รายงานพิเศษ : คุยกับทูต จิลส์ การาชง ฝรั่งเศสยึดมั่นในเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ (1)

เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย จิลส์ การาชง

ไทยกับฝรั่งเศสเริ่มมีความสัมพันธ์ระหว่างกันตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ส่งราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีในปี ค.ศ.1685

ต่อมา ราชทูตสยามคือเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) หรือราชทูตลิ้นทอง ซึ่งขณะนั้นยังมีบรรดาศักดิ์เป็นออกพระวิสูตรสุนทร ได้เดินทางโดยเรือไปฝรั่งเศสในเดือนธันวาคม ค.ศ.1685

และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 วันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1686 เพื่อถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการ ณ พระราชวังแวร์ซายส์

มีการเลี้ยงฉลองอย่างใหญ่โต และมีที่พักอย่างสมเกียรติ ณ เลขที่ 10 ถนน Tournon ในกรุงปารีส

ราชทูตคณะนี้เดินทางกลับในวันที่ 27 กันยายน ค.ศ.1687

ส่วนคณะทูตไทยที่ออกเดินทางไปก่อนหน้านั้นไม่สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายได้ เพราะเกิดอุปสรรคเรืออับปางลงก่อนเสมอ

ผู้แทนจากฝรั่งเศสเดินทางมาเพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหลายคณะ ที่มีชื่อเสียงที่สุดเห็นจะได้แก่คณะของราชทูต “อัศวินแห่งโชมง” คือ อาแล็กซ็องดร์ เชอวาลีเย เดอ โชมง (Alexandre, Chevalier de Chaumont) ซึ่งนำบาทหลวงโรมันคาทอลิกมาเผยแผ่ศาสนาด้วย

ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย
ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องและสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันโดยการลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรี การค้า และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1856 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Napoleon III, the Emperor)

ต่อมาฝ่ายไทยได้ตั้งสำนักงานและผู้แทนระดับอัครราชทูตประจำกรุงปารีสปี ค.ศ.1889 และได้ยกสถานะเป็นสถานเอกอัครราชทูตปี ค.ศ.1949

เมื่อปี ค.ศ.2006 มีการเฉลิมฉลองที่ทั้งสองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันครบรอบ 150 ปีนับตั้งแต่ได้มีการลงนามสนธิสัญญาทางไมตรี การค้า และการเดินเรือ ปี ค.ศ.1856 และจะมีการเฉลิมฉลองครบรอบ 160 ปีในปลายปี ค.ศ.2016 นี้เช่นกัน

ปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้แต่งตั้ง นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีสเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.2016

ส่วนฝรั่งเศสได้แต่งตั้ง นายจิลส์ การาชง (H.E. Gilles Garachon) เป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ.2015

ที่ทำการสถานทูตฝรั่งเศส
ที่ทำการสถานทูตฝรั่งเศส

“ผมเกิดปี ค.ศ.1955 ในกรุงปารีส ได้รับปริญญาเอกทางประวัติศาสตร์ และสำเร็จการศึกษาสาขาวิชาภาษาพม่าและภาษาฮินดี จากสถาบันภาษาและวัฒนธรรมตะวันออกแห่งชาติ (Institut National des Langues et Civilisations Orientales – INALCO) กรุงปารีส” ท่านทูตการาชง เริ่มต้นเล่าประวัติความเป็นมาภายในห้องทำงานอันกว้างขวาง สามารถมองเห็นสายน้ำเจ้าพระยากระทบกับแสงแดดในยามบ่ายเป็นประกายระยิบระยับ

“ตอนแรกไม่ได้คิดจะเป็นนักการทูต แต่อยากจะเป็นนักประวัติศาสตร์ จึงเรียนจบสองวิชาหลักคือ ประวัติศาสตร์และโบราณคดีเน้นเฉพาะอินเดียตอนเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วก็พบว่าไม่ได้รักประวัติศาสตร์มากอย่างที่เคยคิดเพราะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับอดีต แต่ผมอยากจะเข้ามามีส่วนในปัจจุบันเพื่อร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์มากกว่า นั่นเป็นเหตุผลที่เลือกมาทางการทูต และการที่มีพื้นฐานด้านโบราณคดีเอเชีย จึงมีส่วนช่วยให้ผมมีความเชี่ยวชาญในเรื่องเอเชียมากขึ้น”

“เดินทางมาท่องเที่ยวฮ่องกงและประเทศไทยเป็นครั้งแรก ค.ศ.1972 เมื่ออายุเพียง 16 ปี ก็เกิดความประทับใจในน้ำใจไมตรีของคนไทยและติดอกติดใจในรสชาติอาหารไทยเป็นอย่างมาก”

“ประเทศไทยคือการค้นพบที่ยิ่งใหญ่สำหรับผม ความรู้สึกบอกว่า ผมจะต้องกลับมาที่นี่อีก ซึ่งตอนนั้นพัทยายังมีถนนเพียงสายเดียว เกาะที่อยู่ใกล้เคียงกันก็สวยงามมาก”

“ในปลายๆ ยุค 70 ผมได้กลับมาเมืองไทยอีกหลายครั้ง เพราะไปเข้าร่วมโปรแกรมโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และส่วนใหญ่ประจำที่กรุงเทพฯ เนื่องจากช่วงนั้นพม่าปิดประเทศ ถ้าอยากจะช็อปปิ้งก็ต้องมาประเทศไทยซึ่งเป็นประตูสู่ประเทศพม่า”

