ส่องกองหนุน ‘บิ๊กทิน’ เหนียวยึด ‘สนามไชย’ กับมิชชั่น อิมพอสซิเบิล สกัดรัฐประหาร ฟื้นวอร์รูม กห.ในตำนาน ต้านปฏิวัติ

หลังจากนายสุทิน คลังแสง ได้ไปต่อ นั่งเก้าอี้ “สนามไชย 1” เป็น รมว.กลาโหมต่อไป

นายสุทินก็เดินหน้าหลายมิชชั่นต่อ โดยเฉพาะการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ที่เป็นที่จับตามอง และมากด้วยข้อวิพากษ์วิจารณ์

ท่ามกลางกระแสข่าวลือที่ว่า แม้ได้ไปต่อ แต่นายสุทินอาจจะอยู่ไม่นาน เพราะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เหลือแค่เก้าอี้เดียว ไม่ได้ควบ รมต. อาจจะมาควบ รมว.กลาโหม ในช่วงเดือนสิงหาคม ที่จะเป็นนายกฯ ครบ 1 ปี และเป็นช่วงโค้งสุดท้ายจัดโผทหาร ที่มีการแต่งตั้ง ผบ.ทบ. และ ผบ.ทร.คนใหม่ แทนบิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. และบิ๊กดุง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. จะเกษียณกันยายน 2567 และจะมีการวางตัวนายทหารที่จะมาจ่อคิวรอเป็นปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.ทอ. ที่จะเกษียณกันยายน 2568

โดยจังหวะนั้น นายเศรษฐา อาจจะมาควบ รมว.กลาโหม เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองในการแต่งตั้งโยกย้าย ที่แม้ว่า รมว.กลาโหม จะมีแค่ 1 เสียง หรือหากมีการตั้ง รมช.กลาโหม ก็เพิ่มมาอีก 1 เสียง

แต่หากเป็นบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม น้องรักบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่แน่ว่าจะเป็นฝ่ายที่จะเพิ่มอำนาจการต่อรองให้ รมว.กลาโหม เพราะยังมีตำแหน่งแม่ทัพภาค ผบ.กองพล และ ผบ.มทบ. ที่ต้องพิจารณาอีก

แต่ทว่า นายสุทินก็สยบกระแสข่าวนายกฯ จะมาควบ รมว.กลาโหม และสยบความขัดแย้ง วัดพลังกัน ด้วยการยืนยันจากการไปพบนายเศรษฐาที่ทำเนียบรัฐบาล เช้า 24 เมษายนที่ผ่านมา หลังได้ไปต่อ เพื่อรับมอบแนวทางในการทำงาน ขีดเส้นใต้ในหลายนโยบาย

พร้อมเปิดผยว่า นายเศรษฐาเปรยว่า คนเข้าใจผิด นายกฯ ไม่เคยคิดว่าจะมาควบ รมว.กลาโหม แต่ก็เป็นการคาดหมายกันไป บางคนก็ซ้ำเติมปล่อยข่าวกันไป

ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า นายสุทินเก้าอี้เหนียวเพราะมีแบ๊กอัพดี ทั้งสายชินวัตร เช่น นายพายัพ ชินวัตร ที่ควงกันไปสวัสดีสงกรานต์ อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่เชียงใหม่ และเคยมีชื่อจะเป็นประธานที่ปรึกษา รมว.กชาโหม แต่เอกสารหลุด นายสุทินจึงระงับไป

รวมทั้งบิ๊กต๋อย พล.อ.อุทัย ชินวัตร อดีตรองปลัดกลาโหม ญาติผู้พี่นายทักษิณ พี่ชายบิ๊กตุ้ย พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.ทบ. ที่ยังมีนายทหารแตงโมที่ใกล้ชิด มาช่วยงานนายสุทิน และมีตำแหน่ง

รวมทั้งนายทักษิณเองที่นายสุทินก็ไปพบส่วนตัวมาตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ ที่ถือว่ามีอำนาจตัวจริง จนนายสุทินมั่นใจว่า ไม่มีการส่งสัญญาณว่าจะหลุดเก้าอี้ หรือแม้แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง ก็สายตรงถึงนายสุทินเสมอๆ

