พล.ต.อ.อดุลย์ นำคณะ กมธ.แรงงาน วุฒิสภา เยี่ยมบริษัทยานยนต์ศึกษาการนำเทคโนโลยี AI ควบคู่กับการพัฒนาฝีมือแรงงานภาคการผลิต

วันที่ 25 เมษายน 2567 พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา นำคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ลงพื้นที่ศึกษาดูงานในสถานประกอบการด้านการส่งเสริมการจ้างแรงงานภายใต้ธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI การใช้เทคโนโลยีควบคู่กับการพัฒนาฝีมือแรงงานในการผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ และการจัดสวัสดิการให้แก่แรงงานอย่างเหมาะสม โดยมี ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่บริษัท เจเทคโตะ (ไทยแลนด์) จำกัด หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมให้การต้อนรับ ณ บริษัท เจเทคโตะ (ไทยแลนด์) จำกัด อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ในวันนี้ผมพร้อมด้วยคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ได้ลงพื้นที่มายังจังหวัดฉะเชิงเทราเยี่ยมสถานประกอบการที่บริษัท เจเทคโตะ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งบริษัทแห่งนี้เป็นสถานประกอบการประเภทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อนำคณะมาศึกษาดูงานในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านแรงงาน อาทิ การจัดหาแรงงาน การคัดเลือกแรงงาน การพัฒนาฝีมือแรงงาน ตลอดจนการใช้ AI แทนคน การจ้างแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ รวมทั้งการศึกษาเกี่ยวกับกรณีที่บริษัทอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ว่าบริษัทมีสิทธิประโยชน์หรือข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติเป็นเฉพาะหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ ยังศึกษาถึงรูปแบบการให้สวัสดิการแก่แรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย อาชีวอนามัยในการทำงานของบริษัท ตลอดจนศึกษาแผนการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์กรณีมีนักลงทุนจีนเข้ามาขยายตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอีกด้วย

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภาในครั้งนี้ พบว่า ปัจจุบันบริษัทประสบปัญหาด้านบุคลากร เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุทำให้อัตราการเกิดน้อยลง ประกอบกับการย้ายคนงานเข้าสู่อุตสาหกรรมบริการ เนื่องจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว และความก้าวหน้าของผู้ผลิตจากประเทศจีน จึงยากต่อการว่าจ้างแรงงานเป็นจำนวนมากไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการที่จะมุ่งสู่การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน จำเป็นต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งและขยายการปฏิบัติงานด้วยระบบอัตโนมัติ โดยการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงความต้องการด้านบุคลากร การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจีน ซึ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและมีต้นทุนที่ต่ำ โดยเห็นได้จากการเข้ามาขยายรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) จำนวนมากในประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทมีการปรับตัวหลายอย่าง อาทิ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและหุ่นยนต์รวมถึงเอจีวี การโปรโมต DX โดยใช้ AI เสริมสร้างความแข็งแกร่งในการบำรุงรักษาเครื่องจักรด้วยระบบอัตโนมัติ และการขยายการใช้เทคโนโลยีไอทีเพื่อพัฒนารูปแบบการทำงาน เพื่อให้มีบุคลากรที่สามารถเป็นผู้นำในการพัฒนาส่งเสริมได้และเป็นผู้มีทักษะในการทำงานอีกด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา จะนำผลการศึกษาดังกล่าวไปเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อนำไปเสนอรัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายด้านแรงงานเพื่อรองรับการจ้างงานในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลในโอกาสต่อไป