คนแก่ครองเมือง | คำ ผกา

คำ ผกา

“ในเชิงสถิติ เริ่มนับตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยกลายเป็น ‘สังคมสูงอายุ’ (Aged Society – มีผู้สูงอายุมากกว่า 10% ของประชากร) เทียบเคียงกับปี 2566 ที่ประเทศไทยเป็น ‘สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์’ (Completely Aged Society – มีผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของประชากร) และยังเทียบไปยังการคาดการณ์ในปี 2576 ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ (Super Aged Society – มีผู้สูงอายุมากกว่า 28% ของประชากร) ไปจนถึงปี 2583 ที่มีความเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด”

https://www.thecoverage.info/news/content/5465

 

เมื่อดูสถิตินี้จึงไม่ต้องแปลกใจว่าหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขคือพยายามรณรงค์ให้คนไทยหรือหญิงไทยมีลูก

และฉันจะไม่เขียนซ้ำซากเพื่อตอบโต้กลุ่มชาว woke ที่เคลมความเป็นหัวก้าวหน้าทั้งหลายที่พากันออกมาเขียนอะไรที่ตัวเองคิดว่าเท่มาก

เช่น “รัฐบาลไม่มีสิทธิมายุ่งกับมดลูกของผู้หญิง” เพราะกลุ่มคนหัวก้าวหน้าปลอมเหล่านี้ไม่ได้เข้าใจว่า ตราบเท่าที่เรามีชีวิตอยู่ใน “รัฐสมัยใหม่” นโยบาย “ประชากร” คือหัวใจของการขับเคลื่อนรัฐสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการสำมะโนประชากร การแจ้งเกิด การแจ้งตาย กำเนิดนโยบายสาธารณสุข กฎหมายการุณยฆาต บริการคุมกำเนิดโดยรัฐ นโยบายการทำแท้ง นโยบายสุขอนามัยเจริญพันธุ์ นโยบายการศึกษาภาคบังคับ รวมไปถึงแนวคิด “รัฐสวัสดิการ” ที่ชาว woke (แบบขาดความรู้) ไทยปรารถนาอยากมี ล้วนแต่สัมพันธ์กับนโยบายประชากรที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแทรกแซง “มดลูก” การมีลูก และความเป็นแม่ของพลเมืองเพศหญิงทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หนทางเดียวที่มดลูกผู้หญิงจะรอดพ้นจากการแทรกแซงของรัฐคือการเป็น anarchist ซึ่งฉันยังไม่เห็นใครมีปัญญาจะทำเช่นนั้น

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยมีนโยบายกระตุ้นให้คนมีลูกแบบฮาร์ดคอร์สุดสุด

 

จากหนังสือ ครรภ์แห่งชาติ โดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ได้ให้ข้อมูลแนวคิด “สมรสแห่งชาติ” ในช่วงปี 2486 ยุคของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ว่า อุปสรรคของศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในยุคนั้นคือเรามีประชากรน้อยมาก คือแค่สิบกว่าล้านคน จึงตั้งเป้าจะมีประชากร 30-40 ล้านคนให้ได้เร็วที่สุด ปลัดประทรวงสาธารณสุขในเวลานั้นคือ นพ.พูน ไวทยาการ เสนอแนวทางเพิ่มจำนวนประชากรไว้สองแนวทางคือ

หนึ่ง สนับสนุนให้มีคนเข้าเมืองให้มาก (เป็นแนวคิดที่ก้าวหน้ามาก เมื่อเทียบกับภาพจำของเราคนไทยว่าสมัย จอมพล ป. เป็นสมัยคลั่งชาติ) แต่กลับมีนโยบายเปิดกว้างให้คนเข้ามาอยู่ และทำงานในเมืองไทยง่ายขึ้น

สอง สนับสนุนให่มีอัตราการเกิดสูงกว่าอัตราการตาย

และที่ฉันทึ่งมากเมื่อได้อ่านข้อมูลเหล่านี้คือ ทึ่ง ที่รัฐบาลจอมพล ป.มีความก้าวหน้า ทันสมัย มองโลกว้าง (เหมือนคำขวัญวันเด็กปีนี้)

