รายงานพิเศษ : คุยกับทูต ‘จิลส์ การาชง’ ฝรั่งเศสยึดมั่นในเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ (3)

ตอน 1 2

โดย ชนัดดา ชินะโยธิน

ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรที่สำคัญของประเทศไทย ความสัมพันธ์ดำเนินไปด้วยความราบรื่น มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันในทุกระดับและทุกภาคส่วน ปัจจุบัน ยกระดับเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน

มีแผนปฏิบัติการร่วมไทย-ฝรั่งเศส ฉบับที่ 1 (ปี ค.ศ.2004-2008) โดยความคิดริเริ่มและข้อเสนอของ นายฌากส์ ชีรัก (Jacques Chirac) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในขณะนั้น

และแผนปฏิบัติการร่วมไทย-ฝรั่งเศส ฉบับที่ 2 (ปี ค.ศ.2010-2014) ครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา วิชาการ การท่องเที่ยว พลังงาน การทหาร มีความร่วมมือไตรภาคีเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ ฯลฯ

ท่านทูตการาชง เล่าถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน

“ผลิตภัณฑ์ที่เรานำเข้าจากประเทศไทยได้แก่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ กุ้ง ปลา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว ผลไม้ เลนส์แว่นตา เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา เครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า”

“เราส่งออกสินค้าให้กับไทยในทุกภาคส่วน ที่มีราคาสูงมากที่สุดคือ เครื่องบินแอร์บัส นอกจากนี้ได้แก่ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์จากพืช น้ำมันเครื่องรถยนต์และน้ำมันหล่อลื่นอุตสาหกรรมโททาล (Total) เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์แบรนด์เนมต่างๆ เช่น L’Oréal, Yves Saint Laurent, Christian Dior, Chanel และ Louis Vuitton และเราผลิตยางมิชลิน (Michelin) ในประเทศไทยด้วย”

ในภาครัฐ มีคณะทำงานร่วมด้านการค้าไทย-ฝรั่งเศส และมีการจัดทำข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (The High Level Economic Dialogue between Thailand and France)

“ปี ค.ศ.2013 ฝรั่งเศสลงทุนในไทยมากเป็นลำดับที่ 5 ของสหภาพยุโรป (รองจากเนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก สหราชอาณาจักรและเยอรมนี) มีบริษัทของฝรั่งเศสลงทุนในไทยประมาณ 350 บริษัท รวมทั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างฝรั่งเศสชื่อ Bouygues ผู้สร้างอาคารมหานคร (MahaNakhon) แลนด์มาร์กแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ โดยมีความสูงที่สุดในประเทศไทยถึง 314 เมตร และมี 77 ชั้น”

“การกลับมาของบริษัทผลิตรถยนต์ฝรั่งเศส ทำให้เราเริ่มเห็นรถเปอร์โยต์ (Peugeot) บนท้องถนนหลายสายที่นี่ ส่วนรถเรโนลต์ (Renault) ได้รวมกับนิสสัน (Nissan) แต่น่าเสียดายที่รถยนต์ซีตรอง (Citro?n) จะไม่มีจำหน่ายที่นี่อีกต่อไป”

การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคและการโรงแรม ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ลงทุนในประเทศไทยมากเป็นอันดับที่ 7 รองจากญี่ปุ่น (ร้อยละ 29) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 18) สิงคโปร์ (ร้อยละ 14) ฮ่องกง (ร้อยละ 12) สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 5) และไต้หวัน (ร้อยละ 4)

อย่างไรก็ตาม สถิติเหล่านี้อาจไม่สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงอย่างสมบูรณ์นัก เนื่องจากวิธีการลงทุนซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

4-lecole-speciale-militaire-de-saint-cyr

ความร่วมมือด้านการทหารเป็นไปอย่างใกล้ชิด

เช่น การฝึกการปฏิบัติการร่วมทางเรือ การแลกเปลี่ยนการเยือนของนายทหารในระดับผู้นำเหล่าทัพและผู้บังคับบัญชาระดับสูง ตลอดจนการศึกษาดูงานด้านต่างๆ ของนายทหารสัญญาบัตร

การส่งนักเรียนนายร้อยไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยแซงซีร์ Saint-Cyr (?cole Sp?ciale Militaire de Saint-Cyr) ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10 นาย

ประเทศไทยได้จัดซื้อยุทโธปกรณ์หลายชนิดจากฝรั่งเศสด้วย โดยมีการลงนามในความตกลงด้านการป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2013

อันครอบคลุมความร่วมมือด้านการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ การวิจัยและการพัฒนา การทหาร การส่งกำลังบำรุง ความร่วมมือด้านยุทโธปกรณ์

