ฐากูร บุนปาน | อ่านดูก็รู้ว่าร่างขึ้นมาเพื่อเอาใจนาย ไม่ได้สะท้อนปัญหาของชาวบ้านเลย

ถือเสียว่าเป็นการอภิปรายนอกสภาก็แล้วกันนะครับ

ไม่มีผลอะไรกับรัฐบาล ที่คงจะผ่านการตรวจสอบของฝ่ายค้านไปอย่างทุลักทุเลในสภา
เป็นอานิสงส์มาจากการอ่านนโยบายที่รัฐบาลปัจจุบันแถลงต่อสภาในวันที่ 25-26 กรกฎาคมนี้อย่างคร่าวๆ ด้วยความรวดเร็วนะครับ

จากในจำนวนประมาณ 40 หน้านั้น

อ่านไปแล้วก็มีข้อสังเกตส่วนตัว 2-3 อย่าง

อย่างแรกก็คือ นโยบาย 12 ข้อที่ออกมานั้น

ไม่เหมือนกับเขียนด้วยพรรคการเมือง

เพราะไม่ได้สะท้อนปัญหาของชาวบ้านเอาไว้เลย

สำนวน-ลีลาที่เขียนมานั้น

มันนโยบายที่ร่างจากราชการชัดๆ

อ่านดูก็รู้ว่าร่างขึ้นมาเพื่อเอาใจนาย

ร่างขึ้นมาให้ดูดี (ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ร่างมาแล้วจะทำได้ไหม หรือทำแล้วเกิดผลยังไงก็อีกเรื่อง)

ชวนให้สงสัยว่าไอ้ที่ไปนั่งทำท่าประชุมๆ กันนั้น

ประชุมอะไร

เอาแค่สร้างภาพให้เห็นว่าเป็นพวกเดียวกันเท่านั้นหรือ

ไม่เชื่อก็ดูรัฐมนตรีแต่ละคนให้สัมภาษณ์เรื่องใหญ่ๆ ประเด็นหลักๆ ว่าจะทำอะไร เวลาไปถึงกระทรวงก็แล้วกัน

ลดค่าเดินทางของคมนาคมยังงี้

หรือเรื่องใหญ่อย่างภัยแล้งเฉพาะหน้า และการจัดการน้ำทั้งระบบของเกษตรยังงี้

ถ้าสำคัญจริง ถ้าเป็นเรื่องเร่งด่วน ถ้าเป็นนโยบายที่ผ่านการหารือร่วมกันจริง

ทำไมไม่ใส่ลงไปในนโยบาย

จะให้เข้าใจได้ไหมว่า นโยบายก็เขียนมายังงั้นๆ

เขียนเพราะกฎหมายบังคับ

เขียนเพื่อให้ตัวเองดูดี

เขียนเพื่อจะมีอะไรอ้างกับชาวบ้าน

แต่เวลาทำงานจริง ก็ต่างคนต่างทำ

ไปคนละทางสองทาง

เพราะไม่ได้ตกลงปลงใจ ไม่ได้เห็นด้วยกัน ทั้งในหลักการและการปฏิบัติ

ไม่ได้มาจากโจทย์เบื้องต้นพื้นฐานมาแต่ต้น

คือเอาทุกข์ชาวบ้านเป็นที่ตั้ง

ที่มารวมๆ กันเป็นรัฐบาล ก็เพราะผลประโยชน์อันหละหลวมมัดรวมเอาไว้

วันไหนเชือกคลาย หรือเชือกพันกัน เพราะผลประโยชน์ไม่สมคล้อย

เดี๋ยวก็คงได้เห็นกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ข้อสังเกตประการต่อมาก็คือ

12 ข้อ 12 แนวทางที่แถลงสภาครั้งนี้

แทบไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากนโยบายหรือค่านิยมที่รัฐบาลทหารในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายึดถือหรือประกาศเอาไว้เลย

คำถามก็คือ ถ้าทำมา 5 ปียังไม่สำเร็จ (คำสุภาพของคำว่าล้มเหลวน่ะครับ)

แล้วยังจะตะบันให้หลักหรือแนวทาง-วิธีการเดิมทำต่อไปอีก

มันจะหวังผลสำเร็จได้ตรงไหน?

ถ้าเชื่อที่โบราณว่า ผิดเป็นครู

ที่ผิดซ้ำๆ ซากๆ ไม่ยอมเรียนรู้ ไม่ยอมปรับตัว

นี่มันต้องระดับรัฐมนตรีศึกษาแล้วพ่อคุณเอ๋ย (ฮา)

และข้อสังเกตสุดท้ายก็คือ ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ซึ่งใส่เข้ามาอย่างเสียไม่ได้ 2 บรรทัด

(เหมือนให้ประชาธิปัตย์เอาไปโฆษณาหาเสียง-แก้ตัวกับชาวบ้านได้ว่า นี่ไงผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญได้แล้ว-แต่ทำยังไง เสร็จเมื่อไหร่ไม่รู้นะ)

ไม่บอกวิธีการ ไม่กำหนดเป้าหมาย ไม่มีกรอบเวลา

แถมใช้คำว่า “ศึกษา” คือยังไม่ได้ลงมือแก้นะครับ

แต่ขอดูก่อน

ซึ่งถ้าให้สรุปเอาดื้อๆ (บนพื้นฐานที่เชื่อคำพูดของพวกท่านๆ อย่างสนิทใจ ว่า “รัฐธรรมนูญนี้ design มาเพื่อพวกเรา”)

ก็คือรัฐธรรมนูญจะไม่ได้แก้

อย่างน้อยก็จากฝั่งรัฐบาล

สังคมไทยก็จะยังตกอยู่ในวังวนหลุมดำ มีแต่เงื่อนไขและปัญหารายล้อมเหมือนลิงแก้แหเพราะกฎกติกาพิสดารวิตถารอยู่ต่อไป

ไม่เฉพาะแต่กับชาวบ้าน หรือฝ่ายค้านทั้งหลายเท่านั้น

แต่ฝ่ายรัฐบาลเองนั่นแหละที่จะต้องระวังให้ดี

เพราะ “รัฐธรรมนูญ (เฒ่า) สารพัดพิษ” ฉบับนี้ ไม่เข้าใครออกใคร

และสุดท้าย เมื่ออ่านจบ 40 หน้าแล้วก็ร้องออกมาคำเดียวว่า

เฮ้อ

พร้อมกับตั้งสติทำสมาธิแบบที่คนรุ่นก่อนท่านเคยสอนว่า

อยู่ๆ กันไป ทนๆ กันไป

ประเทศชาติไม่ใช่ของเราคนเดียว

(แต่ก็ไม่ใช่ของเล่นในมือเด็กเอาแต่ใจตัวเองไม่กี่คนเหมือนกัน)

ยืมชื่อเรื่องนิยายของคุณวีรพร นิติประภา มาใช้หน่อยว่า

นี่มัน “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” แท้ๆ