมเด็กๆ อาม่าข้างบ้านผม ซึ่งผมเรียกแกตามพ่อว่าเหนี่ยว (ป้า) ยังจำได้ว่า เสื้อผ้าแกหอมกลิ่นควันๆ ซึ่งคงมาจากการอบร่ำผ้านี่เอง

ที่สำคัญ ธูปยังใช้เพื่อการรักษาโรคภัยด้วยครับ ในคัมภีร์หมวด “อายุรเวท” ทั้งหลายของอินเดีย มีการระบุให้ใช้การรักษาด้วยการเผาผงเครื่องหอม (และไม่หอม) เรียกว่า “ธูปนะ” ซึ่งระบุชนิดของ “ธูป” ไว้มากมายหลายชนิด เช่น กุมาระธูป มเหศวระธูป ศิศุกะธูป ฯลฯ โดยแต่ละชนิดมีสรรพคุณแตกต่างกันออกไป

ใครสนใจลองหาบทความวิชาการมาอ่านดูครับ มีคนวิจัยเรื่องนี้ไว้บ้าง

 

ทางฝ่ายพุทธโดยเฉพาะทิเบตนั้น คงได้รับความรู้ด้านการทำธูปมาตั้งแต่สมัยโบราณจากอินเดีย ธูปทิเบตมีชื่อเสียงมาก เพราะนอกจากจะใช้วิธีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย

การทำธูปในทิเบตถือเป็นวิชาสำคัญของพระภิกษุ และเป็นงานหัตถกรรมที่สร้างรายได้ให้วัด ส่วนมากใช้เครื่องหอมมากมายหลายชนิด เช่น ไม้สนหอม หญ้าฝรั่น สมุนไพร น้ำผึ้ง น้ำแร่ ฯลฯ

วัดที่มีชื่อเสียงและมีวิทยาลัยทางการแพทย์ มักผลิตธูปทีมีชื่อเสียง เช่น กานเด็น คุมบุม เป็นต้น

ในทิเบตนอกจากจะใช้ธูปเป็นเครื่องสักการบูชา ยังเป็นของสำหรับปัดเป่าสิ่งไม่ดี ชำระล้างบรรยากาศให้บริสุทธิ์ และช่วยทำให้เกิดสมาธิ

นอกจากนี้ เวลาต้อนรับพระชั้นผู้ใหญ่ ก็มักต้องจุดธูปเดินนำ เป็นเครื่องอัญเชิญและเป็นเครื่องหมายถึงความหอมของศีลาจารวัตรที่ขจรขจายออกไปด้วย

 

คนไทยเรา (และจีน) ซีเรียสเรื่องจำนวนธูป ซึ่งผิดกับที่ผมเคยรับรู้จากอินเดีย เนื่องจากธูปก้านเป็นสิ่งที่มาทีหลัง วัฒนธรรมธูปเดิมในอินเดียคงไม่ได้ซีเรียสเรื่องจำนวนก้านธูปที่จุดมาก่อน ก็เพราะเขาเน้นตัวควันหอม ผมเคยเห็นเขาจุดก้านเดียว สองก้าน สามก้าน ห้าก้าน แปดก้าน เก้าก้าน ฯลฯ บูชาพระกันทั้งนั้น

คนจีนฮกเกี้ยนบาบ๋าบ้านผมมีธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่อาจต่างกับจีนอื่น กล่าวคือ เมื่อไหว้บรรพชนหรือผู้ตาย หากผู้ตายยังมีสามีหรือภรรยาที่ยังมีชีวิต ก็จุดธูปไหว้ดอกเดียว แต่หากสามีหรือภรรยาเสียชีวิตแล้วก็จุดธูปไหว้สองดอก

อย่าลืมนะครับว่า ธูปส่วนใหญ่ในท้องตลาด โดยมากคือก้านไม้ ขี้เลื่อย โกบั๊ว (ยางบง) สี และน้ำหอมสังเคราะห์ สูดดมบ่อยๆ เป็นอันตรายต่อร่างกาย มีสารก่อมะเร็งและโรคอื่นๆ

ดังนั้น ที่บอกให้จุดกันเยอะๆ ไม่ใช่สาระสำคัญอะไรของพิธีกรรมหรอกครับ จุดทีหนึ่งเก้าดอกสิบหกดอก กะว่าถึงสิบหกชั้นฟ้าอะไรเนี่ย กว่าจะถึงชั้นสิบหก เราน่าจะไปถึงโรงพยาบาลก่อน

อีกอย่างคือเรื่องอัคคีภัย อันนี้ต้องระวังกันให้มาก

เสียหายกันมานักต่อนักครับ