อีกทั้งบรรดาบิ๊กๆ ทหารเก่า ที่นายสุทินเดินสายไปพบ ขอคำแนะนำ และเป็นเสมือนที่ปรึกษาส่วนตัว ตั้งแต่มารับตำแหน่ง ทั้งบิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ บิ๊กแอ๊ด พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีต รมว.กลาโหม และบิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม ที่โดนรัฐประหารทั้ง 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557 ที่สนับสนุนนายสุทินให้แก้ กม.สกัดการรัฐประหาร

เพราะต่างก็เจ็บปวดจากการรัฐประหารเช่นกัน

ขณะที่บรรดา ผบ.เหล่าทัพ ก็ยังสงวนท่าทีต่อการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม โดยงดแสดงความคิดเห็น แม้แต่ในการประชุม ผบ.เหล่าทัพครั้งล่าสุด ที่กองทัพเรือ นำโดย ผบ.อ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.เหล่าทัพ มากันพร้อมหน้า แต่ก็งดให้สัมภาษณ์

มีเพียง พล.ร.อ.อะดุง ผบ.ทร. ที่พูดสั้นๆ แค่ว่า เป็นแค่การตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม และแจ้งให้ที่ประชุมสภากลาโหมรับทราบเท่านั้น แต่ไม่แสดงความเห็นต่อ กม.นี้ เพื่อสกัดรัฐประหาร

โดยที่ พล.อ.เจริญชัย ผบ.ทบ. น้องรักทหารเสือฯ สายตรง พล.อ.ประยุทธ์ ถูกจับตามองมากที่สุด แต่ที่ผ่านมาก็เลี่ยงที่จะตอบเรื่องรัฐประหารมาตลอด ตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ.มา 7 เดือน แตกต่างจาก ผบ.ทบ.คนก่อนๆ

การป้องกัน และสกัดกั้นการรัฐประหาร ไม่ใช่แก่การแก้ พ.ร.บ.กลาโหมเท่านั้น แต่จะต้องเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ต่างๆ วางระบบไว้ให้พร้อมด้วย

การรื้อฟื้นวอร์รูมกลาโหมขึ้นมาใหม่ โดยเรียกว่าเป็น “ศูนย์บัญชาการกระทรวงกลาโหม” จึงถูกจับตามองว่า จะใช้เป็นวอร์รูมต้านรัฐประหารหรือไม่ เพราะโดยที่ตั้งของกลาโหม ที่ใกล้วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง หากเกิดสถานการณ์ขึ้น ฝ่ายรัฐประหารจะใช้อาวุธยิงถล่มไม่ได้ แม้ ทบ.จะมีหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) ที่มีกำลังทหารราบ อยู่ไม่ห่างจากกลาโหมนักก็ตาม

แต่วอร์รูมกลาโหม ล้วนเต็มไปด้วยตำนาน

ครั้งหนึ่ง ในยุคที่บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็น รมว.กลาโหม ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยสั่งตั้งวอร์รูมที่กลาโหม แม้จะไว้ประชุมสั่งการ แต่เป้าหมายในยามวิกฤตทางการเมือง เพื่อเป็น ศูนย์บัญชาการสั่งการต่อต้านรัฐประหาร

แต่ในที่สุด พล.อ.อ.สุกำพล ซึ่งในเวลานั้นแสดงออกถึงทีท่า เพื่อข่มขวัญการรัฐประหาร จนเกิดกระแสข่าวลือว่า จะปลดบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในเวลานั้น ที่ตั้งมาในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และคนเสื้อแดงเรียกร้องให้ปลด เพราะเหตุกระชับพื้นที่คนเสื้อแดง 99 ศพ

จนทำให้ระหว่าง พล.อ.อ.สุกำพล กับ พล.อ.ประยุทธ์ มีปัญหาระหว่างกัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็ “กูไม่กลัวมึง” พล.อ.อ.สุกำพลซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร10 ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ตอนนั้นยังลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ หลังถูกรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ก็แสดงออกถึงท่าทีที่ไม่เกรงกลัว พล.อ.อ.สุกำพล เพราะรู้ตัวอยู่แล้วว่า จะต้องรัฐประหารในวันหนึ่ง แค่รอให้สถานการณ์สุกงอม

