“ชู้” ใน “ไตรภูมิพระร่วง” เป็นบาปกรรมร่วมกันกระทำ ต้องโดนลงทัณฑ์

ญาดา อารัมภีร

ความหมายของ ‘ชู้’ ขึ้นอยู่กับข้อความแวดล้อม ในวรรณคดีเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” ‘ชู้’ หมายถึง หญิงชายที่มีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผัวและเมียผู้อื่น เป็นบาปกรรมร่วมกันกระทำ ดังที่เล่าถึงการลงทัณฑ์ในโลหสิมพลีนรก ชายหญิงที่เป็นชู้กันถูกบังคับให้ปีนต้นงิ้วเหล็ก

“ฝูงยมพะบาลก็เอาหอกแทงซ้ำเล่าร้องว่า สูเร่งขึ้นไปหาชู้สูอยู่บนปลายงิ้วโพ้น สูจะลงมาเยียะใดเล่า … ฯลฯ … ยมพะบาลหมู่หนึ่งแทงตีนผู้หญิงให้ขึ้นไปหาผู้ชายผู้เป็นชู้ว่า สูเร่งขึ้นไปหาชู้สูอันอยู่บนปลายงิ้วนั้น”

‘พระไอยการลักษณผัวเมีย’ ใน “กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เล่ม 1 ใช้คำว่า ‘ชู้’ ในความหมายว่า หญิงมีสัมพันธ์ได้เสียกับสองชาย ใครก่อนใครหลังได้ชื่อว่า ‘ชู้’ ทั้งคู่

“๙๐ มาตราหนึ่ง หญิงคนเดียวมันทำชู้ด้วยชายคนหนึ่งก่อน แล้วหญิงนั้นมาทำชู้ด้วยชายคนหนึ่งเล่า ชู้ก่อนมันฟันแทงชู้หลังตายก็ดี ชู้หลังมันฟันแทงชู้ก่อนตายก็ดี ท่านว่าเปนหญิงร้าย”

 

น่าสังเกตว่า กฎหมายเดียวกันนี้ แยกให้เห็นความแตกต่างระหว่าง ‘เมีย’ และ ชู้’

“๔๘ มาตราหนึ่ง ข้าสมจรด้วยกันพ่อแม่แลเจ้าข้ามิให้ แลมันภากันหนีไปไกล หญิงนั้นยังมิเปนเมียชายเปนแต่ชู้กัน แม้นชายผู้ใดมาทำชู้ด้วยหญิงนั้นเล่า จะไหมชายชู้พายหลังนั้นมิได้ เพราะว่าย่อมเปนชู้ทังสอง” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ข้อความข้างต้นชวนให้คิดว่าการจะเป็น ‘เมียใครสักคน’ น่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ให้กำเนิดและเจ้านาย หนีตามไปอยู่กินกันเองถือว่าเป็นแค่ชู้เท่านั้น

นอกจากนี้ การทำชู้ในหมู่ญาติหรือในครอบครัวไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย ผิดร้ายแรงทั้งทางโลกทางธรรม ‘พระไอยการลักษณผัวเมีย’ มีบทลงโทษให้ขับไล่ผู้กระทำ

“๓๖ มาตราหนึ่ง พ่อแม่ลูกพี่น้องยายหลานตาหลานลุงน้าหลานทำชู้กันไซ้ ให้ทำแพลอยผู้นั้นเสียในชะเล” (= ทะเล)

 

‘ชู้’ ยังมีความหมายว่า คู่รัก รักใคร่ชอบพอกัน แตะเนื้อต้องตัวกัน แต่ยังไม่ข้ามขั้นเกินเลยไปกว่านั้น ดังจะเห็นได้จากเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เมื่อเพื่อนเล่นวัยเยาว์เป็นหนุ่มขึ้นมา อยากเป็นมากกว่าเพื่อน นางพิมพิลาไลยได้ตัดพ้อฝ่ายชายที่กอดจูบนางกลางไร่ฝ้ายว่า

“เป็นเพื่อนแล้วจะเชือนเข้าเป็นชู้ มิรู้ที่จะคิดอย่างไรได้

คิดว่าทักรักกันมาแต่ไร จึงเพ้อพาซื่อไปไม่สงกา

ไม่งามนะข้าห้ามเจ้าพลายแก้ว ทีนีแล้วไปทีหลังอย่าได้ว่า”

