ฐากูร บุนปาน : คำสั่งคลายล็อกทางการเมือง กลายเป็นเรื่องตลก

คําสั่งตาม ม.44 ล่าสุดของ คสช. เรื่องคลายล็อกทางการเมือง

กลายเป็นเรื่องตลกขึ้นมาอีกจนได้

เพราะทำให้เกิดสถานการณ์คล้ายกับคนอุจจาระไม่สุดขึ้นมา

ยังไง?

ก็ตรงที่ห้ามใช้เครื่องมือในโลกโซเชียลทั้งหลายหาเสียงไงครับ

ท่านให้ประชุมพรรคได้

ให้เลือกตั้งกรรมการบริหารได้

ให้จัดทำนโยบายได้

แต่ห้ามไม่ให้ใช้เครื่องมือการสื่อสารที่ทรงพลังที่สุดในยุคนี้คือโซเชียลมีเดีย เป็นเครื่องมือกระจายข้อมูลข่าวสาร

จะยังไง?

ทำนโยบายออกมาแล้ว ให้นั่งเกวียนหรือขี่ลาไปตีฆ้องร้องป่าวกลางหมู่บ้าน

ทำใบปลิวไปติดไว้ตามเสาไฟฟ้าให้รกเล่น

หรือด้วยวิธีการโบราณล้าสมัยอื่นๆ หรือ

แล้วจะมีอินเตอร์เน็ต มีโซเชียลไว้ทำไม

ตอนเด็กเอาไว้เล่นเกม ก็ด่าเด็ก

คนเอาไว้ดูรูปโป๊ ก็หาว่าหมกมุ่น

แต่พอจะเอามาใช้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ เป็นสาระ

ไม่ให้ทำ

ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับที่รัฐบาลพยายามประกาศปาวๆ ว่ากำลังจะผลักดันประเทศไทยให้เข้าสู่ยุค 4.0

จะไป 4.0 จริง

มันต้องเริ่มที่ “ใจ” ก่อน

ถ้าใจยังแค่จุดสูญสูญอยู่

ป่วยการประกาศอะไรหรูๆ หราๆ

คําถามคือว่า ทำไมไม่ให้ใช้

ตอบอย่างหรูๆ หล่อๆ ก็อาจบอกว่า

เพื่อให้เกิดความเสมอภาค ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ

เสมอภาคประเภทถอยหลังเดินลงจากรถไฟความเร็วสูง มานั่งเกวียนด้วยกัน

แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัว ก็ต้องบอกว่าน่าจะห้ามเพราะ “กลัว”

กลัวอะไร

1. กลัวคุมไม่ได้

เพราะนอกจากจีนแล้ว ยังไม่ปรากฏว่ารัฐบาลไหนในโลกนี้สามารถควบคุมการใช้งาน หรือการแพร่ข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ตได้ (ต่อให้จีนเองก็เถอะ รอยรั่วบนกำแพงเมืองจีนก็มีตั้งหลายจุด)

แต่ถ้าเป็นรัฐบาลที่เขามีสติปัญญาหน่อย ก็คงคิดอ่านหาวิธีพัฒนา หรือยกระดับตัวเองขึ้นมาให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง

ส่วนรัฐบาลสมองกุ้งสมองหอย

ก็คงเลือกวิธีทุบ ห้ามเอาดื้อๆ

ส่วนกลัวอย่างที่สอง ซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน หรือเผลอๆ อาจสำคัญกว่า

คือ

2. กลัวแพ้

เพราะข้อมูลซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องปิดลับบนโลกอินเตอร์เน็ตเลยก็คือ

ความนิยมของรัฐบาล คสช. ทหาร หรือพันธมิตรซีกนี้ เทียบไม่ติดฝุ่นกับความนิยมบนโลกออนไลน์ของอีกฝ่าย

ไม่ว่าจะคู่อริดั้งเดิม ที่อาจจะไม่ได้เชี่ยวดิจิตอลแบบสุดๆ แต่มีวิญญาณพ่อค้า-นักการตลาดเต็มเปี่ยม

ปล่อยของหนไหน ระเบิดหนนั้น

หรือหน้าใหม่ที่เพิ่งกระโดดเข้ามา อันนี้ยิ่งแรงใหญ่

แรงจนสัมผัสได้ว่าแรงกว่าแทบทุกคนรวมกัน

ในขณะที่ฝ่ายมีอำนาจ เป็นเหมือนตัวตลก

ความนิยมเกิดจากความฮา (ของคนอื่นที่มีต่อตัวเอง) เป็นหลัก

แล้วจะไม่ให้กลัวกันได้ไง

ทั้งที่อีกด้านหนึ่ง

ความนิยม (หรือไม่นิยม) ในโลกโซเชียลนั้น ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดหรือรับประกันว่าการรับชม ไลก์ คอมเมนต์ แชร์ (ที่เรียกรวมๆ ว่าเอนเกจเมนต์)

จะแปรเป็นคะแนนโหวต เมื่อการเลือกตั้งมาถึงได้สักเท่าไหร่

แต่อย่างว่าละครับ

พอเริ่มต้นด้วยความกลัว มากกว่าด้วยการใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงเข้ามาจับ

สมงสมอง สติ-ปัญญาก็หดหายไปหมด

ประเด็นสุดท้ายที่จะพิจารณาก็คือ

แล้วคำสั่งฉบับนี้จะมีผลจริงๆ หรือได้ผลตามที่ผู้สั่งต้องการหรือไม่

อุจจาระไม่สุดนั้นอยู่ตรงนี้

เพราะคำตอบคือ

ไม่

อาจจะได้ผลบ้าง

แต่น้อย

เพราะที่ผ่านมา รัฐ-ราชการไทยก็ไม่เคยมีปัญญาจะไปควบคุมความแพร่หลาย หรือกิจกรรมบนโลกดิจิตอลได้

จู่ๆ จะมาหวังว่าสั่งอะไรทื่อๆ อย่างนี้แล้วจะได้ผล

ด้านหนึ่ง ต้องยอมรับความจริงว่า คนหมั่นไส้การใช้อำนาจแบบไม่มีเหตุผล และไม่รู้จะไปจบสิ้นที่ไหน-เมื่อไหร่นั้น เพิ่มขึ้นทุกวันทุกฝ่าย

ยังด่ากันตรงๆ ไม่ได้ ตอดเอา-เล่นให้เป็นตัวตลกเอา ก็ยังดี

อีกด้าน คนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งกำปั้นทุบดินแบบนี้ ใครเขาจะงอมืองอเท้าให้ทุบข้างเดียว

มีช่องให้ลอดเขาก็ลอด

แค่สองกลุ่มนี้ก็ตามไปอุดไม่หวาดไม่ไหวแล้ว

ถามว่าคนออกคำสั่งรู้ไหม ว่าคำสั่งออกมาแล้วจะไม่ได้ผล หรือได้ผลแค่ครึ่งๆ กลางๆ เหมือนอุจจาระไม่สุด

ไม่ดูถูกสติปัญญากันก็ต้องบอกว่าน่าจะรู้

แต่ปัญหาคือรู้แล้วก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อไป

และทำอะไรไม่เป็น นอกจากใช้อำนาจทุบเอาตรงๆ

อันนี้แหละทั้งน่าขัน และน่าสงสาร

ขำขันตัวอำนาจ

และสงสารคนไทย