แต่ทว่า พล.อ.อ.สุกำพล กำลังจะเป็นอุปสรรคของการรัฐประหาร เพราะรู้ทันฝ่ายทหารบก และมักพูดในวงทหาร สื่อข้อความเตือนทหารที่คิดจะรัฐประหารเสมอๆ

แต่เทคนิคขั้นสูงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ในเวลานั้นใกล้ชิดสนิทสนม น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีหญิงอย่างมาก ประหนึ่งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวนายกฯ

ทำให้ที่สุด ปรับ ครม. เด้ง พล.อ.อ.สุกำพล พ้นเก้าอี้ รมว.กลาโหม

ประกอบกับการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องการญาติดีกับกองทัพ เพื่อหวังกรุยทางพานายทักษิณกลับประเทศ โดยหารู้ไม่ว่า แผนรัฐประหารเตรียมไว้รอดีเดย์เท่านั้น และการเขี่ย พล.อ.อ.สุกำพลพ้นทาง ก็ทำให้แผนการรัฐประหารง่ายขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อในที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์มาควบ รมว.กลาโหมหญิงคนแรกเอง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ถูกมองว่าเป็นเสมือน รมว.กลาโหมเงา

ในช่วงนั้น บิ๊กแป๊ะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกลาโหม สายตรงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยังคงเกาะติดความเคลื่อนไหวของฝ่าย ทบ.ตลอด และหวังใช้วอร์รูมกลาโหม ที่ในช่วงนั้นเพิ่งต่อเติมตึกใหม่ ในช่วงวิกฤต

แต่เมื่อถึงเวลารัฐประหารจริง วอร์รูมนี้ก็ไม่ได้ใช้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งแรกปลด พล.อ.นิพัทธ์ เข้าประจำสำนักนายกฯ เลย

ช่วงรัฐประหาร ที่นี่ถูกทหารของคณะปฏิวัติ เอาสแลนมาล้อมปิดทางขึ้น และทางเข้าออกไว้ โดยมีทหารนั่งเฝ้าตั้งแต่ชั้นล่าง

มาวันนี้ วอร์รูมนี้ถูกฟื้นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ในชื่อ “ศบช.กห.”ศูนย์บัญชาการกระทรวงกลาโหม ที่อยู่ชั้น 3 ตึกด้านหลังของกลาโหม

ศูนย์บัญชาการกระทรวงกลาโหมนี้ ในยุครัฐประหารปี 2557 สมัยที่บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ควบ รมว.กลาโหม ในรัฐบาลรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ เรียกว่าเป็น ศูนย์ม้าบิน ที่มาจาก “ศบม.” ศูนย์แก้ปัญหาความมั่นคงแบบบูรณาการ

ถือว่าเป็นศูนย์ที่มีความทันสมัย เพราะเชื่อมต่อระบบกับทุกเหล่าทัพ และเคยพยายามจะลิงก์กับหน่วยกำลังรบของทุกเหล่าทัพ ทั้งกองทัพภาค กองเรือภาค ไปจนถึงกองบิน คือ สามารถประชุม VTC แบบเห็นหน้า รายงานตรงยัง รมว.กลาโหมได้เลย แต่ในยามวิกฤตการเมือง คือ เอาไว้เช็กท่าทีของขุมกำลังรบ

โดยที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ ก็ใช้ระบบทหารในการทำงาน โดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี หรือ ศปก.นายกฯ ที่เรียกกันว่า PMOC : Prime Minister Operations Center ยาวตลอด 9 ปีของการเป็นนายกฯ

ต่อมาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หลังการเลือกตั้ง ได้มีการเพิ่มเติมระเบียบกลาโหม ว่าด้วยการจัดตั้งและการดำเนินงานของศูนย์บัญชาการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2563 เพื่อเป็นศูนย์ประสานการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงในความรับผิดชอบของ กห. และสนับสนุนการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ ของรัฐบาล

