อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : พลังการเบียดขับออกไปของอาเซียน

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
AFP PHOTO / Christophe ARCHAMBAULT

ไม่ว่าอาเซียนจะมีภาษาทางการทูตเกี่ยวกับประชาชนสวยหรูอย่างไร เช่น “การทูตประชาชน” “อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและรวมผู้คนเข้ามา” อาเซียนมีอัตลักษณ์สำคัญคือ Unity among Diversity ทั้งทางด้านชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม แต่ในอดีต ปัจจุบันและอนาคตที่วางไว้ว่าในปี 2025 อาเซียนภายใต้พิมพ์เขียว แผนงาน กฎและระเบียบต่างๆ กำลังอยู่ในกระบวนการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวในนามของ “ประชาคมอาเซียน”

หากทว่า ระหว่างที่อยู่ในกระบวนการหลอมหลวม การเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ความเปลี่ยนแปลงจากชนบทสู่เมืองอย่างพลิกผัน การบูรณาการสู่ระบบทุนนิยมโลกด้วย โครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างการผลิต ห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ โครงสร้างการบริโภค และการไหลเวียนไปมาของผู้คนทั่วโลกทั้งการท่องเที่ยว การเดินทางเพื่อการพักผ่อนและการศึกษา ล้วนมีผลให้คนชนบท แรงงานไร้ฝีมือ แรงงานย้ายถิ่นถูกบังคับและชาวบ้านธรรมดาในภูมิภาคนี้ ยิ่งถูกเบียดขับออกไป

โดยพื้นฐานแล้ว พลังเบียดขับออกไปนี้ ไม่ว่าที่ไหนในโลกเป็นพลังบางอย่างที่ใช้กับ “ผู้อ่อนแอ” โดย “ผู้ที่แข็งแรงกว่า”

พลังเบียดขับออกไปนี้ มิใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นโดยเลือกสุ่ม และไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกัน พลังนี้สร้างขึ้นโดย ความสัมพันธ์ทางอำนาจ (power relations) นานาชนิด¹ ครอบคลุมทั่วชนบทเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่ไหนๆ ก็ตาม

การเบียดขับผู้คนออกไปจากที่ดินนี้ เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างกฎระเบียบ (regulation) ซึ่งเกี่ยวพันกับเครื่องมือมากมายทั้งของรัฐและทางกฎหมาย เกี่ยวพันกับการใช้กำลัง (force) ที่เบียดขับผู้คนออกจากที่ดินของพวกเขาเองด้วยความรุนแรง (violence) หรือคุกคามด้วยความรุนแรงที่เกิดจากผู้เล่นทั้งที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐ พลังเบียดขับออกไปยังเกิดจากตลาด (market) อันเป็นอำนาจหรือพลังเบียดขับที่ทำให้เกิดข้อจำกัดการเข้าถึง (access) ทั้งจากราคาและโดยการสร้างแรงจูงใจนานาชนิดให้เอกชนอ้างความเหนือกว่าได้ ทั้งนี้ ตลาด และ กำลัง เป็นเครื่องมือทั้งทางการเมืองและทางสังคมที่นิยมใช้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงพลังการเบียดขับออกไปทั้งกฎระเบียบ กำลังและตลาด ล้วนแยกออกจากกันไม่ได้โดยเด็ดขาด หากทว่า พลังเหล่านี้มีสภาพเลือนรางไม่ชัดเจน อีกทั้งยังมีความสลับซับซ้อน

ตัวอย่างเช่น หน่วยงานของรัฐมักใช้สิทธิอำนาจของทางการเพื่อผลประโยชน์และเป้าหมายของภาคเอกชน

แม้แต่การบริจาคของบริษัทและองค์กรพัฒนาเอกชนหลายครั้งก็ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในโครงการต่างๆ ที่มีศักยภาพในการเบียดขับผู้คนออกไป²

การเบียดขับอันทรงพลัง

ภาพของชาวประมงทะเลลาว กัมพูชา เมียนมา ไทย หรือแม้แต่ชาวโรฮิงญา ทั่วมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกที่รายล้อมอาเซียนอยู่นี้เผยให้เห็นแล้วว่า อาเซียนมีพลังที่ผลักไสผู้คนและคนชายขอบอยู่จริง

ยิ่งอุตสาหกรรมประมงทะเลใหญ่โตและทำรายได้ให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนมากเท่าใด การหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ การค้ามนุษย์ จนกระทั่งเป็นทาสสมัยใหม่ ก็ยิ่งปรากฏชัดยิ่งขึ้นตามไปด้วย

การเปลี่ยนผืนนาของชาวนาลาวในและบริเวณรอบนอกนครเวียงจันทน์ เมืองเล็กๆ สงบเงียบและคงวิถีชนบทมาช้านาน พลันกลับกลายเป็นศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม

ถนนหลายสายที่ตัดใหม่เผยตัวตนให้เห็นถึงพลังเบียดขับ ใน สปป.ลาวที่มีพละกำลังอันมหาศาล รายได้ของประเทศจากนักท่องเที่ยว รายได้ที่ สปป.ลาวได้จากการขายกระแสไฟฟ้าให้กับทางการไทย แล้วกลับมาเป็นรายได้ของประเทศ ไม่ได้หมายถึงความกินดีอยู่ดีของคนลาว ชาวบ้านลาว

ตรงกันข้าม ชาวนาลาวสูญเสียที่ดินไปให้นายทุนจีน เวียดนาม รวมทั้งนายทุนไทย

ชาวนาลาวถูกผลักไสออกจากที่นาและบ้านของตัวเอง เมื่อคลื่นแรงงานย้ายถิ่นทั้งจีนและเวียดนามมาอาศัยแทนพวกเขา ทั้งเพื่อทำงานชั่วคราวและตั้งรกรากใหม่

สิ่งที่จะกระทบกว้างและมากไปกว่านั้นคือ การทำลายป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ และชุมชนดั้งเดิมของชาวบ้านลาวจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และไม่มีวันหวนกลับคืนมาอีกเลย

เมื่อผู้นำในรัฐบาล สปป.ลาว ดำเนินการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากนครเวียงจันทน์ที่เคยสงบเงียบ สวยและน่ารัก เชื่อมต่อไปยังชายแดนจีน

ทั้งๆ ที่รถไฟสายนั้นจะใช้เพื่อคนลาว สินค้าลาว หรือเพื่อคนจีน สินค้าจีน หรือสินค้าลาวที่ขุดโดยนายทุนจีน เช่น แร่โพแทสเซียมอันเป็นที่ต้องการของทางการและเอกชนจีนก็ตาม

สิ่งที่เดาได้ไม่ยากคือ รายได้จากค่าผ่านทางเล็กน้อยสำหรับสินค้าผ่านทางที่ทางการ สปป.ลาวได้รับ

สิ่งที่เดาได้ไม่ยากและเกิดขึ้นแล้วคือ บริบทความเปลี่ยนแปลงชายแดน สปป.ลาวและไทย ก่อนที่เส้นทางรถไฟสายฝันคุนหมิง-สิงคโปร์จะเกิดขึ้น แรงงานจีน สินค้าจีน ชุมชนจีนใหม่ต่างแพร่กระจายและฝังตัวแน่นตามพรมแดน สปป.ลาวและไทยอยู่แล้ว ช่วงเวลานั้น บ่อนกาสิโน และแผนงานสร้างโรงแรม สนามบินของเอกชนจีนก็เกิดขึ้นแล้วที่พื้นที่บริเวณต้นผึ้งดินแดน สปป.ลาว ดินแดนบริเวณนั้นกลายเป็นสีเทา ด้วยสิ่งผิดกฎหมายนานาชนิด คดีอาชญากรรมและคดีความมั่นคง

ตอนนี้ บ่อนกาสิโนที่ต้นผึ้งหายไปอย่างฉับพลันด้วยคำสั่งจากแกนนำในเมืองหลวงปักกิ่งและอำนาจของทุนนิยม ที่ต้องการเชื่อมต่อการขนย้าย การผลิตและการบูรณาการภาคพื้นลุ่มแม่น้ำโขงเข้าด้วยกันให้ต่อติดกับพื้นที่ของจีนมากขึ้น

นี่ไม่ใช่ความใฝ่ฝันของจีน แต่เป็นยุทธศาสตร์ที่มีความเป็นไปได้หลังจากที่ทางการจีนเพลี่ยงพล้ำในทะเลจีนใต้หลังศาลโลกกรุงเฮกตัดสินแล้ว อีกทั้งจีนยังถูกต้านหนักขึ้นในเมียนมา

อะไรจะวิเศษเท่ากับย้อนกลับมาไทยมหามิตรอีกเล่า

สิ่งที่คาดเดาได้ไม่ยากคือ การเบียดขับผู้คนและชาวบ้านในอาเซียนที่มีอยู่แล้ว อาจเร็วและโหดมากขึ้นเมื่อมีพลังเบียดขับอีกพลังหนึ่งแทรกตัวเข้ามาคือ

จีนเพื่อนบ้านของเรานี่เอง


¹Direk Hall, Phillip Hirsch and Tania Murray Li, Power of Exclusion : Land Dilemmas in Southeast Asia (Singapore : National University of Singapore Press, 2011) : 5.

²Ibid., 6.