เสน่ห์แพรเพลาะ

ญาดา อารัมภีร

‘เพลาะ’ ถ้าเป็นคำกริยาหมายถึง เอาริมต่อให้ติดกัน ‘เพลาะผ้า’ เป็นการนำผ้าสองผืนมาเย็บข้างติดกันให้กว้างออก เรียกผ้าที่เย็บติดต่อกันในลักษณะนี้ว่า ‘ผ้าเพลาะ’ หรือ ‘แพรเพลาะ’

ผ้าที่ว่าเป็นแฟชั่นยอดนิยมของชายหญิงสมัยรัตนโกสินทร์ เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ไม่ว่าจะเป็นตัวละครชายหรือหญิงล้วน ‘ห่มเพลาะดำ’ ทั้งสิ้น ตอนที่พลายงามสึกจากสามเณร เปลื้องจีวรออก กวีบรรยายการแต่งกายใหม่ดังนี้

“นุ่งยกกนกเป็นเครือวัลย์ รูปสุบรรณบินเหยียบวาสุกรี

เพลาะดำร่ำหอมห่มกระหวัด พู่ตัดติดห้อยข้างชายคลี่

คาดปั้นเหน่งกระสันมั่นดี เหน็บกริชด้ามมีศีรษะกา”

เราจะมองเห็นภาพพลายแก้วนุ่งผ้ายก ยกดอกเป็นรูปครุฑจับนาค คาดเข็มขัดเหน็บกริช และห่มแพรเพลาะดำหอมกรุ่นพาดบ่าและคอไว้

ไม่ต่างจากนางวันทองแต่งกายตอนใกล้รุ่ง นุ่งโจงกระเบนห่มเพลาะดำ จะไปรับพลายงามลูกชายที่ฝากค้างคืนไว้กับสมภารที่วัด ก่อนจะส่งเดินทางไปหาย่าทองประศรีที่เมืองกาญจน์ เพื่อให้พ้นเงื้อมมือขุนช้างพ่อเลี้ยง

“นางวันทองร้องไห้เมื่อใกล้รุ่ง น้ำค้างฟุ้งฟ้าแดงเป็นแสงเสน

ด้วยวัดเขาเข้าใจเคยไปเจน โจงกระเบนมั่นเหมาะห่มเพลาะดำ”

 

‘เพลาะดำ’ จากสองตัวอย่างข้างต้น คือ ผ้าเพลาะ คนไทยสมัยรัตนโกสินทร์ใช้ห่มกันทั่วไป ‘กาญจนาคพันธุ์’ ให้ความกระจ่างไว้ในหนังสือเรื่อง “เด็กคลองบางหลวง” เล่ม 1 (หนังสือชุด ๑๐๐ ปี ขุนวิจิตรมาตรา) ดังนี้

“มีผ้าอีกผืนหนึ่ง เรียกว่า ‘ผ้าเพลาะ’ หรือ ‘เพลาะดำ’ ผ้านี้เท่าที่เห็นมามากไม่ใช่ผ้าด้าย แต่เป็นแพรลายต่างๆ ค่อนข้างหนา มีรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านละประมาณสองศอก ตรงกลางมีรอยตะเข็บเย็บติดกัน แสดงว่าเป็นแพรสองผืนเย็บติดกัน จึงเรียกว่า ‘เพลาะ’ และเป็นสีดำทั้งสิ้น ชาวบ้านมักมีเพลาะดำอย่างนี้เป็นส่วนมาก ตามปกติใช้สำหรับห่ม”

คำอธิบายข้างต้นคือ ‘ห่มเดี่ยว’ ต่างตนต่างห่มผ้าเพลาะของตน ยังมี ‘ห่มคู่’ ผ้าผืนเดียวห่มด้วยกันสองคน ดังที่ “เด็กคลองบางหลวง” เล่ม 1 เล่าถึงแพรเพลาะดำคลุมคู่รักไว้ว่า

“หนุ่มสาวสมัยโน้นชอบใช้ผ้าเพลาะดำ และมักใช้เกี่ยวกับ romance เช่น ห่มคลุมตัวได้สองคนสบาย ในสุภาษิตสอนหญิง ก็มีว่า

บ้างก็รักข้างนักเลงเล่นเครงครื้น เที่ยวกลางคืนคบเพื่อนเดือนหงายหงาย

ห่มเพลาะดำทำปลอมออกกรอมกราย พวกผู้ชายชักพาเที่ยวร่าเริง

เพลาะดำนิยมทำให้มีกลิ่นหอมโดยชุบน้ำลูกซัด ซึ่งเรียกกันว่า ‘ลงลูกซัด’ หอมติดผ้าอยู่เสมอ ที่บ้านข้าพเจ้ามีเพลาะดำใช้ห่มนอนเบาๆ และมีใช้สืบมาจนทุกวันนี้”