การศึกษาและการฝึกบุคลากร

ไทยและฝรั่งเศสได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ.2004 และระหว่างเดือนมกราคม-เดือนมิถุนายน ค.ศ.2016 มีนักท่องเที่ยวฝรั่งเศสมาไทยจำนวน 450,784 คน ภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน

“มีการแลกเปลี่ยนการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมระหว่างกันเพื่อสร้างความเข้าใจและความใกล้ชิดระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งเราได้ริเริ่มจัดงานเทศกาลวัฒนธรรมฝรั่งเศส-ไทย (La F?te) ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2004 และได้จัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน”

ส่วนสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส จัดกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องเช่นกัน อาทิ การจัดนิทรรศการศิลปะสมัยทวารวดีที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติด้านศิลปะเอเชีย กีเม่ (Mus?e Guimet) กรุงปารีส ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ.2009

การจัดงาน “วันประเทศไทย” ในเมืองสำคัญต่างๆ ของฝรั่งเศส

การจัดงานสุดสัปดาห์ไทยระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม ค.ศ.2012 โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส จัดร่วมกับพระราชวังฟงแตนโบล (Ch?teau de Fontainebleau)

และการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปี วันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ สำนักงานใหญ่ของยูเนสโก (UNESCO) กรุงปารีส เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ.2012 ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน

2-airbus-a350

“สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส มีเป้าหมายในการกระชับความสัมพันธ์ระดับสูง โดยมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือระดับสถาบัน ระหว่างหน่วยงานด้านการอุดมศึกษาและวิจัยของไทยและฝรั่งเศสในระยะยาว ผ่านกิจกรรมด้านวิชาการในหลากหลายรูปแบบ”

“เราได้เริ่มให้ทุนในรูปแบบต่างๆ แก่ฝ่ายไทยมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1975 ในระดับปริญญาโทและเอก รวมถึงทุนฝึกอบรมระยะสั้น และทุนดูงานตามคำขอของหน่วยงานต่างๆ มีการประชุมเพื่อพิจารณาภายใต้กรอบ โครงการความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการศึกษา (Bureau de Coop?ration pour le Fran?ais – BCF) เน้นทางด้านการเรียน การสอนภาษา วัฒนธรรมฝรั่งเศส และการท่องเที่ยว และโครงการความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย-ฝรั่งเศส (Thai-French Scientific and Technical Cooperation Program – STC)”

“นอกจากนี้ ได้มอบทุนฝึกอบรมประจำปีแก่ครูไทยที่สอนภาษาฝรั่งเศสและนักเรียนไทยที่เรียนภาษาฝรั่งเศส และจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาฝึกอบรมให้แก่ศึกษานิเทศก์และครูสอนภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี รวมทั้งให้การสนับสนุนในการจัดกิจกรรมทางวิชาการและการจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนแก่กระทรวงศึกษาธิการด้วย”

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาต่างประเทศอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาษาฝรั่งเศส ทรงเคยรับเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาฝรั่งเศสให้กับหลายมหาวิทยาลัย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

และในปี ค.ศ.1977 ทรงริเริ่มก่อตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย (Association Tha?landaise des Professeurs de Fran?ais-ATPF) ขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การปรับปรุงวิธีการสอนทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ทรงดำรงตำแหน่งนายกสมาคม ตั้งแต่ ค.ศ.1977 จนถึง ค.ศ.1981

ปัจจุบัน สมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย อยู่ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ภาษาฝรั่งเศสนอกจากใช้พูดในประเทศฝรั่งเศสแล้ว ยังใช้ในเขตบางแห่งในแคนาดา บางแห่งในเบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ และอีกหลายประเทศทั่วโลก

ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการใน 33 ประเทศ และเป็นภาษาเดียวนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ ที่มีผู้พูดภาษานี้อยู่ใน 5 ทวีป ภาษาฝรั่งเศสมีบทบาทสำคัญมายาวนานในระดับโลกที่ใช้เป็นภาษาทางการในการทำงานองค์กรสำคัญระดับโลก (ควบคู่กับภาษาอื่นๆ) ได้แก่ สหประชาชาติ (The United Nations-UN), องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ-ยูเนสโก (UNESCO), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF), คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee-IOC) และสหภาพยุโรป (European Union-EU)

เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย นายจิลส์ การาชง กล่าวว่า

“เราโชคดีมากที่คนไทยมีแนวโน้มในการเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์พิเศษ (special relationship) ระหว่างพระราชวงศ์ไทยกับภาษาฝรั่งเศส โดยเราให้การสนับสนุนครูสอนภาษาฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้คนไทยสามารถใช้ภาษาฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่วแท้จริง”

“นอกจากนี้ เรากำลังมองหาวิธีอื่นเพื่อช่วยในการขยายความสัมพันธ์ รวมทั้งให้ความร่วมมือทางด้านมรดกและศิลปะในการประกอบอาหาร (heritage and gastronomy)”