เช่น มีการณรงค์ให้คนไทยสมาทานคอนเส็ปต์ความรักแบบ “สมัยใหม่”

นั่นคือ ความรักไม่ควรมีอุปสรรคจากมูลค่า “สินสอด” ดังนั้น จึงมีแคมเปญยกเลิกการมีสินสอด

ไม่เพียงเท่านั้นยังให้แต่ละจังหวัดทำหน้าที่เป็น “ทินเดอร์” เรียกว่า “สำนักงานสื่อสมรส” มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าสำนักงาน

ทำหน้าที่รับแจ้งความจำนงของชาย-หญิงในการเลือกคู่ ผู้แสดงความจำนง แจ้งรูปพรรณ อาชีพ อายุ และคู่ที่พึงประสงค์ไว้ ทางเจ้าหน้าที่จะหาแมตช์คู่ให้ และจะช่วยให้คู่สมรสมีที่ทำกิน

ใครมีลูกคนแรกภายใน 260 วันหลังจากแต่งงาน ลูกจะได้รับทุนเรียนฟรี

 

นโยบายส่งเสริมการสมรสนี้ รัฐใช้เครื่องมือของรัฐในการโฆษณาเต็มที่ ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เพลง ละคร บูรณาการกรมประชาสงเคราะห์ และกระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้แก่คนหนุ่มสาวเรื่องการเงิน การแต่งงาน อาชีพ สุขภาพ เก็บภาษีคนโสด

และที่พีกสุดๆ (ถ้าเอามาทำสมัยนี้โดนด่าแน่ๆ) คือ เกณฑ์การเลื่อนขั้นความก้าวหน้าและเงินเดือนข้าราชการ ใช้เกณฑ์ว่า พิจารณาเลื่อนขั้นให้แก่คนที่แต่งงานมีครอบครัวก่อนคนโสด

ขณะเดียวกันก็มีสิทธิประโยชน์ให้ข้าราชการหญิงที่ตั้งครรภ์ และคลอดบุตร สามารถย้ายไปอยู่ในแผนกที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เพื่อป้องกันการลาออกหลังจากตั้งครรภ์

นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานสมรสหมู่ ที่ทำเนียบสามัคคีชัย ตึกไทยคู่ฟ้า วันที่ 29 มีนาคม 2486 จำนวน 73 คู่

เป็นงานแต่งงานแบบสากล สวยงาม ศิวิไลซ์มากๆ

นั่นคือ กระทรวงวัฒนธรรมทำหน้าที่ออกแบบชุดเจ้าสาวและเจ้าบ่าว โดยให้เจ้าสาวใช้เสื้อสีขาวคอตื้น กระโปรงยาวจรดพื้น เครื่องประดับเสื้อไม่มีสี เสื้อชั้นในแพรขาว มีผ้าโปร่งเป็นลูกไม้คลุม ถุงเท้าสีเนื้อ รองเท้าส้นสูง สวมถุงมือขาว และถือดอกไม้ผูกริบบิ้นขาว

องค์การส่งเสริมการสมรสสนับสนุนค่าชุดเจ้าสาวรายละ 50 บาท และให้ยืมเสื้อชั้นนอก กระโปรง และถุงเท้า ชุดเจ้าบ่าวกำหนดเป็นสุดสากลสีขาว กางเกงไม่พับขา เน็กไทสีน้ำเงินเข้มหรือสีเทา

หากเป็นข้าราชการแต่งเครื่องแบบปกติ หรือชุดสากลตามสมัยนิยม

 

ฉันอ่านข้อมูลเหล่านี้ด้วยความรู้สึกตื่นเต้นตาแตกมาก

ลองคิดดูว่าก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี “ไพร่สยาม” ยังมีชีวิตแบบโดนสักเลก เกณฑ์แรงงาน ไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง ไม่มี “ค่า” ใดๆ นอกจากก้มหน้ารับชะตากรรมที่เกิดมาตามชาติกำเนิด

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มันคือ “โลกใหม่” ที่บอกว่าราษฎรทุกคนล้วนมี “ค่า” และเป็นสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาได้ ยกระดับได้ เป็น “ทรัพยากร” ที่สำคัญที่สุด

และหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำให้ชีวิตของคนทุกคนได้รับการดูแล ยิ่งเมื่อเทียบกับยุคก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ยังมีแม้กระทั่งข้อห้าม “อย่าใฝ่สูงให้เกิดศักดิ์”

โลกประชาธิปไตยกลับอยากยกระดับผู้คนตั้งแต่เรื่องเสื้อผ้า การแต่งกายให้เกิดความเป็นสากลทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ

งานแต่งงานของประชาชน สามัญชน ก็ควรได้ใส่ถุงน่อง รองเท้า กระโปรงยาว ผ้าลูกไม้ เหมือนที่ทำกันในสากลโลก

สิ่งเหล่านี้ไม่ควรถูกกันไว้เป็น “วัฒนธรรม” ของชนชั้นสูง หรือชนชั้นผู้ปกครองเท่านั้น

ความทะเยอทะยานอย่างหนึ่งของของจอมพล ป. คืออยากให้คนไทยเป็นผู้มีวัฒนธรรม มีอารยะเหมือนชาวโลก

 

กลับกันในปัจจุบัน อัตราการเกิดต่ำ มีหลายปัจจัย มันถูกต้องที่ว่าประเทศไทยที่มีความผันผวนทางการเมืองมีรัฐประหารบ่อยๆ ทำให้ประเทศนี้ไม่น่าอยู่ ไม่ปลอดภัย ประเทศตกอยู่ในสภาพแช่แข็งเป็นระยะๆ ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ

คำว่าคุณภาพชีวิตหากจะได้มาต้องซื้อด้วยเงิน เหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้คนไทยไม่อยากมีลูก

โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่มองว่าหากจะมีลูกก็ต้องมีความสามารถในการเลี้ยงลูกให้ดีด้วย

และดังที่ฉันได้เขียนไปในหลายบทความก่อนหน้านี้ว่า สังคมที่คนอยากมีลูกต้องเป็น

หนึ่ง สังคมที่ปลอดภัยจากยาเสพติด อาชญากรรม อุบัติเหตุ

สอง สังคมที่คนเข้าถึงการศึกษาที่คุณภาพดีโดยไม่ต้องจ่ายเงินแพง

สาม สังคมที่สิ่งแวดล้อมดี อากาศสะอาด

ลองคิดดูว่าด้วยคุณภาพอากาศแบบที่เป็นอยู่ PM 2.5 ขนาดนี้ ใครจะอยากมีลูก

 

ขณะเดียวกันหลายๆ ประเทศที่มีครบทั้งสามปัจจัยข้างต้น ก็ยังเผชิญกับปัญหาอัตราการเกิดต่ำอยู่นั่นเอง

เช่น หลายๆ ประเทศในยุโรป สแกนดิเนวีย หรือประเทศที่คนไทยรู้จักดีคือประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ก็อัตราการเกิดต่ำมา

จึงพูดได้อีกว่า มันมีความเปลี่ยนแปลงทางโลกทัศน์ต่อการใช้ชีวิตและมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

และสิ่งนี้อาจอยู่เหนือการควบคุมของรัฐโดยสิ้นเชิง

เช่น เราไม่ได้อยู่ในโลกที่ให้คุณค่าสูงสุดกับการเป็นพ่อ เป็นแม่ หรือสร้างครอบครัวอีกต่อไป

หนักกว่านั้น คนในสมัยนี้หลายคนอยากฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับพ่อและแม่ของตัวเองที่ทำให้พวกเขาต้องเกิดมา

ในทำนองว่า ฉันไม่ได้ขอมาเกิด ฉันไม่ได้อยากเกิดมาบนโลกใบนี้เลยแม้แต่น้อย

ความศรัทธาต่อชีวิตที่เปลี่ยนไป เราไม่ได้เชื่อเรื่องโลกหน้า เราเชื่อเรื่องโลกนี้ ชีวิตนี้

คนจำนวนมากมองว่า เมื่อเกิดมาก็อยากใช้ชีวิตนี้ให้มีความสุข ไม่มีภาระ เมื่อตายไปก็ไม่มีอะไรต้องห่วง จึงไม่ได้อยากมีบ้าน มีครอบครัว มีลูก ทำงาน มีเงิน ไปเที่ยว เดินทาง หาประสบการณ์