รวมทั้งใช้ในการติดตามสถานการณ์ต่างๆ

มาถึงยุคนายสุทิน รมว.กลาโหมพลเรือนคนแรก ที่ไม่ใช่นายกฯ มาควบ ได้ฟื้นชีพศูนย์นี้ ที่อาจไม่ค่อยได้ใช้ในห้วง 7 เดือนที่เป็น รมว.กลาโหมมา เพราะส่วนใหญ่จะใช้ห้องยุทธนาธิการ ที่ชั้น 2 เท่านั้น โดยตั้งชื่อใหม่ว่า ศูนย์บัญชาการกระทรวงกลาโหม ที่ครอบวอร์รูมของทุกเหล่าทัพอีกขั้นหนึ่ง

โดยมีทั้งส่วนบังคับบัญชา ส่วนอำนวยการปฏิบัติ ส่วนสนับสนุน และส่วนประสานการปฏิบัติ และมีหน่วยขึ้นตรง คือ ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงกลาโหม ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม ศูนย์ประสานงานจิตอาสาพระราชทานกระทรวงกลาโหม และส่วนประสานงานศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน โดยสามารถเชื่อมต่อระบบการสื่อสารระหว่าง ศบช.กห., ศบท. ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย และศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก.) แต่ละเหล่าทัพ ศปก.ทบ., ศปก.ทร., ศปก.ทอ. ผ่านระบบควบคุมบังคับบัญชา บก.ทท. (C4I) เพื่อประสานการปฏิบัติได้ จนถึงระดับกองกำลังของกองทัพบก

เมื่อนายสุทินได้ไปต่อ ก็มาตรวจความพร้อมของ ศบช.กห.นี้ และทดสอบระบบ ประชุมทางไกล กับทั้ง ศบท., ศปก.ทบ., ศปก.ทร., ศปก.ทอ., ศปก.ทภ.3, กกล.ผาเมือง และ กกล.นเรศวร ติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ในพื้นที่ จ.ตาก

ทั้งนี้ นายสุทินจะเรียกประชุม ศบช.กห.เป็นระยะๆ และตามสถานการณ์ ที่ต้องการทราบข้อมูล หรือสถานการณ์ด้านความมั่นคงต่างๆ

ในทางทหาร ศบช.กห. ก็คือ ศปก.กลาโหม แต่เนื่องจากเป็น รมว.กลาโหม ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวงกลาโหม จึงใช้คำว่า ศูนย์บัญชาการกระทรวงกลาโหม Defence Command Centre : DCC

ขณะที่ตึกไทยคู่ฟ้า นายเศรษฐาไม่ได้มีการตั้ง ศปก.นายกฯ หรือ PMOC แต่ห้องประชุม และเครื่องไม้เครื่องมือในการประชุมทางไกล ยังคงใช้งานตามปกติ

 

แม้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะเกิดขึ้นจาก “ดีล” ผสมข้ามขั้ว ระหว่างขั้วชินวัตร กับขั้วอนุรักษนิยม และพี่น้อง 3 ป. แต่ฝ่ายการเมืองก็พยายามจะกำจัดทหารออกไปจากการเมือง และหาทางป้องกันการปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งทางอ้อม ในการปฏิรูปกองทัพ ปรับโครงสร้าง และทางตรง คือการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ที่ออกมาในสมัยรัฐประหาร 2549 เพื่อหวังสกัดการรัฐประหาร

หลังนายสุทิน คลังแสง ไม่มีชื่อในการปรับคณะรัฐมนตรี ได้นั่ง รมว.กลาโหมต่อ ท่ามกลางกระแสข่าวที่เชี่ยวกรากว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจะมาควบ รมว.กลาโหม แบบที่สื่อพาดหัวกันทุกฉบับ

นายสุทินไปต่อ พร้อมฟื้นชีพวอร์รูมกลาโหม พร้อมๆ กับการเร่งแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหมให้เสร็จ ส่งให้นายกฯ พิจารณา และนำเสนอในนามร่างของรัฐบาล

นายสุทินเร่งรัดการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหมต่อทันที หลังจากเปิดประเด็นนี้ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจะหลุดเก้าอี้สนามไชย 1 เพื่อให้ดูว่ามีมิชชั่นสำคัญที่ต้องไปต่อ

หลังจากที่ตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยมีบิ๊กอั๋น พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม เป็นประธาน ร่วมด้วยรองปลัดกลาโหม และเจ้ากรมพระธรรมนูญ และจากสำนักนโยบายและแผนกลาโหม และกรมเสมียนตรา ตั้งแต่ 19 ธันวาคม 2566 จนยกร่างมาเกือบจะเสร็จแล้ว โดยมีนายจำนงค์ ไชยมงคล ผช.รมต.ประจำ รมว.กลาโหม เป็นที่ปรึกษา

อีกทั้งร่างแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เข้าสู่สภาแล้ว แถมจะมีร่างฉบับประชาชนด้วย นายสุทินจึงต้องการส่งร่างของกลาโหม ไปประกบเพื่อเปรียบเทียบ แล้วให้สภาพิจารณาว่าจะผ่านร่างใด ที่จะเป็นการวัดพลัง ส.ส. และพรรคการเมืองขั้วอนุรักษนิยม จะโหวตให้หรือไม่

 

“แต่ละร่าง เขียนมาค่อนข้างหนัก แต่ร่างของกลาโหมอาจจะซอฟต์กว่า” นายสุทินระบุ

พร้อมมั่นใจว่า จะสกัดการรัฐประหารได้จริง แม้จะไม่ 100% แต่ก็เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เมื่อพบว่ามีความเคลื่อนไหว ที่ถือเป็นหลักฐาน โดยจะแก้ พ.ร.บ.กลาโหม ให้อำนาจนายกฯ เสนอ ครม. สั่ง “พักราชการ” ทันที เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้าราชการทหารผู้ใดที่ใช้กำลังทหารเพื่อยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือเพื่อก่อการกบฏ

“กม.อื่นที่มีอยู่ มันอาจไม่ทันต่อสถานการณ์ ไม่แข็งแรงพอสำหรับกฎหมายปกติ แต่ กม.นี้จะแข็งแรงกว่า ยิ่งในเชิงป้องปราม มันไม่ชัดเจนเหมือน กม.นี้” นายสุทินกล่าว ฝ่ากระแสปรามาส วิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า กม.ใดก็ไม่อาจหยุดรัฐประหารได้ เพราะที่สุด รัฐธรรมนูญ และ กม.ต่างๆ ก็จะถูกฉีกทิ้งหมด

ทั้งนี้เพราะสั่งพักราชการ “ทันที” โดยยังไม่ต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ เพื่อไม่ให้มีอำนาจสั่งการในการใช้กำลังทหารเพื่อการรัฐประหาร

แต่ในทางกลับกัน ก็จะกลายเป็นการเร่งให้เกิดการรัฐประหาร หาก ผบ.ทบ. หรือนายทหารคนใดคิดจะยึดอำนาจรัฐ ถูกพักราชการ ก็จะยิ่งก่อการยึดอำนาจขึ้นเลย

ด้วยเพราะในอดีต ก่อนการรัฐประหาร หลายครั้งจะมีข่าวลือการปลด ผบ.ทบ.ก่อนเสมอ เช่น รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2554 ก็มีข่าวว่า พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี จะปลดบิ๊กสุ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. หลังบิ๊กตุ๋ย พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี รอง ผบ.ทบ. น้องเขย บอก พล.อ.สุจินดา ว่า พล.อ.ชาติชายจะให้ตนเองเป็น ผบ.ทบ.แทน แต่ด้วยเพราะ พล.อ.สุจินดา และ พล.อ.อิสระพงศ์ เป็นเพื่อนรัก จปร.5 และ พล.อ.อิสระพงศ์ ก็เป็นพี่เมียของ พล.อ.สุจินดา อีกด้วย

จึงเป็นตัวเร่งการรัฐประหาร นอกเหนือจากสาเหตุอื่นๆ โดยเฉพาะการจี้เครื่องบิน พล.อ.ชาติชาย ในวันที่จะไปเข้าเฝ้าฯ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า จะปลด ผบ.ทบ.นั่นเอง

