ข่าวรับ “สงกรานต์” ครบรอบ 10 เม.ย. และอีกก้าว-คดีข้าว

เข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ และเป็นวาระครบรอบ 10 เมษายน 2553 ของการ “ขอคืนพื้นที่” มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงบ่าย จนถึงค่ำ ที่ถนนราชดำเนิน จนมาถึงถนนราชดำเนินใน

ทำให้ 27 ชีวิตดับลง เป็นพลเรือน 22 ทหาร 5 รวมถึง พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม

ผู้ที่เสียชีวิตเป็นพลเรือน 19 ราย สื่อมวลชน 1 ราย คือ นายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น

บาดเจ็บจำนวน 863 คน เป็นพลเรือน 519 คน ทหารและตำรวจ 344 นาย

หลังสลายการชุมนุม มีการเลือกตั้งในปี 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็นนายกฯ คนที่ 28

และยุติลงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2557 ด้วยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีแทรกแซงการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นเลขาฯ สมช.

เกิดรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

หลังพ้นตำแหน่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังเป็นจำเลยในคดีปล่อยปละให้มีความเสียหายในโครงการจำนำข้าวในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา กระทรวงการคลัง มีคำสั่ง 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหาย 3.5 หมื่นล้าน ก่อนมีคำพิพากษา

ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ยื่นขอทุเลาการบังคับตามคำสั่ง

วันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา องค์คณะตุลาการศาลปกครองเสียงข้างมาก มีคำสั่งให้ยกคำขอของ น.ส.ยิ่งลักษณ์

โดยระบุว่า ผู้ถูกฟ้อง คือกระทรวงการคลังยังไม่ใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด

จึงรับฟังไม่ได้ว่า หากศาลไม่มีคำสั่งทุเลาการบังคับ ตามคำสั่งพิพาท จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไข

คดีนี้ นายภานุพันธ์ ชัยรัต รองอธิบดีศาลปกครองกลาง หนึ่งในองค์คณะ มีความเห็นแย้ง เห็นสมควรที่ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองของกระทรวงการคลัง

นายภานุพันธ์ ระบุว่า กรณีโครงการรับจำนำข้าว มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แสดงว่า นายกฯ กับพวก ดำเนินการกรณีโครงการรับจำนำข้าวเป็นกรณีพิเศษ แตกต่างไปจากกรณีปรกติ

เมื่อผู้ฟ้องไม่ชำระเงินตามเวลาที่กำหนด เมื่อกระทรวงการคลังแจ้งเตือน แล้วไม่ชำระเงิน เจ้าหน้าที่ต้องใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เพื่อชำระเงินให้ครบถ้วน

ข้อเท็จจริงที่รับฟังตามคำสั่งกระทรวงการคลัง จำนวนเงิน 3.5 หมื่นล้านบาทเศษ ยังไม่ยุติเป็นที่สุด เพราะอาจมีเงินจำนวนหนึ่งที่ต้องนำคืนแก่ผู้ฟ้องในภายหลัง ขณะที่ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ยังมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อกำหนดค่าเสียหายที่ยุติเป็นที่สุด

เมื่อสาระสำคัญของคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดียังไม่ยุติเป็นที่สุด จึงน่าจะมีปัญหาเรื่องความไม่ชอบของคำสั่ง

และคำสั่งนั้นแจ้งให้ต้องรับผิดชดใช้เป็นจำนวนเงินที่สูงมาก หากยึดหรืออายัดทรัพย์สินขายทอดตลาดให้ครบตามจำนวน ทั้งที่ข้อเท็จจริงยังไม่ยุติเป็นที่สุด ย่อมเกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้ฟ้อง รวมทั้งบริวารที่มีธุรกรรมเกี่ยวข้อง

จึงเห็นว่าหากให้คำสั่งกระทรวงการคลังนั้นมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับผู้ฟ้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขภายหลัง

แม้ศาลปกครองมีคำสั่งทุเลา นายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช. ยังมีอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 การทุเลาบังคับคำสั่งจึงไม่เป็นอุปสรรคกับการบริหารงานของรัฐ

อีกตอนหนึ่ง ยังระบุว่า เมื่อการออกคำสั่งทางปกครอง เกิดขึ้นในสถานการณ์การใช้กำลังยึดอำนาจการปกครอง ศาลปกครองในฐานะองค์กรตุลาการของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมทางปกครอง ต้องตระหนักและให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐแทนรัฐ ให้เป็นไปในฐานะรัฐที่ดี ตามรัฐนิติธรรมเพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจ

โดยดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีปกครองให้ครบตามขั้นตอนของกฎหมายจนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นที่สุด

เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมทางปกครองของประเทศ ได้ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุในการฟ้องคดีก่อนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินผู้ฟ้อง

เพื่อเป็นหลักประกันในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองแก่ประชาชนและสังคมไทยและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะดำเนินการใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามคำสั่งทางปกครอง ที่ไม่ใช่การบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลซึ่งเป็นที่สุดแล้ว

ยังมีความเห็นแย้งของ นายวชิระ ชอบแต่ง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวนคดีนี้ ระบุตอนหนึ่งว่าเป็นที่แน่ชัดว่า หากให้คำสั่งชดใช้ค่าสินไหมใช้บังคับต่อไป ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 และกรมบังคับคดี จะต้องยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้อง แล้วนำมาขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชดใช้ค่าสินไหมอย่างแน่นอน

จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องได้เริ่มกระบวนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินแล้ว หากมีการบังคับทางปกครองโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์ของผู้ฟ้องโดยสิ้นเชิง ย่อมทำให้ไม่มีทรัพย์ใดๆ เหลืออยู่เลยในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลและย่อมได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยทันที

หากรอให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 และกรมบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์ไปก่อนแล้ว ผู้ฟ้องมีคำขอให้ทุเลา แม้ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลา ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ฟ้องได้รับทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดไปแล้วกลับคืนมา

เพียงแต่ทำให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 และกรมบังคับคดีไม่อาจมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินอื่นของผู้ฟ้องต่อไปได้เท่านั้น

แม้ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลา ก็ไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 และกรมบังคับคดีเพื่อนำไปสู่การยึดและอายัดต่อไป ดังนั้น ถ้าจะสั่งทุเลาจึงไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ

แต่เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของการกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ที่มุ่งคุ้มครองคู่กรณีระหว่างการพิจารณาคดีแล้ว การที่ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาคำสั่งทั้งหมด จะมีผลทำให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 และกรมบังคับคดีไม่สามารถยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินใดๆ ของผู้ฟ้องได้เลยในระหว่างการพิจารณาของศาล ย่อมทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคกับการบริหารงานของรัฐตามมาได้ และทำให้ผู้ฟ้องมีสิทธิใช้บรรดาทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ได้ตามปรกติเสมือนไม่มีคำสั่งที่ใช้บังคับเลยทั้งๆ ที่ผู้ฟ้องยังคงมีหน้าที่ชดใช้เงินตามคำสั่ง

จึงเห็นสมควรที่จะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคำสั่งกระทรวงการคลังเพียงบางส่วนเท่านั้น

ด้วยการห้ามไม่ให้คำสั่งกระทรวงการคลังมีผลในบ้านและที่ดินเลขที่ 38/9 ซอยนวมินทร์ 111 แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กทม. ที่เป็นบ้านพักอาศัยของผู้ฟ้องและครอบครัว และที่ดินซึ่งเป็นบ้านพักคนงานรวมถึงซึ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้านทั้ง 2 หลัง

รวมทั้งบัญชีเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยในธนาคารกรุงเทพ สาขาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคารเอ รวม 9 บัญชีไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

นั่นคือความเห็นของเสียงข้างน้อย ส่วนเสียงข้างมาก ทำให้กระทรวงคลังดำเนินการยึดทรัพย์ต่อไปได้

การปฏิบัติจริงจะเป็นอย่างไร ต้องติดตาม