“ผมเรียนภาษาพม่าที่กรุงย่างกุ้ง และได้รับการแต่งตั้งจากสถานทูตฝรั่งเศสให้สอนภาษาฝรั่งเศสที่สมาคมฝรั่งเศส (Alliance Fran?aise de Yangon) ในพม่าเป็นเวลาสองปี ช่วงนี้ ผมจึงตัดสินใจที่จะเป็นนักการทูต เนื่องมาจากว่า ขณะที่ผมสอนภาษาฝรั่งเศสที่สถานทูตของเราในกรุงย่างกุ้งซึ่งมีขนาดเล็กมากทำให้ผมสามารถมองเห็นการทำงานของนักการทูตได้ จึงคิดว่าการทูตเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากกว่าโบราณคดี ผมจึงกลับไปศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่ฝรั่งเศสเมื่ออายุ 25 ปี และสามารถผ่านการสอบเข้าทำงานที่กระทรวงต่างประเทศ ได้เริ่มต้นชีวิตเป็นนักการทูตปี ค.ศ.1987 นับว่าโชคดีมากที่ได้รับการแต่งตั้งให้ไปประจำยังเมืองที่น่าสนใจในเอเชีย เช่น นิวเดลี ฮ่องกง จาการ์ตา มะนิลา และแน่นอนที่สุด…กรุงเทพฯ”

“กลับมาเมืองไทยอีกครั้ง คราวนี้ไม่ได้มาในฐานะนักท่องเที่ยวแต่ในฐานะนักการทูตมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเมือง (Political Counselor) ของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสระหว่างปี ค.ศ.1999-2003 เริ่มแรกมี มร.เจอราด คอส (G?rard Coste) เป็นเอกอัครราชทูตและเป็นจิตรกรด้วย ต่อมาคือ เอกอัครราชทูต กรีสตียอง แปรตร์ (Christian Prettre) และเอกอัครราชทูต โลรองต์ โอแบล็ง (Laurent Aublin) เมื่อหมดวาระ ผมย้ายไปประจำที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นที่ปรึกษาทางด้านวัฒนธรรม (Cultural Counselor) ราว 4 ปี และกลับไปประจำกระทรวงต่างประเทศที่ปารีสอีก 5 ปี”

“ในที่สุดได้เป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศฟิลิปปินส์ช่วงปี ค.ศ.2012-2015 มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐปาเลา (Republic of Palau), สหพันธรัฐไมโครนีเซีย (Federated States of Micronesia) และสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ (Republic of the Marshall Islands)”

“ก่อนหน้าที่จะมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว”

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศที่กระทรวงให้สิทธิผมเลือกประเทศที่จะมาทำงาน ผมจึงเลือกประเทศไทยเพราะบุตรชายของเราทั้งสองคนเกิดในช่วงที่ผมมาประจำที่นี่ครั้งแรกในตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเมือง (Political Counselor) จึงเสมือนเป็นโอกาสที่เราจะได้กลับบ้าน”

“ครอบครัวของผมรักประเทศไทย และทุกคนอยากจะกลับมา เป็นการตัดสินใจของทุกคนในครอบครัวไม่ใช่โดยผมเพียงคนเดียว เมื่อผมแจ้งครอบครัวในตอนแรกว่า มีความเป็นไปได้ที่เราจะได้กลับเมืองไทย ทุกคนตะโกนร้อง “ตกลง! ตกลง!” ด้วยความตื่นเต้นดีใจ”

“แต่ปัญหาคือ การตัดสินใจอย่างเป็นทางการของกระทรวงใช้เวลาสี่เดือน ผมรู้ว่ามีความเป็นไปได้แต่ก็ยังไม่มั่นใจ การเลือกมาอยู่ที่นี่ไม่ง่ายนักเพราะมีการแข่งขันกันสูง ระหว่างที่รอการยืนยันนั้น ผมจึงค่อนข้างกังวลว่าครอบครัวอาจจะผิดหวังก็ได้”

“แต่ในที่สุดก็โล่งใจเพราะเราได้กลับ มาอยู่อย่างมีความสุข ณ บ้านแห่งประวัติศาสตร์บนถนน แบรสต์ (Rue de Brest) ชื่อเดิมคือซอยเจริญกรุง 36 (ซอยโรงภาษีเก่า) ซึ่งมีพิธีเฉลิมฉลองชื่อใหม่ไปแล้วเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2013”

เอกอัครราชทูต จิลส์ การาชง (Gilles Garachon) และภรรยา มาดามอิซาเเบล (Isabelle Garachon) มีบุตรชายสองคนปัจจุบันอายุ 15 และ17 ปี คือ อาร์เธอร์ (Arthur) และวาลองแตง (Valentin)

ทั้งคู่เกิดและเติบโตในประเทศไทยมีพี่เลี้ยงเป็นคนไทยตั้งแต่แรกเกิด ปัจจุบันเรียนที่โรงเรียนนานาชาติฝรั่งเศส ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ

“เราได้เปิดทำเนียบ และที่ทำการของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสให้บุคคลภายนอกเข้าชมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นวันมรดกยุโรป (European Heritage Day) ในประเทศไทย ซึ่งวันมรดกยุโรปของแต่ละปี เป็นวันที่หลายๆ คนจะได้สัมผัสกับความรุ่มรวยและความหลากหลายทางสถาปัตยกรรมของสถานที่สำคัญต่างๆ”

“วันอันสำคัญนี้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1984 ในประเทศฝรั่งเศส และหลายประเทศในยุโรปได้นำรูปแบบการจัดงานดังกล่าวไปใช้ โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 33”