เกาให้ถูกที่คัน

ทุกวันนี้มีผู้อยากบริจาคเงินช่วยนักรบเสื้อกราวน์ในโรงพยาบาล เป็นเงินทองบ้าง เป็นสิ่งของเช่นชุดป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรที่เรียกว่า PPE บ้าง ถ้าเป็นเมกาก็ต้องบริจาค เครื่องช่วยหายใจ เพราะไม่พอใช้

การบริจาคเหล่านั้นมีประโยชน์ครับ ถ้าโรงพยาบาลมีผู้ป่วยมาก แต่ถ้าผู้ป่วยมากจนล้นมือ มีเครื่องมือเหล่านั้นถึงจะมีมากขึ้นล้นพอก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก แพทย์ต้องทำงานหนัก มีสภาพหอผู้ป่วยและที่ทำงานที่คนเยอะ การติดเชื้อในโรงพยาบาลก็จะเพิ่มขึ้น ระบบที่ล้มไปแล้วแก้กลับให้ฟื้นยาก

เงินบริจาคที่ผมคิดว่าจำเป็นมากและคนยังคิดไม่ถึง คือ บริจาคสำหรับทำงานป้องกันและควบคุมไม่ให้โรคแพร่กระจายในชุมชน ประเทศไทยปริ่ม ๆ ว่าจะเปิดประเทศได้แล้ว ถ้าเราร่วมกันช่วยเสริมการป้องกันและควบคุมโรค เราก็จะคุมโควิดได้ในระดับที่ไม่เป็นภาระกับคุณหมอในโรงพยาบาลมากเกินไป ที่สำคัญสำหรับท่านทั้งหลายนะครับ คือ ถ้าไม่มีผู้ป่วยใหม่ไปซักพักนึง รัฐบาลจะปิดประเทศไปทำไมละครับ ไม่ว่าทีมไหนจะเป็นที่ปรึกษานายก ก็ต้องแนะนำแบบเดียวกันทั้งนั้น เราท่านทั้งหลายจะได้ออกจากกระดองเต่า โผล่หัวไปรับแสงตะวันกันซักที

การป้องกันโรคมีจุดอ่อนที่ไหนในเชิงภูมิศาสตร์ประเทศไทย? ส่วนหนึ่ง คือ เมืองของการท่องเที่ยว กามาสุขัลลิการนุโยค อีกส่วนคือพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งเป็นจุดอ่อนของปัญหาสาธารณสุขทุกปัญหา

ทศวรรษที่เริ่มต้นด้วย พ.ศ. 2547 ประเทศไทยได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ละปีรัฐบาลจะต้องอัดฉีดเงินเข้าพื้นที่ไปนับแสนล้าน ทั้งด้านการทหาร ข่าวกรองและการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าชายแดนใต้ไม่เรียบร้อย ย่อมส่งผลต่อประเทศไทยโดยรวม

ศึกโควิดในประเทศไทยมาสองทางใหญ่ คือ กิจกรรมของคนเมือง และ การเดินทางติดต่อกับประเทศที่มีการแพร่โรค รัฐบาลจัดการกิจกรรมคนเมืองและปิดน่านฟ้าไปเรียบร้อยโรงเรียนจีน (ทำเหมือนเมืองจีน) แต่ขายแดนใต้ยังคงเป็นจุดอ่อนหรือ Achilles’heel สำหรับประเทศไทย

ขอออกนอกเรื่องนิดนึง สำหรับคนที่ไม่รู้ Achilles อยู่ในมหากาพย์อีเลียดของกรีก ตอนแรกเกิดมีคำทำนายว่าจะต้องตายตั้งแต่อายุยังน้อย แม่จึงเอาทำพิธีสร้างความคงกระพันชาตรี ทำให้ฆ่าไม่ตาย แต่ทำไม่เสร็จสมบูรณ์ ส่วนตรงเอ็นรอยหวายไม่โดนชุบ เมื่อโตขึ้นมา Achilles ออกรบมีชัยโดยตลอด จนกระทั่งยกสุดท้ายโดนสไนเปอร์ของฝ่ายข้าศึกใช้ธนูยิงอาบยาพิษเข้าจุดส้นเท้าเลยต้องตาย

เรามีจุดอ่อน แต่เราก็มีความเข้มแข็ง ระบบสาธารณสุขของเราในชายแดนใต้มีทีมดี ๆ อยู่หลายทีม เมื่อวานพูดถึงกลุ่มสงขลาที่ไปค้นพบ pocket ของผู้ติดเชื้อในศูนย์กักตัวผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย วันนี้จะพูดถึงอีกทีมยะลาที่เข้าหมู่บ้านไข่แดงของโควิด ตรวจหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมได้ผลน่าประทับใจเช่นกัน

จังหวัดยะลาเป็นหนึ่งในจังหวัดต้น ๆ ที่มีโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งโดยโควิดขวิด รพ. กระจุย มีผู้ป่วยนำเชื้อเข้ามาโดยเจ้าหน้าที่ไม่รู้ตัว ยังผลให้เจ้าหน้าที่นับสิบต้องโดนกักตัว ตอนนี้พ้นเขต 14 วันแล้ว โชคดีที่ไม่มีใครเป็นอะไรมาก จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อต่อประชากรมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศ ขณะนี้ทีมสาธารณสุขยะลาตั้งตัวได้จึงต้อง”เอาคืน”

จากการสอบสวนโรคจากผู้ป่วย ได้เบาะแสว่ามีผู้สัมผัสโรคอยู่ในชุมชนหลายแห่ง ทางสาธารณสุขจึงขอความร่วมมือกับฝ่ายปกครองสั่งกำนันผู้ใหญ่บ้านอำนวยความสะดวกให้ทีมสอบสวนโรคเข้าไปลุย ตรวจประชากรกลุ่มเสี่ยงนี้ไปราว 2800 คน พบเชื้อ 16 คน หรือราว 7.5 รายต่อประชากรที่ตรวจ 1,000 ราย และขณะนี้ยังกำลังดำเนินการตรวจต่อไป

นี่แหละครับ จุดคันของประเทศไทย ทีมงานเกาได้ถูกที่คันตรงเผงเลย 7.5 ต่อพันนับว่าไม่น้อยนะครับ ตัวเลข 16 คนที่เพิ่มในกระดานของ ศบค. คงจะทำให้คนหลายคนหงุดหงิดนิดหน่อย เมื่อไหร่จะต่ำสิบซะที หมอขยันอย่างนี้เราเลยไม่ได้เปิดเมืองกัน

วิทยาศาสตร์ หรือ ความจริง ต้องมาก่อนความปรารถนาครับ ทีมสอบสวนโรคยะลาให้ความจริงของแผ่นดินไทยว่าเรายังมี pocket ของผู้ติดเชื้ออยู่โดยเฉพาะในชายแดนใต้ ประมาทไม่ได้เลย การพบและเชิญผู้ติดเชื้อเหล่านี้ออกไปกักตัว ช่วยลดการแพร่กระจายโรค และ ทำให้ปราถนาของพวกเราที่จะเห็นโควิดหมดไป และ เราเปิดเมืองได้เข้าใกล้ความจริงมากขึ้น

งานในพื้นที่ชายแดนใต้โดยเฉพาะที่ยะลาเป็นงานยากลำบากมากครับ ประชาชนมีการศึกษาน้อย ชีวิตความเป็นอยู่ลำบาก ยากจน ความเข้าใจระหว่างคนชนบทที่นั่นกับคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศยังเป็นปัญหาอีกนาน การที่ทีมคุณหมอออกไปสอบสวนโรคในพื้นที่ไข่แดงได้ผลดีขนาดนี้ ควรได้รับการชมเชยยิ่ง

วันนี้ผมไม่ได้เขียนเชียร์ลูกศิษย์ของผมอย่างเดียว ผมมีความประสงค์อย่างอื่นอยู่ด้วย

กลับมาที่เรื่องการบริจาคเงินเพื่อสู้โควิด ผมเห็นว่าผู้บริจาคส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ว่าเขาสามารถบริจาคสนับสนุนงานในแนวหน้าได้ และเงินบริจาคเพื่อกิจกรรมป้องกันได้กุศลและคุ้มค่ามากกว่าการบริจาคเพื่อรักษาพยาบาล โปรดมองข้ามชอร์ตไปด้วยกัน

เจ้าหน้าที่สอบสวนโรคในชายแดน ทำงานเสี่ยงภัยทั้งโควิดและความมั่นคง ที่ผ่านมาเขาทำงานกลางวัน นับแต่วันนี้ไปเขาต้องทำงานกลางคืนเนื่องจากเข้าเทศกาลรอมมาฎอนแล้ว พี่น้องมุสลิมต้องพักผ่อนในกลางวัน มีกิจกรรมได้ในตอนกลางคืน

เบี้ยเลี้ยงค่าเดินทางของทีมสอบสวนโรคได้ตามระเบียบราชการ ถึงไม่มาก แต่ก็ช่วยพยุงรายได้ของครอบครัวให้พออยู่ได้ในช่วงเศรษฐกิจโควิดนี้

อ้าวแล้วจะให้บริจาคอะไร? ถ้าไม่มีเวลาอ่าน อยากจะจ่ายเงินอย่างเดียวก็ข้ามไปดูตอนท้ายบทความเลยก็ได้ เวลาเป็นของมีค่า แต่ความรู้ที่ถูกต้องมีค่ามากกว่าเวลาอันเร่งรีบนะครับ

ทุกวันนี้มีคนแจ้งความจำนงกับผมว่าต้องการบริจาค rapid test ทั้งที่ซื้อจากบริษัทและจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทีผลิตออกมา แต่ขอโทษที่ผมต้องทำให้ท่านผิดหวัง

ข้อความข้างบนบางตอนบอกแล้วว่า วิทยาศาสตร์มาก่อนความปรารถนา การวิเคราะห์ด้วยหลักระบาดวิทยา (ซึ่งเป็นแกนกลางของวิทยาศาสตร์สาธารณสุข) สรุปได้ว่า rapid test มีความไวไม่พอที่จะตรวจพบผู้ติดเชื้อในระยะต้น ๆ ที่แพร่โรคได้ rapid test ซึ่งเป็นผลลบปลอม ถ้าเราใช้วิธีนี้ในจังหวัดยะลาที่ยกตัวอย่างมา คนที่มีโรคโควิดในชุมชนทั้ง 16 คน จะพบเชื้อเพียง 12 คน อีกสี่คนลอยนวลแพร่เชื้อต่อ ถ้าอยากให้ประเทศไทยกลับสู่ปรกติเร็ว ๆ ก็อย่าปล่อยให้ผู้แพร่เชื้อลอยนวลนะครับ

Rapid test ยังให้ผลบวกปลอม คนที่ rapid test ให้ผลบวกอาจจะไม่ได้กำลังแพร่เชื้อ เพราะ แอนตี้บอดี้อาจจะมาจากเชื้อตัวอื่นที่คล้ายกัน พวกนี้ก็เลยต้องถูกจับตัวแยกไปอยู่กับคนที่ติดเชื้อจริง และกลายเป็นผู้ติดเชื้อจริงในที่สุด

ขอต่อเรื่องแอนตี้บอดี้อีกนิดก่อนที่จะพูดว่าควรบริจาคเงินเพื่อซื้ออะไร แอนตี้บอดี้ที่ตรวจพบด้วย rapid test เป็นลายเซ็นต์ของเชื้อว่ามาเช็คอินในคน ๆ นี้แล้ว ไม่ได้บอกว่าคนนี้มีภูมิต้านทานสู้เชื้อโรคได้แล้วนะครับ ในยุโรปหลาย ๆ ประเทศ บอกว่าจะตรวจ rapid test แล้วออก “Immunity Passport” หรือพลาสปอรต์สำหรับคนที่มีแอนตี้บอดี้ที่ระบุว่าคุณไม่ติดเชื้ออีกแล้วเพราะคุณมีแอนตี้บอดี้แล้วคุณพร้อมแล้วที่จะลุยอะไรก็ได้เกี่ยวกับโควิด ที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้

องค์การอนามัยโลกได้ยินถึงผงะ ออกแถลงการณ์สองเรื่องติดต่อกันภายในไม่กี่วัน เรื่องแรก คือ ไม่ให้ใช้ rapid test สำหรับคัดกรองและตรวจวินิจฉัย เรื่องที่สองคือให้เลิกล้มความคิดเรื่องการออก immunity passport ซะ เพราะเป็น false security ทำให้คนที่แอนตี้บอดี้แต่ไม่มีภูมิคุ้มกันต้องติดโรคและป่วยมากขึ้น

เราอาจจะสงสัยว่าแล้วที่สภากาชาดไทย ขอให้คนติดเชื้อและหายแล้วไปบริจาคพลาสม่าเพื่อเอาไว้ช่วยคนป่วยจากเชื้อโควิด อันนั้นเป็นงานวิจัยครับ ความคิดว่าเอาซีรั่มของคนที่หายป่วยไปรักษาคนป่วยเป็นความคิดที่มีมาหลังการค้นพบเรื่องภูมิคุ้มกันโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ยุโรป รุ่น ๆ หลุย ปาสเตอร์ เมื่อราวร้อยปีที่แล้ว เราอาจจะได้ยินชื่อ Pasteur Institute ซึ่งเป็นสถาบันใหญ่วิจัยเรื่องไวรัส และ วัคซีน ข้าง ๆ บ้านเราก็มีเวียดนาม กัมพูชา และ ลาว ที่รัฐบาลฝรั่งเศสไปตั้ง Pasteur Institute เพื่อให้เห็นความยิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ของฝรั่งเศส (หลุย ปาสเตอร์) ประเทศที่ไม่ได้อยู่ใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส ไม่มีสถาบันแบบนี้ ในยุโรป ประเทศส่วนใหญ่เขาจะตั้ง Institute of Serology ทำงานแบบนี้ ประเทศไทย สภากาชาดไทยในส่วนที่ไม่ใช่งานบรรเทาทุกข์ ก็ถือได้ว่าเป็น Institute of Serology เหมือนกัน “sero” ก็คือ ซีรั่ม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของพลาสม่า สมัยก่อนสภากาชาดมีสวนงู เอาพิษงูไปฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันในม้า แล้วเอาซีรั่มของม้าสกัดออกมาเอาไว้รักษาคนที่ถูกงูกัด

ในวิทยานิพนธ์ของกรมหลวงสงขลานครินทร์ สมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วารด์ พระองค์ท่านก็ศึกษาวิจัยการใช้ซีรั่มในการรักษาโรคหัด รายงานเก็บอยู่ที่ห้องสมุดโรงพยาบาลศิริราช

ปัจจุบันเราคงไม่ได้ใช้ซีรั่มสด ๆ อีกต่อไปแล้ว มีวิธีสกัดเอาส่วนที่มีแอนตี้บอดี้มาก ๆ เรียกว่า immunoglobulin ออกไป รักษาโรคต่าง ๆ อยู่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่เอาไปจับพิษของเชื้อโรค (ไม่ใช่ตัวเชื้อโรคนะครับ) ไม่ให้พิษนี้ไปทำร้ายร่างกาย เช่น บาดทะยัก และโรคต่าง ๆ อีกหลายโรค เราช่วยกันเชียร์และสนับสนุนงานวิจัยของสภากาชาดนะครับว่าจะได้ผลจริงไหม

การวัดแอนตี้บอดี้ในร่างกายว่าสามารถฆ่าเชื้อไวรัสเป็น ๆ ได้จริงหรือเปล่า เรียกว่า neutralizing antibody test สำหรับโควิดซึ่งเป็นเชื้ออันตรายมาก ต้องทำการทดลองในห้องที่มีระดับความปลอดภัยทางชีววิทยา (bio-safety) สูงเป็นพิเศษ ซึ่งในเมืองไทยมีไม่กี่แห่ง ผมยังไม่เคยได้ข่าวว่ามีแห่งไหนที่จะทำเรื่องนี้

กลับมาเข้าเรื่องบริจาคนะครับ ผมสนับสนุนให้ท่านช่วยกันบริจาค PPE และอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับโรงพยาบาลเพื่อรับรักษาผู้ป่วยโควิดต่อไป แต่ไม่สนับสนุนให้บริจาคโดยการซื้อ rapid test ไปตรวจคนกลุ่มใดในขณะนี้ ด้วยเหตุที่เรายังมี test ที่องค์การอนามัยโลกยอมรับ คือ RT-PCR จากเงินภาษีอากรของเราเองที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จัดหา เพียงพอนับแสนชุด แต่ละวัน ทั่วประเทศไทยมีความสามารถตรวจผู้ป่วยรวมกันได้ราว 20,000 คน การตรวจแบบนี้เป็นการตรวจมาตรฐานที่เราใช้ในการติดตามสถานการณ์ของโรคได้แม่นยำ ถ้าโรงพยาบาลทั้งหลายได้รับบริจาค rapid test แล้วหันไปใช้แทน RT-PCR เราจะไม่รู้เลยว่าสถานการณ์โรคเป็นอย่างไร

การบริจาคที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (ระบาดวิทยา) จะได้ทั้งกุศลไปภพหน้า และ ได้ผลทำให้โควิดลดลงในเวลาอันใกล้ของภพนี้

ที่จังหวัดยะลาครับ ทีมสอบสวนโรคขยันมาก ออกทำงานทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างที่ว่า เก็บตัวอย่างจากผู้สัมผัสมามากมาย จุดคอขวดคือการตรวจทางห้องปฏิบัติการครับ วิธีการตรวจ RT-PCR ช้าอยู่ที่การสกัด RNA หรือสารพันธุกรรมของเชื้อ (ตัวนี้เป็นไวรัสที่มีรหัสพันธุกรรมเป็น RNA ไม่ใช่ DNA) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วสิ่งส่งตรวจไปกองรวมกันอยู่ในตู้เย็นจนเต็มเพราะตรวจไม่ทัน สัปดาห์นี้ดีขึ้น เพราะทางห้องแล็บโรงพยาบาลยะลาได้แปะโป้ง สั่งซื้อเครื่องสกัด RNA มาใช้ ชั่วโมงนึงสกัดได้ 24 ราย ช่วยได้เคลียร์ดินพอกหางหมู (backlog) ได้มาก เมื่อได้ผลการตรวจเร็ว ทีมงานภาคสนามก็มีเป้าว่าจะไปสอบสวนโรค ณ จุดไหนต่อ เป็นการล็อคเป้าสนธิกำลังยิงขีปนาวุธไปที่แหล่งไข่แดงของโควิดอย่างรวดเร็วและพลาดเป้าน้อย

ผมถามผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว เครื่องสกัด RNA เครื่องละราว 800,000 บาท ซึ่งโรงพยาบาลต้องจัดซื้อและไปหาวิธีซิกแซ็กเอาเงินหมวดอื่นมาใช้ ซึ่งก็เสี่ยงกับการโดน สตง เล่นงาน ถ้าพวกเราช่วยกันคนละไม้คนละมือบริจาคเงินให้โรงพยาบาลทำให้ไม่ต้องลำบาก ทีมงานทางจังหวัดยะลาจะได้มีกำลังใจว่าถึงแม้อยู่สุดปลายด้ามขวานก็ไม่ได้ถูกทอดทิ้ง เงินที่ท่านบริจาคจะเป็นกำลังใจเสริมกำลังกายของทีมงานจังหวัดยะลา ให้เร่งทำงานรวดเร็วยิ่งขึ้น

ผมบอกตำแหน่งที่คันจากโควิดแน่นอนแล้วนะครับ ช่วยกันเกาหน่อย

บริจาคได้ที่ ชื่อบัญชี “เงินบริจาคโรงพยาบาลยะลา” ธนาคารกรุงไทย สาขาสิโรรส อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
หมายเลขบัญชี 932-0-83082-7

เงินบริจาคหักภาษีได้นะครับ ขอใบเสร็จรับเงินได้จาก รพ. ยะลา โทร 073 244 712