ฉัตรสุมาลย์ พาไป เยือนบ้านนายพลออง ซาน

หลังจากเสร็จงานประชุมวันที่ 20 มกราคม (2560) ที่ย่างกุ้งแล้ว ท่านธัมมนันทาตั้งใจจองตั๋วขากลับให้มีเวลาในย่างกุ้งอีกวันหนึ่ง เพื่อพบปะกับเครือข่ายที่จะทำงานพระศาสนากันต่อไป

คุณวินวิน สตรีชาวพม่าที่เป็นคนดูแลโปรแกรมพาไปกราบท่านอาจารย์พระภิกษุชาวพม่า แต่เนื่องจากไม่ได้นัดท่านไว้ก่อน ท่านไม่อยู่ เราขึ้นไปนั่งพักชั้นบนตรงระเบียงกุฏิของท่านอย่างกับเป็นเจ้าของบ้าน

ตรงกันข้ามเป็นพิพิธภัณฑ์โบจ็อกอองซาน โบจ็อก เป็นภาษาพม่า แปลว่านายพล วันนั้นเป็นวันเสาร์ ครูพานักเรียนมาชมพิพิธภัณฑ์เป็นคันรถ เด็กๆ เดินลงมาเป็นแถวทีเดียว เราก็เลยถือโอกาสเข้าไปชมด้วย

ค่าเข้าชมสำหรับต่างชาติ 5,000 จั๊ต

 

บ้านหลังนี้ ท่านนายพลอยู่กับครอบครัวระหว่าง พ.ศ.2486-2490 จนท่านเสียชีวิตอย่างกะทันหันกลางปี 2490

ลักษณะบ้านตั้งอยู่บนเนินสูง บ้านสองชั้น แต่มีป้อมสูงตรงส่วนหน้าของบ้านขึ้นไปเป็นชั้นสาม มีหน้าต่างให้มองออกไปด้านนอกด้วย นอกจากเพื่อความงามของสถาปัตยกรรมแล้ว ก็เพื่อความปลอดภัย

ชั้นล่างตรงมุมหน้าบ้านทั้งสองข้างเป็นระเบียงกลมๆ ตรงนี้น่าอยู่มาก ภายในบ้านชั้นล่าง มีห้องอาหารด้านซ้าย เจ้าหน้าที่ที่ดูแลบ้าน จัดวางป้ายระบุตำแหน่งว่า ท่านนายพลนั่งตรงไหน ลูกสามคน และภรรยาท่านนั่งตรงไหน

ตรงห้องใหญ่ทางด้านขวาของบ้านเป็นห้องรับแขกกว้างๆ มีรูปปั้นเหมือนจริงของท่านนายพลแต่งตัวลำลอง นั่งอ่านหนังสืออยู่บนเก้าอี้ผ้า แบบที่เอนได้

ทุกอย่างเรียบง่าย สมถะ

ตรงทางขึ้นบันไดชั้นบน พนักงานที่ดูแลบ้านตั้งโต๊ะขายตั๋วเข้าชมบ้าน และขายหนังสือ เล่มที่ต้องซื้อคือ Freedom from Fear อิสระจากความกลัว มีทั้งข้อเขียนของ ออง ซาน ซูจี เองในช่วงที่ถูกกักบริเวณในบ้านของตัวเองอยู่หลายปี และงานเขียนของคนอื่นๆ ที่เขียนเกี่ยวกับ ออง ซาน ซูจี ที่ทำให้เรารู้จัก ออง ซาน ซูจี มากกว่าที่เรารู้จักอย่างฉาบฉวยตามสื่อทั่วไป

ขึ้นบันไดมาชั้นบน มีห้องนอนสองปีก ปีกขวา เป็นห้องนอนของท่านนายพลและภรรยา

ทางปีกซ้ายเป็นเตียงนอนเรียงกันสามเตียง เตียงของซูจี ลูกสาวคนเล็กและคนเดียวของครอบครัวต่างจากเตียงอื่นตรงที่มีลูกกรงกันตกล้อมรอบ

เฉพาะห้องนอนของท่านนายพลนั้น มีห้องที่ต่อเข้าไปด้านในเป็นห้องทำงาน และห้องสมุดเล็ก มีตู้หนังสือตั้งแนบกับฝาผนังทั้งสองด้าน

ห้องสมุดเป็นหมายบอกคุณภาพของเจ้าของบ้าน บ้านใดที่ไม่มีห้องสมุด แม้ว่าจะอลังการเพียงใด ก็รู้ได้ว่าเจ้าของบ้านจะเป็นเช่นไร

ที่ฝาผนังมีรูปท่านนายพลและภรรยา ส่วนห้องนอนของลูก ก็มีรูปลูกชายคนที่สองที่เสียชีวิตจากการจมน้ำตายในสระที่อยู่ในอาณาเขตของบ้านหลังนี้ ลูกชายคนนี้เป็นพี่ชายที่ซูจีรักมาก