 

กลิ่นหอมของแพรเพลาะดำเร้าอารมณ์ให้คิดถึงคนที่รักที่จากมา ดังที่สุนทรภู่รำพันไว้ใน “นิราศเมืองแกลง” ว่า

“ได้แนบหมอนอ่อนอุ่นให้ฉุนชื่น ระรวยรื่นรสลำดวนเมื่อจวนดึก

ทั้งหอมผ้าแพรดำร่ำยิ่งรำลึก ทรวงสะทึกทุกทุกคืนสะอื้นใจ”

ผ้าแพรดำถือเป็นตัวแทนหญิงคนรักผู้เป็นเจ้าของผ้า ชายจึงปฏิบัติกับผ้าดังกล่าวด้วยความรักความทะนุถนอมไม่ยอมให้ห่างกาย

“เสียดายนักภัคินีเจ้าพี่เอ๋ย ยังชื่นเชยชมชิมไม่อิ่มหนำ

มายากเย็นเห็นเห็นแต่ผ้าแพรดำ ได้ห่มกรำอยู่กับกายไม่วายตรอม”

สุนทรภู่ดูจะประทับใจ ‘ผ้าแพรดำ’ อยู่ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จาก “นิราศภูเขาทอง” บรรยายว่า

“โอ้รินรินกลิ่นดอกไม้ใกล้คงคา เหมือนกลิ่นผ้าแพรดำร่ำมะเกลือ”

คำว่า ‘ร่ำมะเกลือ’ ในที่นี้ คือ ร่ำผ้า, อบผ้า

“อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ ให้ความหมายว่า

” , คือย้อมผ้าร่ำไป, ด้วยใส่เครื่องอบหอม คนย้อมผ้าดำมะเกลือแลใส่เครื่องหอมย้อมร่ำไปนั้น”

ข้อความนี้บอกให้รู้ว่า ผ้าแพรมีสีดำสนิทเพราะย้อมด้วยผลมะเกลือ ที่มีกลิ่นหอมเพราะใส่เครื่องหอมขณะย้อมผ้า

 

ในบทละครรำเรื่อง “อิเหนา” ภาพของอิเหนาตอนไปขอคืนดีกับนางจินตะหราก็คือ

“ตรัสพลางทางทรงเครื่องหอม แพรย้อมมะเกลือดำร่ำหนัก

หอมตระหลบอบองค์ทรงสะพัก เสด็จตรงมาตำหนักกัลยา”

“โคลงนิราศสุพรรณ” ของสุนทรภู่ เล่าถึงดงมะเกลือว่า

ดงมเกลือเหลือดกล้ำ ดำเหลือ

เล่หม่อมย้อมมเกลือ กแจะให้

ใจหม่อมย่อมเหมือนเกลือ กลิ่นร่ำ ดำเอย

ดำเทือกเปลือกแก่นไสร้ ชื่นต้นผลดำฯ (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ใครไม่เคยรู้ว่าผลมะเกลือสีเขียวยามแก่จัดกลายเป็นสีอะไร คงได้คำตอบจากตัวอย่างข้างต้น นอกจากสุนทรภู่จะบอกถึงคุณสมบัติของผลหรือยางผลมะเกลือที่ใช้ย้อมผ้าแล้ว ยังเหน็บแนมทิ้งท้ายว่า ใจดำดังผลมะเกลืออีกด้วย

“พจนานุกรมศิลป์” ของ น. ณ ปากน้ำ เล่าถึงกรรมวิธีย้อมผ้าด้วยผลมะเกลือไว้ว่า

“…ถ้าจะใช้ย้อมแพรปังลิ้นให้นำผลมะเกลือมาตำ เทลงไปในภาชนะแล้วต้ม นำผ้าที่จะย้อมชุบน้ำบิดให้หมาด ใส่ลงไปต้ม 15 นาที เอามาผึ่งให้แห้ง ถ้าจะให้ดำสนิทจะต้องย้อมซ้ำอีกหลายครั้ง บางคนใช้ลูกะเม็งตำป่นกับลูกมะเกลือ จะทำให้สีมีคุณภาพดีขึ้น”

‘เพลาะดำ’ อีกหนึ่งแฟชั่นไทยในอดีต ชายหญิงนิยมกันทั้งชาววังและชาวบ้าน •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร