“แรงงานต่างชาติ” พลังสำคัญในการเปิดเมืองไทยอีกครั้ง แต่จะป้องกันระเบิดโควิดอย่างไร

ผ่านวันแรงงานสากลไปหนึ่งสัปดาห์แล้วนะครับ สมัยก่อนที่เรียกกันว่า “สากล” มีความหมายเพียงการมีอยู่ในทุก ๆ ประเทศ แต่สมัยนี้น่าจะใช้คำว่าแรงงานโลก หรือ Global labour แทน เพราะแรงงานข้ามชาติเดินทางไปทั่วโลก ไม่ใช่บ้านใครบ้านมันอีกต่อไป

คงเห็นกันทั่วไปแล้วว่าไทยเราเอง ถ้าไม่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามา ประเทศไทยจะอยู่ไม่ได้เอา ชีวิตของชนชั้นกลางที่สะดวกสบายได้ทุกวันนี้ก็เพราะประเทศเราดูดซับเอาแรงงานข้ามชาติมาทำงานที่คนไทยไม่อยากทำ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ และ การดูแลบ้านช่องห้องหับ คนเหล่านี้มาทำงาน ต้องกินต้องใช้ จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับเรา จึงมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยพลังบริโภคของเขา

และแล้ววันร้ายคืนร้ายก็มาถึง เมื่อโควิดทำให้เราต้องปิดเมือง ธุรกิจรายย่อยถูกโควิดทำลาย อุตสาหกรรมหลายอย่างโดยเฉพาะ SME ก็มีปัญหาเรื่องห่วงโซ่อุปทาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติต่างก็ตกงานกันหมด ก่อนปิดเมืองแรงงานต่างชาติเร่งรีบกลับบ้าน

ทั้งนี้เพราะในขณะที่แรงงานยังมีระบบประกันสังคมและงบประมาณอื่น ๆ ของรัฐเป็นตาข่ายรองรับการตกอับอย่างฉับพลัน (safety net for sudden down fall) แรงงานต่างชาติไม่มีใครช่วยได้

 

ณ วันนี้ เราเหลือเพียงจังหวัดชายแดนใต้เท่านั้นที่ยังมีโควิดคอยเป็นหนามชีวิตอยู่ เมื่อคุณหมอและสาธารณสุขช่วยกันบ่งหนามออกได้ในไม่กี่วันข้างหน้า เราก็จะถึงเวลาเปิดเมือง มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง เราจะดำเนินกิจกรรมเหล่านี้โดยไม่มีแรงงานต่างชาติได้ไหมครับ ผมเชื่อว่าคนไทยแต่ละกลุ่มมีความเห็นต่างกัน

กลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับผลกระทบเลย คือ กลุ่มที่แรงงานต่างชาติไม่ได้กลับบ้าน ได้แก่ การจ้างงานบ้าน และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หน่อยที่ไม่มีปัญหาเรื่องขาดออเดอร์ คนไทยกลุ่มนี้น่าจะไม่ออกความเห็น

กลุ่มที่สองที่น่าจะต้องการแรงงานต่างชาติมาก คือ ธุรกิจบริการและอุตสาหกรรมขนาดเล็ก SME ที่ใช้แรงงานเป็นหลัก (labour intensive) ซึ่งต้องปิดตัวไปในระยะหนึ่ง ถ้าไม่มีแรงงานต่างชาติก็ไม่สามารถฟื้นตัวได้ รัฐบาลต้องการส่งเสริม SME เพื่อสร้างการกระจายรายได้ เสียงของ SME จึงเป็นเสียงที่ต้องรับฟัง
กลุ่มที่สาม คือ แรงงานไทยทีอาจจะมองว่าแรงงานต่างชาติเป็นคู่แข่ง และ กลุ่ม xenophobia (แปลว่าไม่ชอบกลุ่มคนที่ไม่เหมือนตัวเอง) รังเกียจเดียจฉันท์และกลัวแรงงานต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันน่าจะมีน้อยลง

รวม ๆ แล้ว น่าเป็นไปได้ว่าเราอยู่กันลำบากหน่อย ถ้าแรงงานต่างชาติไม่กลับมา อุปสงค์ต่อแรงงานต่างชาติจึงน่าจะสูงมาก

มองจากมุมมองอื่น ๆ บ้าง นอกจากมีแรงดึงจากภายในหรืออุปสงค์แล้ว แรงผลักจากความยากจนของประเทศเพื่อนบ้านหรืออุปทานก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

 

เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็เหมือนเปิดแสงสว่างในบ้านตอนกลางคืนต้นฤดูฝน หลังผ่านความแห้งแล้งอันยาวนานมาใหม่ ๆ แมลงเม่าทั้งหลายที่พักตัวสร้างปีกก็ถึงเวลาบินเข้าหาแสงไฟในบ้านที่ชื่อว่าประเทศไทย ไม่ว่าเจ้าบ้านจะปิดประตูหน้าต่างอย่างไรก็กันสัญชาติญาณของแมลงเม่าไม่อยู่

ศึกทิศโควิดด้านทิศใต้ยังไม่สิ้นสุดนะครับ เรายังรับคนไทยกลับบ้านได้เพียงเล็กน้อยด้วยเหตุต่าง ๆ ที่เคยเล่ามาแล้ว ตอนนี้เรากำลังเปิดศึกชายแดนอีกหลายด้าน อัตราการผ่านแดนทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายของแรงต่างชาติเข้าไทยเข้ามาตามรูพรุนตามชายแดนนับพันกิโลเมตร สูงกว่าอัตราการกลับเข้าประเทศของคนไทยทางมาเลเซียแน่นอน

เราอยากรับแรงงานต่างชาติเข้า เขาอยากมาทำงานหาเงิน ผลประโยชน์สอดคล้องกัน แต่เราน่าจะยังไม่มีวิธีรับมือกับโควิดที่อาจจะมาพร้อมกับแรงงานต่างชาติ

เปลี่ยนฉากจากยะลาที่มีผู้รับเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ และ สถานกักกันผู้หลบหนีเข้าเมืองที่อำเภอสะเดาจังหวัดสงขลา ไปเป็นฉากที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ตอนสภาพเศรษฐกิจปกติ มีแรงงานข้ามแดนอย่างถูกกฎหมายวันละประมาณ 2,000 คน ในนี้ส่วนใหญ่เดินทางต่อทะลวงเข้าไปส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย ทั้งเมืองหลวง หัวเมือง และ ชนบท อีกส่วนหนึ่งทำงานในตัวเมืองแม่สอด ทั้งกับอุตสาหกรรมใหญ่ (โรงงานสิ่งทอ) และธุรกิจ อุตสาหกรรม SME ก่อนรัฐบาลประกาศปิดพรมแดน มีแรงงานนับหมื่นทะยอยกลับจากส่วนต่าง ๆ ของประเทศผ่านด่านนี้ อีกส่วนหนึ่งกลับตามเส้นทางธรรมชาติ

 

ตอนนี้ถึงเวลาที่ไทยจะเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว แม่สอดเป็นเสมือนรูแคบ ๆ ที่แมลงเม่าต้องบินออกมาหาแสงไฟ การคัดกรองโรคและการกักตัวสำหรับแรงงานจำนวนมากขนาดนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้

โชคดีไปอย่างครับ ที่สถานการณ์โควิดในพม่า ไม่เลวร้ายเท่าในมาเลเซีย สัดส่วนของผู้เดินทางทางพรมแดนพม่าที่มีเชื้อโควิดน่าจะต่ำกว่าทางมาเลเซียมาก ตัวเมืองแม่สอดเองก็มีโควิดในช่วงที่ผ่านมาสองราย เป็นชาวต่างชาติที่เข้าไทยทางสุวรรณภูมิทั้งคู่ ไม่ปรากฎว่ามีการแพร่เชื้อในพื้นที่ แต่อย่าลืมว่ามีคนเข้าทางแม่สอดมากกว่าทางภาคใต้หลายเท่า สถานการณ์จึงอาจจะไม่ปลอดภัย แม่สอดเป็นเส้นทางผ่านเข้าออกระหว่างไทยกับพม่าที่มีผู้เดินทางผ่านมากที่สุด แม่สอดมีสนามบินโดยตรงจากสุวรรณภูมิ และเป็นจุดผ่านแดนที่ใกล้กรุงย่างกุ้งเขตระบาดโควิดของพม่ามากที่สุด และน่าจะเป็นจุดผ่านที่สำคัญของกระบวนการค้ามนุษย์นานาชาติด้วย

ขอกระซิบว่าลองติดตามข่าวใหม่เรื่องโรฮินญาที่แม่สอดสองสามวันนี้ดูนะครับ กว่าจะเดินทางจากอาราข่านหรือรัฐยะไข่ของพม่า ข้ามประเทศมาทางตะวันออกเพื่อเข้าไทย โดยหวังจะต่อไปมาเลเซีย ทำไมเขาต้องเสี่ยงขนาดนี้ เขามากันได้อย่างไร กระบวนการค้ามนุษย์เป็นอย่างไร

 

พอพูดเรื่องนี้นิดเดียวก็มีการผรุสวาททางชาติพันธุ์ขึ้นมา ระวังให้ดีนะครับ ประเทศซีเรียเมืองเลบานอนก็เคยรุ่งเรืองสวยงามมาก่อน ภายในไม่กี่เดือนชาวซีเรียสองล้านคนที่เคยอยู่สบายในบ้านของตนก็ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย หนีตายไปให้เขาโขกสับในยุโรป ประเทศไทยก็อย่าได้ประมาทนะครับ ถ้าเราเป็นเหมือนซีเรียเราจะรู้สึกอย่างไร ที่เราไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็ดีแล้ว ควรมองดูผู้ลี้ภัยด้วยใจเมตตาด้วย

สิ่งที่น่ากลัวมาก ๆ ไม่ใช่การเดินทางเข้า ไม่ใช่การค้ามนุษย์ แต่เป็นปัญหาการกักตัวและสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติ ทั้งที่ยังคงอยู่ในเมืองไทยและที่กำลังจะกลับเข้ามาใหม่

ความเสี่ยงที่สำคัญ คือ สภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ง่ายต่อการแพร่โรค สิงคโปร์ซึ่งมีรายได้ต่อหัวประชากรมากกว่าไทย 9 เท่าก็ยังแก้ไม่ได้ โควิดระบาดหนัก ไทยเราจะแก้จุดอ่อนนี้ได้หรือ หรือเพียงแต่รอเวลาให้ระเบิดทำงานเท่านั้น

เมื่อแรงงานต่างชาติเข้าเมืองทำงานอย่างถูกกฎหมายเกิดป่วยเป็นโรคโควิด เขาก็ต้องมีสิทธิรับการรักษาเท่าเทียมกับคนไทย โดยใช้เงินประกันแรงงานต่างชาติ เงินส่วนนี้อาจจะนำมาใช้ในการรักษาพยาบาลได้ถ้ามีผู้ป่วยไม่มาก แต่ดังที่เคยคุยแล้วว่า โควิดเป็นโรคระบาด ถ้ามีผู้ป่วยเพียงรายเดียวในที่แออัดก็จะมีการติดเชื้อทั้งกลุ่ม ยิ่งกลุ่มใหญ่และแออัดขึ้นเท่าไร ระเบิดโควิดที่จุดติดแล้วก็จะส่งผลทางเศรษฐกิจมากขึ้นเท่านั้น

แรงงานต่างชาติเหมือนเชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่การมีเชื้อเพลิงในบ้านโดยไม่สามารถจัดการให้ดี ก็จะทำให้ไฟโควิดไหม้บ้านได้ด้วยประกายไฟหรือคนนำเชื้อเข้ามาเพียงนิดเดียว ปัญหาแรงงานต่างชาติ จึงเป็นปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกจริง ๆ

ขอจบบทความที่ค่อนข้างยาวและหนักด้วยความเห็นทิ้งท้ายดังนี้ครับ

ที่ผ่านมากเราจัดการแต่ละจังหวัดแต่ละจังหวัดเหมือนบ้านใครบ้านมัน แต่ความจิรงแล้วบ้านของเราอยู่ชิดกันมาก เป็นห้องแถวไม้ที่น้ำมันไหลนองถึงกัน เมื่อจังหวัดชายแดนจะตัดสินใจนำเชื้อเพลิงเข้าเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ น่าจะต้องคุยกันทั้งตลาดนะครับ ไฟไหม้จากการเปิดเศรษฐกิจโดยไม่ระมัดระวังเพียงบ้านเดียว อาจจะลามไปไหม้หมดตลาดก็ได้