 

เมื่อดูบ้านของท่านแล้ว ก็ต้องตามไปศึกษาว่าทำไมชาวพม่าจึงเทิดทูนนายพลออง ซาน ยิ่งนัก ท่านเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา การยอมรับความเป็นผู้นำของท่านนั้น ไม่ได้มาโดยง่าย แต่ได้มาด้วยความสามารถ ความทุ่มเท และความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวของท่านอย่างสืบเนื่อง

ท่านต้องเข้าไปเจรจากับญี่ปุ่นในช่วงสงคราม ซูจีเอง บิดาตายแต่เล็ก เธอแทบจะไม่รู้จักพ่อของเธอเลย ในช่วงที่นายพลติดต่อกับญี่ปุ่นนี้ ซูจีถึงกับต้องเรียนภาษาญี่ปุ่น เพื่อจะทำความเข้าใจและศึกษาจากข้อมูลทางฝ่ายญี่ปุ่น ว่าพ่อของตนติดต่อกับญี่ปุ่นอย่างไร ในการผลักดันให้ได้มาซึ่งเอกราชแก่ประเทศพม่า

ในช่วงที่เป็นนักศึกษานั้น ภาษาอังกฤษของท่านนายพลยังไม่ดี แต่ท่านก็ยืนหยัดที่จะปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเห็นความสำคัญที่จะทำให้เนื้อหาการพูดของท่านไปถึงอังกฤษผู้ปกครองพม่าอยู่ในขณะนั้น

ท่านถูกเย้ยหยันจากชาวพม่าที่ใช้ภาษาอังกฤษดีกว่า

แต่ท่านก็ไม่ละความพยายาม ฝึกฝนตนเองจนพัฒนาภาษาอังกฤษอย่างดี ด้วยความตระหนักว่า การที่จะนำประเทศไปสู่เอกราชได้สำเร็จ ชาวพม่าเองต้องพูดให้ชาวโลกรู้ถึงความคิด จุดยืนทางการเมืองของตน

 

จากการศึกษาชีวิตของพ่อเธอเอง น่าจะทำให้ซูจีเห็นความสำคัญที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษให้ได้ดี เราจึงไม่ประหลาดใจว่า เธอเป็นสตรีชาวเอเชียจำนวนน้อยมากที่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษสื่อความคิดในระดับสากลได้

ต้นปี พ.ศ.2490 ท่านนายพลปราศรัยยืนยันว่า พม่าต้องได้รับเอกราช ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น ตามคำมั่นของท่าน พม่าได้รับเอกราช พ.ศ.2491 ท่านนายพลเพิ่งถูกปลิดชีวิตไปก่อนหน้านั้นเพียง 6 เดือน

ท่านนายพลพร้อมรัฐมนตรี 8 ท่านที่ร่วมประชุมอยู่ด้วย ถูกมือสังหารบุกเข้าไปกราดยิงดับชีพทั้งหมด โดยมือสังหารเล็งที่ท่านนายพลก่อนคนอื่น

ตอนที่เกิดเหตุนั้น ซูจีลูกคนเล็กอายุเพียง 2 ขวบ

 

ภรรยาของท่านไม่ค่อยมีคนพูดถึง แต่ก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งสองพบกันเมื่อท่านนายพลล้มป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เธอเป็นพยาบาลคนเดียวที่สามารถพูดเกลี้ยกล่อมให้ท่านนายพลรับการรักษาไปตามขั้นตอนของทางการแพทย์

ความศรัทธาที่มีต่อกัน นำไปสู่การตกลงปลงใจแต่งงานในที่สุด

ทั้งๆ ที่ท่านนายพลไม่สนใจและไม่มีเวลาให้กับการสร้างครอบครัว เวลาของท่านทุ่มเทให้กับการทหาร ท่านเป็นผู้สร้างกองทัพพม่าอย่างเป็นรูปธรรม และแสวงการที่จะนำประเทศไปสู่เอกราชให้ได้ แต่ลิขิตชีวิตก็นำให้ทั้งสองได้พบกัน ได้สร้างครอบครัว ซึ่งต่อมาก็ทิ้งเป็นภาระให้กับ ดอ ขิ่น จี ภรรยาหม้ายผู้เดียว

โดยอาชีพพยาบาลและเติบโตในสมัยที่อังกฤษปกครอง ดอ ขิ่น จี มีความรู้และใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เมื่อท่านนายพลจากไปอย่างกะทันหันในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1947 (พ.ศ.2490) นายพลออง ซาน อายุเพียง 32 ในขณะที่ซูจีซึ่งเป็นลูกคนเล็ก และลูกสาวคนเดียว อายุเพียง 2 ขวบ

การสูญเสียผู้นำของครอบครัวและผู้นำของชาตินำมาซึ่งความเศร้าโศกทั้งชาวพม่าที่กำลังแสวงหาอิสรภาพ และโดยเฉพาะครอบครัวที่เหลือเพียงมารดาที่ต้องดูแลลูกที่ยังเล็กๆ

ความทุกข์ยากของการสูญเสียสามียังไม่ทันจางไป ดอ ขิ่น จี ยังเสียลูกชายคนที่สอง ที่เป็นพี่ชายที่ซูจีรักมากไปในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยอุบัติเหตุตกน้ำเสียชีวิตในบ่อน้ำข้างบ้านนั่นเอง

ในปัจจุบันทางการก็ยังรักษาสระน้ำนี้ไว้ พร้อมป้ายระบุเหตุการณ์ที่น่าเศร้า

แต่ในท้ายที่สุด เพียงครึ่งปีต่อมา พม่าก็ได้รับเอกราช ใน ค.ศ.1948 ตรงตามคำมั่นสัญญาของนายพลออง ซาน ที่เคยให้ไว้กับประชาชนชาวพม่า

 

อูนุ ซึ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของพม่า ได้แต่งตั้งให้ ดอ ขิ่น จี ไปเป็นเอกอัครราชทูตพม่าประจำอินเดีย ตั้งแต่ ค.ศ.1961 แม้ในรัฐบาลต่อมา คือสมัยที่เนวินเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังให้ความเคารพและไว้วางใจนาง นางได้เป็นเอกอัครราชทูตประจำอินเดียต่อมาจนถึง ค.ศ.1967 โดยมีบ้านพักเป็นคฤหาสน์หลังใหญ่ เลขที่ 24 บนถนนอักบาร์ในกรุงเดลลี

ในช่วงเวลานี้เองที่ ดอ ขิ่น จี นำลูกสาวคนเดียวไปด้วย ซูจีอายุเพียง 15 ได้รับการศึกษาสมัยแรกที่เลดี้ ศรีรามวิทยาลัยในเมืองเดลลี

ช่วงเวลาดังกล่าว ซูจีจึงได้ซึมซับวัฒนธรรมและแนวคิดทั้งของคานธี เยาวหราล เนห์รู ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่อังกฤษ

นับเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ที่จะมาเป็นผู้นำประเทศพม่าในอนาคตอย่างดี

ในอินเดีย ซูจีเรียนที่รามคอลเลจ ส่วนที่อังกฤษนั้น เธอเลือกเรียนวิชาปรัชญา รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ที่วิทยาลัยเซนจ์ฮิวจ์ในสังกัดอ๊อกซ์ฟอร์ด เป็นการสร้างฐานความคิดที่มั่นคงให้แก่บุคคลที่จะมาเป็นผู้นำของชาติพม่าที่น่าสนใจ

ช่วงหนึ่งซูจีทำงานกับองค์การสหประชาชาติที่ไปประจำอยู่ในภูฐาน ในขณะที่สามี คือ ดร.ไมเคิล แอริส เป็นอาจารย์ชาวอังกฤษที่ชำนาญเรื่องทิเบตศึกษาที่องค์ทะไลลามะทรงรู้จักอย่างดี เป็นอาจารย์สอนหนังสือให้แก่พระโอรสธิดาในราชสำนักของภูฐาน

เมื่อกลับไปอังกฤษ ด้วยความสนใจที่จะศึกษาส่วนของประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับนายพลออง ซาน บิดาของตนในช่วงแรกของการต่อสู้ ที่ต้องติดต่อกับญี่ปุ่น ทำให้ซูจีทุ่มเทเรียนภาษาญี่ปุ่น

และใช้เวลาเป็นอาจารย์ในช่วงสั้นๆ ที่ญี่ปุ่นด้วย

 

นายพลออง ซาน ยืนยันว่า ให้ทหารเป็นทหาร และทหารต้องไม่เข้ามายุ่งกับการเมือง

การปกครองจะต้องเป็นระบอบประชาธิปไตย กองทัพทหารพม่าที่ท่านสร้างมานั้น ต้องรับใช้ชาติ ปกป้องประเทศชาติ

พม่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ แต่ท่านนายพลออง ซาน เป็นคนเดียวที่รวมเอาความศรัทธาของชาวพม่าเชื้อชาติต่างๆ ไว้ได้ ด้วยความจริงใจ ซื่อสัตย์ และวิสัยทัศน์ที่ล้ำหน้า

ซูจีเดินตามรอยเท้าของบิดาทุกประการ เน้นย้ำเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเท่าเทียมกันในการรณรงค์ทางการเมืองเพื่อให้ประเทศพม่าเป็นประชาธิปไตย

ซูจีรวมเอาการต่อสู้แบบอหิงสาของท่านคานธีเข้ามาในความคิดที่จะสร้างชาติสืบต่อจากบิดาด้วย

นั่นคือเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งพ่อลูก แม้การเดินทางอาจจะยาวไกลสำหรับชาวพม่า