 

หรือแม้แต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่บิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในขณะนั้น ใช้กลยุทธ์ ลับลวงพราง ให้ฝ่ายรัฐบาล นายทักษิณสับสน ไม่แน่ใจว่าจะรัฐประหารจริงหรือไม่ จึงทำให้การต่อต้านรัฐประหารไม่เข้มแข็ง ยิ่งจุดอ่อนอยู่ที่นายทักษิณ นายกฯ ไปประชุม UN ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา แม้จะเซ็นคำสั่งเตรียมไว้ แต่พอรัฐประหารจริง นายทักษิณสั่งปลด ผบ.ทบ.ก็ไม่ทันแล้ว คำสั่งถูกตัดกลางอากาศ

แม้จะมีการตั้ง บก.ต้านรัฐประหาร ที่ บก.ทัพไทย แจ้งวัฒนะ นำโดย บิ๊กต๋อย พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.ทหารสูงสุด สายตรงทักษิณในเวลานั้น แต่ก็ไม่ทันการ พล.อ.สนธิส่งกำลังทหารบกมาล้อมไว้หมดแล้ว พร้อมยิงถล่ม บก.ต้านปฏิวัติ

จนที่สุด พล.อ.เรืองโรจน์ สั่งยกเลิก บก.นี้ เพราะไม่ต้องการให้ทหารมาสู้รบกันเอง และอาจนองเลือด การรัฐประหารทำสำเร็จ

จนมาถึงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ฝ่ายรัฐบาล โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เคยไว้ใจ พล.อ.ประยุทธ์อย่างมาก รู้แล้วว่าต้องถูกรัฐประหารในที่สุด ตั้งแต่นำกำลังทหารพร้อมยุทโธปกรณ์มาสวนสนามยานยนต์ วันกองทัพบก ที่ ร.11 รอ. แล้วไม่สั่งให้กลับหน่วย แต่ให้อยู่ใน ร.11 รอ.ก่อน

ที่ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์จะส่งกำลังทหารยึดทุกพื้นที่ โดยอ้างว่ามาดูแลความสงบเรียบร้อย เพราะมีการใช้อาวุธลอบทำร้ายม็อบ กปปส. จนบาดเจ็บล้มตาย

แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกมาติงว่า เสียภาพลักษณ์ประเทศ ที่มีทหารตั้งฐาน และวางกำลังเต็มไปหมด ให้ถอนกลับ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ทำตาม แต่แค่สั่งเอาดอกไม้มาประดับฐานทหารเท่านั้น ก่อนที่สถานการณ์จะสุกงอม ทฤษฎีสมคบคิด และตุลาการภิวัฒน์ ในที่สุด ถึงทางตัน พล.อ.ประยุทธ์จึงยึดอำนาจ ด้วยการประกาศกฎอัยการศึกก่อน ที่จะเป็น กม.ที่ให้อำนาจ ผบ.ทบ.มาสู้กับ พ.ร.บ.กลาโหมได้

แม้ที่ผ่านมา จะใช้การปลด ผบ.ทบ. แม้จะเป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯ แต่ก็ไม่มีผลในการหยุดรัฐประหาร มาร่างแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ยุคนายสุทิน ใช้แค่พักราชการ ด้วยเพราะไม่ต้องการแตะพระราชอำนาจ จึงถูกมองว่า ยากที่จะหยุดรัฐประหารได้เช่นกัน

สำหรับช่องโหว่และข้อห่วงใยต่างๆ จากบทเรียนการรัฐประหารที่ผ่านมานั้น นายสุทินขอให้ใช้สภาผู้แทนราษฎร เป็นที่แสดงความคิดเห็น และหาทางออกร่วมกัน

งานนึ้ ดูนายสุทินมุ่งมั่นมาก ราวกับเป็นมิชชั่น ที่ได้รับมอบหมายจากนายทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ให้ทำให้สำเร็จให้ได้ เพราะอาจมีผลต่อการนั่งเป็น รมว.กลาโหมต่อได้นานหรือไม่