พ่อเมืองลำพูนนำคณะลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ประกอบการผ้าเตรียมพร้อมส่งผ้าเข้าประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา”

พ่อเมืองลำพูนนำคณะลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ประกอบการผ้าเตรียมพร้อมส่งผ้าเข้าประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการผ้าทุกพื้นที่ส่งผลงานเข้าประกวดภายในวันที่ 4 สิงหาคม ศกนี้

วันนี้ (12 พ.ค. 66) นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยนางบำเพ็ญ เมืองมูล พัฒนาการจังหวัดลำพูน นางวิภารัตน์ สิงห์แก้ว พัฒนาการอำเภอเมืองลำพูน นำคณะพัฒนากรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจผู้ประกอบการผ้าไทยในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมผลิตผลงานเพื่อเข้าร่วมการประกวดลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ประกอบการผ้าไทย ได้แก่ 1) กลุ่มคุณอู๋ไหมไทย ของนายเรวัต สิงห์ศักดิ์ ประธานกลุ่มฯ 2) กลุ่มดารณีไหมไทย ของนางดารณี ใจตื้อ ประธานกลุ่มฯ 3) กลุ่มอมราผ้าฝ้าย ของนางอมรา ทาสัก ประธานกลุ่มฯ และ 4) กลุ่มแพรอุไรบาติก ของนางอุไรวรรณ แสนไชย ประธานกลุ่มฯ

นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า จังหวัดลำพูนมีความเป็นมายาวนานกว่า 1,343 ปี เป็นเมืองแห่งอัตลักษณ์ที่สะท้อนวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันยาวนาน ที่มีศักยภาพการพัฒนาด้วยแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และการกีฬา เมืองอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัตถอุตสาหกรรม ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้ายกดอก ผ้าทอมือ งานปูนปั้นแกะสลัก และยังเป็นเมืองเกษตรสุขภาพ และเกษตรอินทรีย์ ด้วยนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ โดยยกระดับจังหวัดให้เป็นเมืองความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการสาธารณสุขที่ดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ลำพูนไม่ลำพัง รวมพลังเพื่อลำพูน” ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท พัฒนาพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน

“จังหวัดลำพูนได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมของจังหวัดลำพูนให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย ซึ่งมีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ และสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของพี่น้องชาวจังหวัดลำพูน ประกอบกับการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้นำเอาองค์ความรู้ทางวิชาการสมัยใหม่มาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์และพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทยให้สอดคล้องกับกระแสความนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ผ่านการส่งเสริมการใช้และสวมใส่ผ้าไทยตามแนวพระราชดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” การส่งเสริมการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติลดการใช้สารเคมี เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยบนพื้นฐานการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพระราชทานแบบลายผ้าพระราชทานให้แก่กลุ่มทอผ้าและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย รวมถึงงานหัตถกรรมของจังหวัดลำพูนได้รับการพัฒนา ต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มทอผ้าและประชาชนชาวจังหวัดลำพูน เพื่อให้ประชาชนได้รับโอกาสที่ดีของชีวิตอย่างยังยืน”

นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนพี่น้องผู้ประกอบการผ้าในพื้นที่เข้าร่วมโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทุกอำเภอ (ตามภูมิลำเนาของตนเอง) สำหรับพี่น้องประชาชนจังหวัดอื่น ๆ ก็สามารถสมัครที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด หรือสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ตามภูมิลำเนา โดยการตัดสินจะแบ่งเป็นรอบระดับภาคและรอบก่อนรองชนะเลิศ พื้นที่ 5 จุดดำเนินการ คือ ภาคกลาง ระหว่างวันที่ 18 – 19 สิงหาคม 2566 ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 25 – 26 สิงหาคม 2566 ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 1 – 2 กันยายน 2566 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 8 – 10 กันยายน 2566 กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 23 – 24 กันยายน 2566 (รอบก่อนรองชนะเลิศ) การตัดสินการประกวดระดับประเทศ รอบรองชนะเลิศ (Semi Final) ในวันที่ 30 กันยายน 2566 และรอบตัดสินระดับประเทศ (Final) ในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 โดยผู้ได้รับรางวัลการประกวดระดับประเทศ จะเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประมาณเดือนธันวาคม 2566″

“ขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับผู้ประกอบการที่ช่วยกันรักษาภูมิปัญญางานหัตถศิลป์ หัตถกรรม ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านเครื่องนุ่งห่มให้กับประเทศไทย และเมืองลำพูนของพวกเราทุกคน พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้ส่วนราชการ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ประสานและบูรณาการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการทอผ้า ผู้ประกอบการผ้าไทยให้ได้รับการต่อยอด และพัฒนาทักษะ โดยการเข้าไปเยี่ยมเยียน ติดตาม สอบถาม ปัญหาและอุปสรรค ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานของชาวมหาดไทยที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีได้ประทานไว้ว่า “ให้รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” ด้วยการหมั่นลงพื้นที่เข้าไปหาพี่น้องประชาชน เข้าไปอยู่ในหัวใจของประชาชน กระทั่งรองเท้าสึก มากกว่าการนั่งโต๊ะที่ทำแค่งานเอกสารจนเป้ากางเกงขาดโดยที่ไม่รู้งานในพื้นที่” ผวจ. ลำพูน กล่าวในช่วงท้าย