ฐากูร บุนปาน : ชรากว่าใครเพื่อน ไม่มีใครเสมือน รัฐบาล คสช. – แม่น้ำ5สาย

ได้แรงบันดาลใจมาจากการเขียนเอาไว้ในโลกเสมือน

แล้วมีมิตรสหายหลายท่านมาแสดงความเห็นที่เหมือนช่วยแต่งเกลาให้เข้าท่ายิ่งขึ้น

จึงขออนุญาตตกแต่งแล้วนำขายต่อ

ดังนี้

ใครไม่เชื่อว่าสังคมไทยเป็นสังคมคนชรา ก็ให้เริ่มเชื่อได้แล้วนะครับ

ไม่ใช่แค่เพราะว่าตัวเลขสถิติประชากรบอกเราว่า อีก 6-7 ปี เราจะมีผู้มีอายุสูงกว่า 60 ปีมากกว่าร้อยละ 20 ของประเทศ

แต่เพราะพฤติกรรมของเราเองด้วย

ที่ดูเหมือนจะนำหน้าความชรากว่าใครเพื่อน ก็คือ คสช. รัฐบาล และคณะพรรคแม่น้ำ 4 สาย 5 สายของท่าน

ดูจากร่างรัฐธรรมนูญและกำหนดเลือกตั้งใหม่ของท่านเป็นหลัก

ตอนที่เข้ามาใหม่ๆ ท่านแต่ง ร้อง ผลักดันให้คนทั้งประเทศช่วยกันร้องเพลงว่า

“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”

ไม่นานของท่านวันนี้ก็ผ่านไปแล้ว 3 ปีกว่าๆ

ปีหน้าจึงจะประกาศว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่

ถ้ารวมว่าประกาศแล้วนับไปอีก 150 วัน

ท่านก็อยู่ในอำนาจร่วม 5 ปี

5 ปีนี่สำหรับคนอายุ 70-80 อาจจะเป็นส่วนเสี้ยวน้อยนิด

แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่เดี๋ยวนี้เขานับการเปลี่ยนแปลงกันเป็นวินาที

5 ปีนี่เป็นเวลาอันยาวนานเหมือนอนันตกาล

วิธีการทำงานก็สะท้อนความแก่

ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับเดียวยังใช้เวลาร่างตั้ง 5 ปี

(โดยไม่รู้ว่าจะดีหรือเปล่า หรือจะใช้ได้นานเท่าไหร่)

5 ปีทำงานชิ้นไหนชิ้นหนึ่งนี่ถือว่านานมากนะครับ

จะอ้างว่า รัฐธรรมนูญเป็นกติกาสำคัญของประเทศ ต้องร่างกันอย่างพิถีพิถัน

แต่อีตอนลงมือฉีกรัฐธรรมนูญกันนั้นใช้เวลาแค่กะพริบตา

ไม่เคยนึกเลยว่า ของที่ตัวเองเพิ่งฉีกลงไปกับมือ ประกอบขึ้นด้วยความตั้งใจหรือความพิถีพิถันของคนในอดีตอีกเท่าไหร่

มีแต่คนแก่เอาแต่ใจตัวเอง (เพราะรู้สึกว่าเจ๋งกว่า ผ่านโลกมานานกว่า) เท่านั้นละครับ

ที่จะปฏิบัติอย่างนี้ได้

วิธีคิดยิ่งแก่

เพราะเกือบทุกอย่าง เกือบทั้งหมดที่ท่านทำๆ กันมา

เหมือนฉุดดึงประเทศไทยให้ถอยหลังกลับไป 50-60 ปี กลับไปยุคที่ท่านยังเป็นหนุ่มกระชุ่มกระชวย

ไหนจะรัฐธรรมนูญคนดี ที่ตั้งใจออกมา “ล้างอำนาจชาวบ้าน” (ซึ่งเป็นของเกิดใหม่ ประมาณว่าหลัง 2516 หลัง 2535 หรือหลัง 2553)

ยุคสมัยของเรา (คือคนร่างหรือคนสั่งให้ร่าง) นั้น คนดีผู้ดีเสียงดังกว่า

ชาวบ้านธรรมดาแค่ไพร่ แค่ผู้มารอรับส่วนบุญ

ไหนจะกฎหมายอีกเป็นร้อยฉบับที่ผ่านออกมา

กว่าครึ่งนั้นเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับหน่วยราชการหรือองค์กรอิสระ

ซึ่งก็แปลว่าลดอำนาจชาวบ้านอีกนั่นแหละ

การถ่ายโอนอำนาจจากชาวบ้าน กลับไปสู่กลุ่มผู้ดี๊ผู้ดีจำนวนน้อย และหน่วยราชการที่เทอะทะล้าหลัง

คือวิธีคิดของคนแก่ คนรู้ดีกว่า คนมีอะไรเหนือกว่าคนธรรมดาโดยแท้

ท้ายที่สุด

สมาชิกในสังคมไทยส่วนใหญ่-อันได้แก่เราๆ ท่านๆ ก็พลอยทำตัวเหมือนคนแก่ไปด้วย

คือเห็นอะไรเกิดขึ้นก็ปลงๆ

บางหนก็เผลอร้องว่า-ตถตา

มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง

คือถ้ามีรัฐประหาร มีทหารเข้ามาปกครอง เรื่องก็ต้องเป็นอย่างนี้

เผลอๆ อาจจะคิดต่อไปแล้วด้วยว่า

อีกเดี๋ยวเถอะน่า ถ้าห่วยมาก ขวางโลกมาก

ที่เห็นว่าใหญ่ๆ อยู่วันนี้ก็อาจจะล้มครืนไปต่อหน้าต่อตา

เหมือนที่เคยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในอดีต

ก็เลยไม่ค่อยมีใครลุกขึ้นวิพากษ์วิจารณ์ คัดง้างอะไร

(จริงๆ นะมีน่ะครับ ไม่ใช่ไม่มี แต่ที่ลุกขึ้นมานั้นเป็นส่วนน้อยของส่วนน้อย แถมบางคนลุกขึ้นมาปุ๊บ ก็ถูกจับยัดเข้าไปอยู่ในที่ซึ่งไม่สามารถส่งเสียงหรือสื่อสารกับคนอื่นปั๊บ)

ในฐานะที่เห็นมาเยอะ เจอมาแยะ

น้ำเชี่ยวอย่าเพิ่งขวางเรือเลย

ตถตา

ความชราจึงมาเยือนสังคมของเราด้วยประการฉะนี้

ส่วนว่าชราแล้ว จะไปแข่งกับโลกเขาได้ไหม

จะปรับตัวสู้กับเขาไหวไหม

จะถูกทิ้งไปไกลแค่ไหน

อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะคนชราไม่ค่อยคิดถึงอนาคตเท่าไหร่

(คิดทีก็ไกลไปตั้ง 20 ปี ไม่รู้ว่าที่คิดจะเป็นจริงได้กี่ส่วนกี่เสี้ยว)

แต่คิดถึงอดีต (ที่มีอยู่เยอะ) มากกว่า

เมื่อคิดถึงอดีตมาก เวลาทำอะไรหรือมีอำนาจจะทำอะไร ก็ออกไปในแนว nostalgia หรือโหยหาอดีต (อันงดงามในความคิดของตัวเอง) เป็นหลัก

เอวัง