“คนพวง” คือใคร? ปรากฎในวรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

วรรณคดีไทยใช่จะกล่าวถึง ‘คนโทษ’ เท่านั้น ‘คนพวง’ ก็มี มีทั้งไทยและเทศเสียด้วย

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนขุนแผนแก้พระท้ายน้ำ คนไทยกลายเป็นเชลยหรือคนโทษในคุกเมืองเชียงใหม่ ตอนเช้าพะทำมะรงจ่ายคนโทษไปทำงานนอกคุก

“นายร้อยพะทำมะรงตรงเข้าคุก จ่ายคนโทษไปทุกตำแหน่งที่

ตาหลอกับตารักบักจันดี อ้ายเหล่านี้เกี่ยวหญ้าหาเคียวคาน”

ผู้คุมตามติดไม่ให้คลาดสายตา พาคนโทษ ‘เดินผ่านล้วงตลาดวินาศไป’ ช่วงเช้าไปฉกชิงวิ่งราวในตลาดเช้า เสียงโซ่ตรวนขณะวิ่งดังประสานเสียงก่นด่าของแม่ค้าที่ถูกหยิบฉวยสินค้า ตกเย็นผู้คุมก็รวมพลคนโทษจนครบ

“พอสายัณห์ตะวันลงปลายไม้ ผู้คุมเรียกคนไปเสียงมี่ฉาน

พวกคนโทษวิ่งรี่ตะลีตะลาน จับสาแหรกแบกคานเข้าทุกคน

สวบสาบหาบหญ้ามาเป็นกลุ่ม อ้ายผู้คุมถือหวายแล้วไล่ก้น

เสียงฉุ่งฉิ่งวิ่งออกอลวน หาบหญ้าผ่าถนนตลอดมา”

ช่วงเย็นขากลับ ผู้คุมพาคนโทษผ่านอีกตลาดหนึ่ง น่าจะเป็นตลาดบ่าย คนโทษพากันฉกฉวยอาหารอีกครั้ง กวีใช้คำว่า ‘คนพวง’ และ ‘คนโทษ’ ควบคู่กันไป

“แม่ค้าเห็นคนพวงล่วงเข้าตลาด บ้างยกกระจาดหับกระชังระวังผ้า

พวกที่นั่งร้านรายขายกุ้งปลา ถือกะโล่โงง่าตั้งท่าคอย

ตาหลอหัวพวงล้วงปลาไหล ตารักร่าคว้าใส่เอาปลาสร้อย

อ้ายลูกแล่งแย่งคว้าปลาเล็กน้อย เขาโขกคอยหลบหน้าแล้วด่าทอ

ตาหลอหัวเราะร่าออกราแต้ วันนี้แลพ่อจะสั่งปิสังก้อ

เขาตีตบหลบขนเอาจนพอ ทั้งส้มกล้วยมะละกอก็พอการ

เสียงโซ่ตรวนโกร่งกร่างวางกันอึง นางคนหนึ่งรำมะก้าออกหน้าบ้าน

ฉวยไม้คานตีผลับแกจับคาน พลัดตกร้านล้มเค้ลงเก้กัง

พวกแม่ค้าด่าเปรี้ยงเสียงเกรี้ยวโกรธ อ้ายคนโทษวันนี้เป็นปีสัง

จึงเริงร่ากล้าหาญออกตึงตัง จะไปเรียนเฆี่ยนหลังเสียให้เลอะ”

บรรดา ‘คนพวง’ หรือ ‘คนโทษ’ ที่ได้ของกินเพราะผู้คุมเอื้อเฟื้อพาเดินผ่านตลาด เปิดโอกาสให้ฉกชิงวิ่งราวอาหารเลี้ยงปากท้อง พ้นตลาดมาถึงตะรางก็ทำดังนี้

“ก็ชวนกันวุ่นวิ่งมากริ่งกร่าง

หิ้วปลาหาบหญ้ามาตามทาง ถึงตะรางวางหญ้าลงหากิน

ชวนกันตั้งหม้อข้าวเผาปลาดุก ประเดี๋ยวใจก็สุกอยู่เสร็จสิ้น

คดข้าวใส่กระบายให้นายกิน พอตะวันตกดินลงทันใด”

ตอนเช้าผู้คุมพาคนโทษออกไปเท่าใด ตอนเย็นก็ต้องนับให้ครบคนเท่านั้น

“นายร้อยคอยนับคนโทษถ้วน ตรวจตรวนแล้วก็ร้อยด้วยโซ่ใหญ่

ตะเกียงตามสามแห่งออกแดงไป กุญแจใส่ลั่นกลอนซ้อนสองชั้น”

ตรวน คือ ห่วงเหล็กมีโซ่ล่ามถึงกันใช้สวมขานักโทษ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายไว้ใน “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่” ว่า

“เวลาคนโทษเข้านอนนั้น จะต้องมีโซ่สายยาวอีกสายหนึ่งร้อยตรวนคนโทษทุกคนไว้ มิให้หนีได้ และเมื่อร้อยทุกคนแล้ว ปลายโซ่นั้นก็จะไปใส่กุญแจไว้มิให้หลุดได้” ต่อจากนั้นผู้คุมปิดประตูลั่นกลอนสองชั้นและจุดไฟติดไว้สามแห่ง

 

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เล่าถึง ‘คนพวงไทย’ ในขณะที่บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 เล่าถึง ‘คนพวงพม่า’ ตอนท้าวกาหลังให้จัดเตรียมบ้านเมืองต้อนรับย่าหรันเหมือนเมื่อครั้งต้อนรับอุณากรรณและปันหยี

“รกเรี้ยวตรงไหนก็ให้ถาง ตามทางทุกตำบลถนนหลวง

ที่ปรักหักพังทั้งปวง เอาคนพวงพม่ามาทำการ”

หนังสือ “อักขราภิธานศรับท์” อธิบายว่า

“คนพวง, คือคนโทษเขาใส่โซร่คอสองคนติจกันนั้น (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

อาจารย์ศุภร บุนนาค ให้ความกระจ่างไว้ในหนังสือ “สมบัติกวี” เรื่องอิเหนาและขุนช้างขุนแผน ดังนี้

“คนพวง คือ คนโทษ ใช้ห่วงเหล็กสรวมคอ ใส่ตรวนที่ขาทั้งสอง ข้อมือ รวมสายโซ่ที่ใส่เข้าในห่วง แล้วล่ามติดกับคนอื่นต่อไป จึงเรียกว่า คนพวง

เวลาจะออกนอกสถานที่เขาก็เปลี่ยนขื่อคาเป็นสวมห่วงโยงกับตรวนที่คอ เรียกว่า พวงคอ … ฯลฯ เรียก ‘คนโทษ’ ว่า ‘คนพวง’ เพราะเอาโซ่ตรวนล่ามมือเท้าติดกันเป็นพวงเพื่อกันหลบหนี”

บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” ถึงจะเป็นเรื่องราวแขกชวา ก็มี ‘คนพวงพม่า’ ซึ่งเป็นเชลยศึกมาแทรกอยู่อย่างกลมกลืน สมัยรัชกาลที่ 2 ยังมีศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่า ทั้งสองฝ่ายต่างได้และเสีย ไทยได้พม่ามาเป็นเชลยและเสียคนไทยไปเป็นเชลยพม่า พม่าใช้งานเชลยไทย ไทยใช้งานเชลยพม่า กวีไทยได้นำเรื่อง ‘คนพวงพม่า’ มาแทรกไว้เป็นแรงงานตอนเมืองกาหลังเตรียมต้อนรับย่าหรัน ดังข้อความว่า ‘เอาคนพวงพม่ามาทำการ’

คำว่า ‘คนพวง’ จึงเป็นการเรียกตามลักษณะของคนที่ถูกจองจำนั่นเอง

 

‘คนพวง’ มิได้เพิ่งปรากฏในวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น อิเหนา และขุนช้างขุนแผน แต่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” (เอกสารจากหอหลวง) บันทึกเกี่ยวกับคนพวงที่มีจำนวนคนใส่โซ่ที่คอมากน้อยตามลักษณะโทษ มีกำหนดวันแน่นอนปล่อยให้ไปหากินในตลาด

“อนึ่ง มีคุกสำหรับขังคนนักโทษโจรผู้ร้ายปล้นสดมมีแปดคุก มีตะรางน่าคุกสำหรับใส่บุตรภรรยาอ้ายผู้ร้ายมีทุกน่าคุก ซึ่งนักโทษเบาเปนแต่โทษเบจเสรจใส่โซร่คอเปนพวงหนึ่ง 10 คน ใช้ทำราชการพระนครทุกแห่ง ถ้านักโทษหนักใส่โซร่คอพวงละ 20 คนบ้าง 30 คนบ้าง ต่อวันพระ 5 ค่ำ แปดค่ำ 11 ค่ำ สิบห้าค่ำ จึ่งจ่ายให้ออกไปขอทานกิน ตามตลาดทุกวันพระเดือนสิบครั้ง บุตรภรรยาอ้ายผู้ร้ายนั้นใส่ตรวนสองชั้น แล้วเอาเชือกผูกบั้นเอว ร้อยต่อกันออกใช้การ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ข้อความข้างต้นบอกให้รู้ว่าเมืองไทยสมัยก่อน ‘คุก’ และ ‘ตะราง’ คงจะต่างกัน คุกใช้ขังคนโทษหรือนักโทษ ส่วนตะรางใช้ขังลูกเมียคนเหล่านั้น

ใน “กฎหมายตราสามดวง” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 2 แม้ไม่มีคำว่า ‘คนพวง’ แต่มีคำว่า ‘ติดพวง’ ซึ่งหมายถึง คนพวง ระยะเวลาติดพวงไม่เท่ากันขึ้นกับโทษหนักเบา

“แลอ้ายผู้ร้ายโทษปล้นสดมนั้น ให้จำมันเสียทังกลางวันกลางคืนทีเดียว แต่โทษซึ่งนอกกว่านั้น จึ่งให้ ‘ติดพวง’ ไว้ใช้ราชการแต่กลางวัน ครั้นเพลาเยนให้จำใส่คุกไว้” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

กรณีผู้ร้ายลักโคกระบือ นอกจากให้เร่งนำสัตว์ส่งคืนเจ้าของและเอาทรัพย์ของผู้ร้ายมาจ่ายเป็นค่าปรับให้ทางราชการแล้ว ยังไม่จบแค่นั้น ทั้งเจ้าตัวและลูกเมียต้องรับโทษทั่วหน้า

“แล้วให้เอาตัวอ้ายผู้ร้ายบุตภิริยาอ้ายผู้ร้ายส่งไปยังกรุง แลตัวอ้ายผู้ร้ายให้ศักหน้าเสียส่งเข้าคุก ‘ติดพวง’ ไว้ใช้กว่าจะตาย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ทั้งคนโทษคนพวงทุกข์ทรมานแสนสาหัสเพราะเครื่องจองจำ มีอะไรบ้าง

ติดตามฉบับหน้า •