เซ็นทรัลบิสิเนสดิสทริค CBD

ปริญญา ตรีน้อยใส

เซ็นทรัลบิสิเนสดิสทริค CBD

 

เริ่มจาก พาไปมองการขุดคลองลัด จากพระโขนงมาคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อย่นระยะเวลาเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีแผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ที่ปากน้ำ

อีกทั้งโครงการทางรถไฟสายแรกของไทย จากกรุงเทพฯ ไปปากน้ำ ที่นับเป็นเส้นทางแรกของกรุงเทพฯ เชื่อมกับหัวเมืองสมุทรปราการ

แม้นว่าการสัญจรทางน้ำ ในคลองตรงที่ขุดขึ้นใหม่ ไม่เป็นไปตามแผน ด้วยไม่มีการก่อสร้างท่าเรือ เรือสินค้ายังต้องเข้ามาถึงพระนครชั้นใน และในเวลาต่อมา ถึงคลองเตย เมื่อมีการก่อสร้างท่าเรือ

แต่ทว่า การเดินทางโดยรถไฟ กลับกลายเป็นทางเลือกการสัญจรแบบใหม่คือทางบก เพิ่มจากเดิมที่เคยอาศัยทางน้ำอย่างเดียว

นอกจากการสัญจรทางรถไฟ ผู้คนยังเริ่มใช้ทางดินข้างคลองเดินทางไปมา โดยเรียกขานกันว่าถนนตรง

 

โครงการทางรถไฟสายแรกของไทย และการสร้างถนนตรงจากกรุงเทพฯ ไปปากน้ำ จึงเป็นเส้นปฐมบท ระบบโลจิสติกส์ทางบกของกรุงเทพฯ ที่เชื่อมต่อกับหัวเมืองสมุทรปราการ กลายเป็นแกนนำการขยายตัวของกรุงเทพฯ ทางด้านทิศตะวันออก จากอดีตมาถึงปัจจุบัน

ความสะดวกในการสัญจรทางถนน ทำให้ถนนพระรามสี่ เริ่มจากขยายตัวของย่านการค้าไชน่าทาวน์ ที่ขยายมาถึงสถานีรถไฟกรุงเทพฯ หัวลำโพง แล้วเลยมาจนถึงสะพานเหลือง และสามย่าน

ขณะเดียวกัน มีการใช้ประโยชน์พื้นที่สมัยที่ยังมีคลอง เป็นสถานที่สำคัญต่างๆ มากมาย ได้แก่ สนามม้า (ราชกรีฑาสโมสรกรุงเทพฯ) วังใหม่ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) สภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์) สวนลุมพินี และเมื่อเป็นถนนพระรามที่สี่ ได้แก่ โรงเรียนเตรียมทหาร สนามมวยลุมพินี (วันแบงค็อก) และท่าเรือกรุงเทพฯ ที่คลองเตย และอื่นๆ เรื่อยไปจนถึงปากน้ำ

ถนนพระรามที่สี่ ยังเชื่อมต่อกับถนนสายสำคัญอื่น ไม่ว่าจะเป็น ถนนสาทร สีลม สุรวงศ์ และสี่พระยา ทางทิศตะวันตก ที่ต่อมากลายเป็นย่านการค้าสมัยใหม่ รวมทั้งถนนพญาไท ราชดำริ และวิทยุ ทางด้านทิศเหนือ ที่เป็นสถานที่ราชการ สถานทูต และย่านพักอาศัยชาวต่างชาติ

ปลายถนนพระรามที่สี่ ยังเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดิน สายตะวันออก คือ ถนนสุขุมวิท ที่ต่อมาเป็นย่านพักอาศัยชานเมือง ก่อนที่จะแปรเปลี่ยนเป็นย่านคนต่างชาติ ในยุคสงครามเวียดนาม

 

ถนนพระรามที่สี่ ที่คู่ขนานกับถนนสุขุมวิท จึงกลายเป็นแนวแกนสำคัญ ชี้นำการขยายตัวของเมือง ของกรุงเทพฯ ทางทิศตะวันออก เมื่อหัวเมืองชายทะเล เริ่มตั้งแต่ บางปู ศรีราชา บางพระ พัทยา ไปจนถึงระยอง กลายเป็นที่พักตากอากาศ ในยุคที่การเดินทางโดยรถยนต์ได้รับความนิยม

ด้วยเหตุนี้ บริเวณถนนพระรามที่สี่ จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของเซ็นทรัลบิสิเนสดิสทริค Central Business District CBD กรุงเทพฯ ในยุคสงครามเวียดนาม ก่อนที่ธุรกิจการเงินและการพาณิชย์จะย้ายไปบริเวณใกล้เคียง และเกิดย่านการค้าใหม่ทางทิศเหนือ ทิศใต้ และตะวันตก ในเวลาต่อมา

จะเห็นได้ว่า บริเวณถนนพระรามที่สี่ มีความเป็นมา มีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่พาไปมองต่อเนื่องมาแล้วหลายฉบับ แต่ที่สำคัญ กำลังจะรีเทิร์นมาเป็นย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่งเร็วๆ นี้ โปรดติดตามตอนต่อไป •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส