เมื่อเราต้อง ‘แกล้งโง่’ และ ‘พูดโกหก’ | ปราปต์ บุนปาน

“บอยจีเนียส” คือซูเปอร์กรุ๊ปที่ถูกกล่าวขานถึงมากมายและได้รับเสียงชื่นชมยกย่องอย่างสูง ในวงการเพลงอเมริกันและโลกดนตรีภาษาอังกฤษปี 2023 ผ่านผลงานอัลบั้มชุดแรกสุดชื่อ “เดอะ เรคคอร์ด” ที่ติดโผอยู่ในลิสต์รายชื่ออัลบั้มแห่งปีของสื่อใหญ่น้อยและนักวิจารณ์แทบทุกสำนัก

ที่เด่นชัดกว่านั้น คือ ในการประกาศรายชื่อศิลปินที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ อวอร์ดส์ ครั้งที่ 66

“บอยจีเนียส” ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมากถึง 6 สาขา รวมทั้งรางวัลใหญ่สุดอย่าง “อัลบั้มแห่งปี” และ “เพลงในการบันทึกเสียงแห่งปี”

แม้จะตั้งชื่อวงประหนึ่งเป็นการรวมตัวของ “เด็กผู้ชาย” แต่จริงๆ แล้ว “บอยจีเนียส” คือการทำงานร่วมกันของศิลปินหญิงเดี่ยวสามรายในแวดวงเพลงอินดี้อเมริกัน ประกอบด้วย “ฟีบี บริดเจอร์ส” “จูเลียน เบเคอร์” และ “ลูซี ดาคัส”

สมาชิกทั้งหมดของซูเปอร์กรุ๊ปวงนี้มีอายุเพียง 28-29 ปีเท่านั้น แต่สามารถสร้างสรรค์ผลงานดนตรีที่ “เก๋า” เกินวัย และเขียนเพลงออกมาได้ลุ่มลึกกินใจ

“บอยจีเนียส”

มีสองเพลงที่ผมชอบมากๆ จากอัลบั้มชุด “เดอะ เรคคอร์ด”

เพลงแรกมีชื่อว่า “Without You Without Them” เพลงแทร็กแรกสุดที่มีความยาวสั้นๆ เพียงหนึ่งนาทีนิดๆ โดยศิลปินสามคนได้ร้องเพลงประสานเสียงกันแบบเปลือยเปล่า ไม่มีดนตรีบรรเลงประกอบ

เช่นเดียวกับเนื้อร้องที่ฟังดูเรียบง่ายไม่แพ้การเรียบเรียงดนตรี แต่กลับมีอะไรให้ขบคิดตามไม่น้อย

ถ้าลองถอดความคำร้องของเพลงเพลงนี้ออกมาเป็นภาษาไทย ก็จะแปลเนื้อหาออกมาได้ว่า

“มอบให้ฉัน ทุกๆ สิ่งที่คุณมี

ฉันจะรับมันไว้ เท่าที่จะสามารถรับได้

ฉันอยากรับฟังเรื่องราวของคุณ และต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน

ขอบคุณพ่อของคุณ ที่มีชีวิตมาก่อนหน้าคุณ

ขอบคุณแม่ของเขา ที่มีชีวิตมาก่อนหน้าเขา

ฉันจะเป็นใคร ถ้าปราศจากคุณและปราศจากพวกเขา?

พูดกับฉัน, พูดกับฉัน, พูดกับฉัน

จนกระทั่งประวัติศาสตร์ของคุณ ไม่ใช่เรื่องลี้ลับสำหรับฉันอีกต่อไป

คุยกับฉัน, คุยกับฉัน, คุยกับฉัน

จนกระทั่งถ้อยคำต่างๆ เหือดแห้งไป เหลือเพียงการสบตาของเรา

ฉันจะมอบทุกอย่างที่ฉันมี

โปรดรับเอาไว้ ในสิ่งที่ฉันมอบให้

ฉันอยากให้คุณได้รับฟังเรื่องราวของฉัน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของมัน

ขอบคุณพ่อของฉัน ที่มีชีวิตมาก่อนหน้าฉัน

ขอบคุณแม่ของเขา ที่มีชีวิตมาก่อนหน้าเขา

ฉันจะเป็นใคร ถ้าปราศจากคุณและปราศจากพวกเขา?”

ดูเหมือนว่า “Without You Without Them” จะพูดถึงการผนวกรวมหรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

นี่คือความปรารถนาอันสูงส่งของมนุษยชาติ ที่ปรากฏผ่านแนวคิดต่างๆ ที่พวกเราประดิษฐ์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น “ชาติ” “ประชาชน” หรือ “ประชาธิปไตย” ฯลฯ

เป็นความปรารถนาอันแรงกล้าที่ฟังดูง่ายในทางเจตนาหรืออุดมการณ์ แต่ยากเหลือเกินในทางปฏิบัติ

“บอยจีเนียส”

อีกเพลงของ “บอยจีเนียส” ที่ผมเปิดฟังบ่อยๆ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คือ “Cool About It” ที่ได้รับแรงบันดาลใจทางด้านท่วงทำนอง/ดนตรีมาจากเพลง “The Boxer” ของ “ไซมอนแอนด์การ์ฟังเกล”

คำร้องของเพลงถูกแบ่งออกเป็นสามท่อน โดยให้ศิลปินทั้งสามคนผลัดกันร้องคนละท่อน ภายใต้ธีมเนื้อหาร่วมกันว่าด้วยความสัมพันธ์ที่คล้ายใกล้ชิด ทว่า ห่างเหิน ภาวะไม่ลงรอยระหว่างสิ่งที่เรารู้สึกในใจจริงๆ กับสิ่งที่เราแสดงออกให้บุคคลภายนอกพบเห็น (ภาษา “แอ๊ด คาราบาว” ก็จะประมาณ “คืนที่ตัวกับใจไม่ตรงกัน)

และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวที่ไม่อาจเกิดขึ้นจริง ซึ่งสวนทางกับความปรารถนาในเพลง “Without You Without Them” อย่างสิ้นเชิง

ขออนุญาตยกตัวอย่างเนื้อร้องท่อนสุดท้ายของเพลงที่ขับร้องโดย “ฟีบี บริดเจอร์ส” มาถอดความเป็นภาษาไทย ดังนี้

“ครั้งหนึ่ง ฉันเคยลองกินยาของคุณ เพื่อจะรู้ว่าคุณรู้สึกอย่างไร

และตอนนี้ ฉันต้องแสร้งทำตัวเป็นคนที่อ่านใจคุณไม่ออก

ฉันถามคุณว่าสบายดีไหม? แล้วปล่อยให้คุณโกหกฉันต่อไป

แต่เราต้องไม่พูดถึงความทุกข์ที่ล้นปรี่อยู่ในใจ

ฉันสามารถเดินกลับบ้านกับคุณ แล้วฝึกฝนการแสดงแบบเมธอดไปพร้อมกัน

ฉันจะเสแสร้งไม่เปิดเผยความรู้สึกจมดิ่งออกมา ยามเมื่ออยู่เคียงข้างคุณ

แล้วบอกคุณว่ามันดีแค่ไหน ที่ได้เห็นคุณมีชีวิตที่ดีแบบนี้

แม้เราทั้งคู่ต่างรับรู้ว่านั่นไม่ใช่เรื่องจริง”

ดูเหมือนเพลง “Cool About It” กำลังครุ่นคิดถึงปัญหาใหญ่มากของมนุษย์ ที่สำแดงอาการผ่านสายสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความป่วยไข้ของสังคม และประตูที่ปิดตายในทางการเมือง

กล่าวคือ ในหลาย (หรือแทบทุก) สถานการณ์ของชีวิต มนุษย์เรามักพยายาม “แสร้งทำตัวโง่งม” หรือ “โง่เป็น” และ “ไม่พูดความจริง” ต่อกัน

แน่นอนว่าในบางคราว (โดยเฉพาะในระดับสายสัมพันธ์ส่วนบุคคล) เราอาจจำเป็นต้องทำเช่นนั้น

แต่หากเรา “แกล้งโง่” ไปเรื่อยๆ ทุกครั้งทุกคราว เราก็จะกลายเป็น “คนโง่เขลาจริง” ในที่สุด

ถ้าเรา “พูดโกหก” ไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดสิ้นสุด เราก็จะหมดความสามารถในการ “เข้าถึงความจริง” และกลายเป็น “คนที่โกหกแม้กระทั่งตัวเอง” ในท้ายที่สุด

หลายครั้ง การ “แสร้งโง่” และ “ไม่พูดความจริง” ได้นำไปสู่อุปสรรคใหญ่ๆ ที่กีดขวางอนาคตของสังคมการเมือง (ที่จำเป็นต้องเติบโต-เปลี่ยนผ่านด้วย “ความรู้” และ “ความจริง”) เอาไว้

ปี 2567 นี้ หวังว่าเมื่อต้องมารับบทบาทต่างๆ ในทางสังคมและการเมือง เราๆ ท่านๆ จะ “แกล้งโง่” กันน้อยลง และหมั่น “พูดความจริง” ให้มากขึ้น •