ถึงเวลาก็อยากกำหนดวันตายของตัวเองได้ด้วยซ้ำ

เทรนด์เรื่องการรุณยฆาต จึงเป็นเทรนด์ของโลกสมัยใหม่และถูกเรียกร้องให้รัฐเข้ามามีส่วนสนับสนุนเรื่องนี้มากกว่าให้รัฐสนับสนุนการเกิดเสียด้วยซ้ำ

พูดง่ายๆ ว่า การรื้อถอนแนวคิดเรื่องเพศ เรื่องเฟมินิสต์ เรื่องครอบครัวได้ liberate มนุษย์เราจากการถูกกดทับของโครงสร้างอำนาจเดิมที่เกี่ยวพันกับศาสนา ประเพณี และอำนาจรัฐ เป็นเรื่องที่ดี

แต่ขณะเดียวกันก็พ่วงมาด้วยปัญหาสังคมสูงวัยที่เราเผชิญกันอยู่ตอนนี้

และทำให้ “คนหัวโบราณ” มองคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมมีลูกว่า “เห็นแก่ตัว”

 

ฉันคิดว่า ถ้าฉันเป็นรัฐบาลก็คงต้องเดินหน้าทำอะไรสักอย่าง เพื่อเพิ่มอัตราการเกิด ไม่ว่าจะเป็นการทำทุกวิถีทางให้ประเทศมันน่าอยู่ขึ้น อยู่แล้วรู้สึกว่า เออ สังคมนี้ก็ดี สวย ปลอดภัย เป็นธรรม เท่าเทียม ถ้ามีลูกก็คงไม่แย่ ไม่ลำบาก

ขณะเดียวกันก็ต้องใช้กลไกทางอุดมการณ์แบบซอฟต์ๆ ทำให้คนรู้สึกว่าการมีลูกมันสนุก มันน่ารัก มันอบอุ่น

การมีลูกไม่ได้ขัดแย้งกับการเป็นเฟมินิสต์ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่ามันยากหรือมันง่าย แต่นั่นก็คือมากที่สุดเท่าที่รัฐจะทำได้

หลายๆ ประเทศก็ทำแบบฮาร์ดคอร์เหมือนสมัยจอมพล ป. เช่น เทศบาลเป็นตัวกลางในการจัดงานหาคู่ จับคู่ มอบสิทธิประโยชน์เป็นบ้าน เป็นที่ดิน เป็นเงิน เพื่อสร้างแรงจูงใจ

ขณะเดียวกันแนวคิดเรื่อง “คนแก่” ก็อาจจะต้องปรับตามเทคโนโลยีทางการแพทย์

เช่น อายุ 40 อาจเป็นผู้ใหญ่ตอนต้น จะเริ่มกลายเป็นคนแก่ก็ต้องเมื่ออายุ 70

วัยที่จะเลิกแอ๊กทีฟจริงๆ อาจจะขยับเป็น 80 เพื่อขยายวัยทำงานให้กว้างขึ้นจาก 20-60 เป็น 20-70 ปี ว่ายังอยู่ในวัยทำงาน แต่เป็นการทำงานสองระยะ

เช่น คนอายุ 60-80 ไม่ใช่วัยเกษียณ แต่เปลี่ยนมาทำงานอีกแบบหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความแข็งแรงทางร่างกายอย่างเข้มข้น แต่ใช้ทักษะอย่างอื่นแทน

เพราะในมิติเศรษฐกิจที่วัยทำงานต้องแบกผู้สูงวัย 1 : 4 น่ากังวลว่าเราจะผลิตเด็กผ่านการเพิ่มอัตราการเกิดอย่างเดียวไม่ทัน

ส่วนมนุษย์ woke ทั้งหลายพึงระลึกว่า การอยู่ในรัฐสมัยใหม่ ยังไงเราก็หนีไม่พ้นเงื้อมมือของรัฐที่ต้องเข้ามา “เสือก” ในชีวิตการเจริญพันธุ์ของเรา

หน้าที่ของเราคือ ตระหนักรู้และคงสิทธิที่จะ “เลือก” ได้โดยไม่ถูกรัฐละเมิดเท่านั้น