‘ชู้’ และ ‘ผัว’ แม้ได้หญิงเป็นเมียทั้งคู่ แต่บทบาทและการยอมรับต่างกัน สมเด็จพระพันวษาในเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ทรงให้โอกาสนางวันทองตัดสินใจเลือกว่าจะอยู่กับใคร

“พระตรัสความถามซักไปทันใด ฤๅมึงไม่รักใครให้ว่ามา

จะรักชู้ชังผัวมึงกลัวอาย จะอยู่ด้วยลูกชายก็ไม่ว่า

ตามใจกูจะให้ดังวาจา แต่นี้เบื้องหน้าขาดเด็ดไป”

น่าสังเกตน้ำเสียงและท่าทีตัวละครที่มีต่อคำว่า ‘ชู้’ ออกจะดูถูกดูแคลนจนรู้สึกได้ ดังที่สมเด็จพระพันวษาทรงเหน็บแนมในทีว่า “จะรักชู้ชังผัวมึงกลัวอาย” เช่นเดียวกับบทละครรำเรื่อง “อิเหนา” พระเอกของเรื่องพยายามแก้ตัวกับนางบุษบาว่านางจินตะหราไร้ค่า ตนมิได้ยกย่อง นางไม่อยู่ในฐานะจะมาเทียบบุษบาได้

“พี่ลอบโลมเล่นแต่เช่นชู้ มิได้เลี้ยงเป็นคู่พิสมัย

อันตัวพี่กับเจ้าก็เข้าใจ ตุนาหงันกันไว้แต่เยาว์มา”

ยิ่งถ้าเกิดมี ‘ชู้ซ้อนชู้’ ดังปรากฏใน “สุภาษิตสอนหญิง” กรณีหนึ่งหญิงคั่วสองชาย

“จะรักไหนก็ไม่รักสมัครมั่น เล่นประชันเชิงลองทั้งสองข้าง

ชู้ต่อชู้รู้เรื่องเคืองระคาง ก็ขัดขวางหึงสาจะฆ่าฟัน”

ชู้รักบางคู่จำต้องเปลี่ยนที่อยู่เพราะเรื่องอื้อฉาวคาวคลุ้ง

“ต้องโศกศัลย์เศร้าใจอยู่ในตรวน

เคยที่นอนหมอนหนุนละมุนนิ่ม ไปนอนทิมกรากกรำเฝ้ากำสรวล

เล็นก็กัดหมัดก็กินจนสิ้นนวล แลแต่ล้วนลูกความออกหลามไป”

เมื่อตกที่นั่งนักโทษ ทั้งผัวทั้งชู้ต่างเมินหนีไร้ที่พึ่ง

“จะพึ่งชู้ชู้ก็เพียบกรอบเกรียบใจ จะพึ่งผัวผัวก็ไม่เมตตาตน”

 

ร้ายกว่านั้นเมื่อขึ้นศาล ถูกซักไซ้ไล่เลียงตื้นลึกหนาบางจนกระจ่าง ศาลให้สาวเลือกข้างว่าจะอยู่กับใคร “ถ้ารักชู้ก็ให้อยู่กับชู้ชาย” แต่กลับกลายว่าชู้นั้น “มันเบื่อหน่ายขายกลับเอาทรัพย์คืน” ขนาดชู้ยังเกินรับ จึงมีคนสมน้ำหน้าทั่วสารทิศ

น่าคิดว่า ‘ชู้’ กับ ‘ฉาบฉวย’ ที่หมายถึง ชั่วครั้งชั่วคราว ขอไปที ไม่จริงจัง เสียง ช และ ฉ ไม่ไกลกันเท่าไหร่ ให้ความรู้สึกไม่ต่างกัน ทั้ง ‘ชู้’ และ ‘ฉาบฉวย’ ทำให้ตระหนักถึงความง่อนแง่นไม่มั่นคง พร้อมเปลี่ยนแปลงทุกเมื่อ

กวีผู้แต่ง “สุภาษิตสอนหญิง” จึงทิ้งท้ายเตือนใจว่า

“อย่าคบชู้สู่สมนิยมหวัง ไม่จีรังกาลดอกบอกโฉมศรี” •

 

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร