บทกวีพานแว่นฟ้า : ฝันที่แตกต่างกับการช่วงชิงนิยามประชาธิปไตย (2)

ย้อนอ่าน บทกวีพานแว่นฟ้า : ฝันที่แตกต่างกับการช่วงชิงนิยามประชาธิปไตย (1)

ต่อมาผู้เขียนได้ศึกษาต่อไปอีกว่า บทกวีการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้าปี 2556 ที่จัดประกวดเป็นครั้งที่ 12 ก่อนประกาศพักการประกวดชั่วคราวในปี 2557 เนื่องจากเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั้น นำเสนอภาพประชาธิปไตยอย่างไร

เหมือนหรือต่างจากภาพเสนอประชาธิปไตยในบทกวีการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า 2546-2555 อย่างไรบ้าง

การประกวดวรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้าปี 2556 มีประเด็นที่น่าสนใจคือ เป็นการจัดประกวดครั้งสุดท้ายก่อนเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

และเป็นการประกวดภายใต้สถานการณ์ลมเปลี่ยนทิศ หลังพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในปี พ.ศ.2554 ได้ผู้แทนราษฎร 265 ที่นั่ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ต่อจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

โดยข้อเท็จจริง การเปลี่ยนขั้วอำนาจจากซีกการเมืองพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นพรรคเพื่อไทยนั้นเริ่มมาแต่ปี 2555

แต่การจัดประกวดวรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้าในปีดังกล่าวยังคงดำเนินไปได้ตามปกติ

ทว่า ในการประกวดในปี 2556 ได้เกิดปัญหาลุกลามบานปลายถึงขั้นกรรมการตัดสินรางวัลส่วนหนึ่งยกขบวนลาออก

เป็นเหตุให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ปรากฏเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ

เช่น หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 พาดหัวข่าวว่า เมื่อ “พานแว่นฟ้า” ถูกทาสี หรือวรรณกรรมแดงจะครองเมือง?

เนื้อข่าวมีใจความว่า

การประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้าครั้งที่ 12 ถูกครหาอย่างหนัก

กระทั่งสื่อบางสื่อขนานนามว่าเป็น “พานแว่นแดง”

และมีความขัดแย้งเกิดขึ้นจนนำไปสู่การลาออกของ 14 กรรมการชุดก่อน ที่ทำหน้าที่คณะกรรมการจัดประกวดต่อเนื่องมาหลายปี

เหตุของปัญหาเกิดจากมีการแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่เข้ามาเสริมทัพ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ากรรมการชุดใหม่ที่เข้ามานี้เป็นนักเขียนในกลุ่มที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองไปในแนวเสื้อแดง

กรุงเทพธุรกิจ (3 พฤษภาคม 2556 : ออนไลน์) พาดหัวข่าวในทำนองเดียวกันว่า “พานแว่นฟ้า (แดง) เดือด กก.-นักเขียน ถอนตัว”

เนื้อข่าวมีใจความว่า คณะกรรมชุดที่ลาออกนั้นเป็นกรรมการจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

โดย นายเจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงสาเหตุการลาออกจากการทำหน้าที่กรรมการรางวัลพานแว่นฟ้าครั้งที่ 12 หลังจากเข้าร่วมประชุมนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2556

กรรมการที่ประสงค์ลาออก อาทิ นายเจน สงสมพันธุ์ นางชมัยภร บางคมบาง นายบูรพา อารัมภีร นางกนกวลี กันไทยราษฎร์ นายจิตติ หนูสุข นายพินิจ นิลรัตน์ นายธาดา เกิดมงคล นายเฉลิมศักดิ์ แหงมงาม นางนรีภพ จิระโพธรัตน์ นางสาวมณฑา ศิริปุณย์ และ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เป็นต้น

ภาวะทางใครทางมันของเหล่ากรรมการตัดสินรางวัลพานแว่นฟ้า 2556 เผยให้เห็นภาพความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ในสังคมไทยช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาอย่างชัดเจน

โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า กลุ่มคนที่มีฝันที่แตกต่างกลับชิงกันอ้างว่าประชาธิปไตยคือจุดหมายปลายทางของตน

กรรมการพานแว่นฟ้าสองกลุ่มที่มีความคิดทางการเมืองคนละขั้ว

ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าตนเหมาะสมสามารถในการจะตัดสินวรรณกรรมการเมืองที่ทำหน้าที่สนับสนุนประชาธิปไตย

แน่นอนว่า วรรณกรรมที่กรรมการแต่ละกลุ่มตัดสินใจเลือกย่อมสอดคล้องกับความคิดทางการเมืองของกรรมการ

หรือเป็นกระบอกเสียงป่าวประกาศความคิดทางการเมืองของกรรมการ

ดังนั้น จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยว่าประชาธิปไตยของคนทั้งสองกลุ่มจะมีหน้าตาเหมือนกัน

ภาพเสนอประชาธิปไตย (The Represent of Democracy) ในวรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า 2546-2555 นั้นดำเนินไปภายใต้การควบคุมของกรรมการตัดสินรางวัลกลุ่มเดิมมาตลอด

ในส่วนของเนื้อหาพบว่ามีความสอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน แทบไม่พบร่องรอยบ่งบอกความเป็นคนละเนื้อคนละน้ำ

แม้พบบทกวีที่พยายามนำเสนอเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบทสังคมเฉพาะห้วงเวลาอยู่บ้าง

เช่น ปีที่ปัญหาภาคใต้เบียดขึ้นมาเป็นกระแสให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ปีนั้นก็มีตัวบทพูดถึงปัญหาภาคใต้ให้เห็นหลายบท

ปีที่การชุมนุมประท้วงในเมืองหลวงกลายเป็นประเด็นใหญ่ ก็มีตัวบทที่นำเสนอเนื้อหาดังกล่าวในแง่มุมต่างๆ มากเป็นพิเศษ

แต่โดยภาพรวม บทกวีเกือบทั้งหมดล้วนจับมือกันนำเสนอภาพประชาธิปไตยใน 5 ประเด็นที่ผู้เขียนได้กล่าวไป

และแต่ละบทต่างทำหน้าที่รับส่ง หนุนเนื่อง เน้นย้ำให้ประเด็นทั้งห้าส่งสารชัดเจนและหนักแน่น

หนังสือรวมเล่ม “วรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย ครั้งที่ 12” (ดวงฤทัย เอสะนาซาตัง บรรณาธิการ. 2556) แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคเรื่องสั้น และภาคบทกวี

ทั้งสองภาคอยู่คนละด้านของหนังสือ

ภาคเรื่องสั้นประกอบด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด 12 เรื่อง อยู่ภายใต้ชื่อปก “การยืนยันอีกครั้งหนึ่งของสาวแม่ฮ้างแห่งหมู่บ้านตาเอกทะไม” ซึ่งเป็นชื่อเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทยยอดเยี่ยม

ส่วนภาคบทกวีประกอบด้วยบทกวีจำนวน 12 ตัวบท อยู่ภายใต้ชื่อปก “เบี้ย” ซึ่งเป็นชื่อบทกวีที่ได้รับรางวัลบทกวีรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทยยอดเยี่ยมเช่นกัน

การศึกษาบทกวีรางวัลพานแว่นฟ้า 2556 ทั้ง 12 ตัวบท

พบว่าภาพเสนอประชาธิปไตยปรากฏอย่างเด่นชัดในบทกวี 2 ตัวบท ได้แก่ “เพียงเล่นอย่างเด็กเล่น” ของ “สองขา” และ “เบี้ย” ของ “อรุณรุ่ง สัตย์สวี”

ยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย : สิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม

หลักการสำคัญพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม ถูกกล่าวถึงในตัวบท “เพียงเล่นอย่างเด็กเล่น” (น.49-50) ที่เสนอภาพประชาธิปไตยในอุดมคติว่าต้องยึดมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคอย่างตรงไปตรงมา แม้ตัวบทใช้ลีลาทางวรรณกรรมโดยอุปมา (Simile) ประชาธิปไตยกับการเล่น “เป่ายิงฉุบ”

“เป่ายิงฉุบ” เป็นการละเล่นของเด็กที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก ใช้ “มือ” เป็นเครื่องมือในการแข่งขัน

การละเล่นเป่ายิ้งฉุบในบริบทสังคมไทยนั้นการเสี่ยงมือทำได้ 3 แบบ คือ ค้อน กรรไกร และกระดาษ

มีกติกาชัดเจนว่า ค้อนชนะกรรไกร แพ้กระดาษ กรรไกรชนะกระดาษ แพ้ค้อน และกระดาษชนะค้อน แพ้กรรไกร ผู้เล่นต้องเคารพในกติกานี้อย่างเคร่งครัด

เห็นเด็กเล่น เป่ายิงฉุบ หุบตัดกาง ค้อน กรรไกร กระดาษวาง ลงข้างหน้า

เล่นบนทาง อย่างเคารพ กติกา สามสมดุล สมคุณค่า เท่าเท่ากัน

เสมอภาค ทั้งมีสิทธิ์ อิสระ เพราะว่าจะ ออกอะไร ได้ทั้งนั้น

มือหนึ่งมือ คือลิขิต สิทธิ์สำคัญ เล่นสร้างสรรค์ ทั้งสากล คนเล่นรู้ (น.49)

“มือ” ในตัวบทดังกล่าวบรรจุทั้งความหมายตรงและความหมายแฝง ความหมายตรง “มือ” คือมือที่เด็กใช้เล่นเป่ายิ้งฉุบ

แต่ความหมายแฝง “มือ” คือสัญลักษณ์ของการกำหนดชีวิตตนเอง กำหนดอนาคตตนเอง (เช่นเดียวกับที่ปรากฏในคำขวัญ “ทุกสิ่งในชีวิตลิขิตได้ด้วยมือเรา” หรือ “โลกสวยด้วยมือเรา”)

“มือ” ในตัวบทนี้จึงสื่อถึงสิทธิในการกำหนดชีวิตตนเอง

เปรียบได้กับ “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง (Self-Determination) ของประชาชน

การกำหนดชะตากรรมตนเองนี้ประชาชนทุกคนสามารถกระทำได้ภายใต้การเคารพกติกา อันได้แก่ สิทธิ เสรีภาพ และเสมอภาค อันเป็นหลักสากล