ฐากูร บุนปาน : ทำไมองค์กรท้องถิ่นถึงไม่สามารถมีบทบาทช่วยพี่น้องในพื้นที่ได้เต็มหมัด ?

เพิ่งกลับจากบึงกาฬมาครับ

เนื้อหาของงานยาพารา และผลการประกวดไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์ ที่พาน้องนุ่งลูกหลานยอดฝีมือทางดนตรีลูกทุ่งจากแต่ละภาคมาประชันกันเป็นครั้งแรกจะเป็นอย่างไร

เชื่อว่า “มติชน-ข่าวสด-ประชาชาติธุรกิจ-เทคโนโลยีชาวบ้าน-เส้นทางเศรษฐี” เขาคงรายงานไปแล้ว หรือรอจะให้รายละเอียดอยู่

ติดตามทางช่องทางนั้นได้ครับ

ความรู้อีกเรื่องที่ได้มาจากบึงกาฬงวดนี้ก็คือ

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจฐานราก หรือปากท้องชาวบ้านในท้องถิ่นไม่กระเตื้องขึ้น เป็นเพราะอะไร

ต้องขอบพระคุณผู้รู้จริงแต่ละท่านที่ผลัดกันให้ข้อมูลความรู้จนเต็มอิ่ม

เอ่ยชื่อบางท่านเอาไว้ ณ ที่นี้ก็ได้

ท่านนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ

ท่านกิจ หลีกภัย นายก อบจ.ตรัง

และ

“โกไข่” ท่านวิชัช ไตรรัตน์ นายกสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย

นักเรียนน้อยในห้องเรียนกลางป่ายางริมแม่น้ำโขง ฟังไปก็ปากอ้าตาค้างไป

เพราะแต่ละเรื่องที่แต่ละท่านเล่าสู่กันฟังนั้น จริงๆ เนื้อๆ เน้นๆ ทั้งสิ้น

โดยเฉพาะในประเด็นว่าทำไมองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นถึงไม่สามารถออกมามีบทบาทช่วยพี่น้องในพื้นที่ได้เต็มหมัด

สรุปแบบนักเรียนประเภทครูพักลักจำก็คือ

รัฐบาลท่านให้นโยบายอย่างหนึ่ง แต่ระเบียบกฎหมายเป็นอีกอย่างหนึ่ง

และข้อเท็จจริงเป็นอีกอย่างหนึ่ง

ขออนุญาตเท้าความ

ว่าตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว หรือเอาให้จะจะคือในการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน

รัฐบาลท่านมีมติให้ อปท. ทั้งหลาย ไม่ว่าจะ อบจ. เทศบาล หรือ อบต. นำเอาเงินสะสมที่มีอยู่ 200,000 ล้านบาท ออกมาลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจ้างงาน และส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนได้

ซึ่งฟังดูดี๊ดี

แม้จะมีสร้อยต่อท้ายว่า จะต้องเป็นไป

“เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ และดำเนินการด้วยความโปร่งใส”

ก็ไม่ว่ากัน

อันนั้นเป็นสูตรสำเร็จ

แต่พอลงลึกไปในระเบียบ

ท่านแก้ไขว่าก่อนจะมาลงทุนอะไรนั้น ท้องถิ่นต้องกันเงินสำรองเพิ่มจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน

และส่วนที่จะเอามาใช้ได้จริงนั้น

ถ้าเป็น อบจ. ก็แค่ร้อยละ 10

อบต. ยิ่งน้อยลงไปใหญ่ ได้ร้อยละ 5

สรุปก็คือ ไม่ว่าจะด้วยความระแวงว่าจะทุจริต หรือกลัวการใช้จ่ายไม่มีประสิทธิภาพ

เอาเข้าจริงท่านอยากให้ อปท. ทั้งหลายเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์

มากกว่าเป็นนักลงทุน

นโยบายที่ประกาศก็เป็นเรื่องลอยไปกับลม

เพราะไม่สมจริง

ยกตัวอย่างใกล้ตัวที่สุดในตอนนั้น

และเป็นเรื่องที่รัฐบาลประกาศหนักหนาว่าจะให้การสนับสนุน

เพราะเป็นวิธีการในการแก้ไขปัญหายางพาราที่ถูกต้องที่สุด คือลด “อุปทาน” ในตลาด เพื่อดึงราคาให้สูงขึ้น

ก็คือเรื่องถนนยางพารา

หลายพื้นที่อยากทำ แต่ไม่มีปัญญาจะทำ

เพราะติดเกณฑ์ที่ท่านตั้งไว้

เหลือ อปท. ไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ทำได้

แถม อปท. เหล่านั้นก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ปลูกยาง

ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรคนในพื้นที่

แม้แต่ที่ทำไปแล้วอย่าง อบจ.ตรัง ก็ต้องหยุดทำ

เพราะ อบต. ไม่มีเงินมาร่วมสมทบด้วย

นี่ยังไม่นับว่ารัฐบาลกลางเองก็เป็นตัวปัญหา

เพราะกระบวนการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบ “เฉลี่ยสัมบูรณ์” ไม่แยกแยะและไม่จัดสรรวงเงินตามข้อเท็จจริง

ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่

ความลักลั่นหรืออาการกลับหัวกลับหางในการบริหารงานของรัฐบาล

ประเภทให้ ป.ป.ช. หรือ สตง. เป็นใหญ่เหนือหน่วยราชการทั้งปวง

จนไม่มีใครหน้าไหนอยากทำอะไรที่นอกเหนือไปจากงานประจำงานปกติ

หรือนโยบายไปทาง-ระเบียบราชการไปอีกทาง

อย่างกรณี อปท. ข้างต้น

ล้วนแล้วแต่ทำให้คำสั่งของรัฐบาลกลายเป็นการ “สั่งขี้มูก” ไปได้ง่ายๆ

ยิ่งปีนี้ท่านตั้งใจจะแก้ไขปัญหาความยากจน-ลดความเหลื่อมล้ำ

งานใหญ่ขนาดนี้ทำคนเดียวไม่ไหว หรือไม่ได้รับความร่วมมือจากคนส่วนใหญ่ก็ไม่รอด

ไม่ลองทบทวนปัญหา “สนิมเนื้อใน” ดูสักหน่อยหรือ