เพื่อไทย ถามหา “มารยาท” จาก “ประยุทธ์” หลังลงพื้นที่ถี่ ข้องใจฝืนกฎเหล็ก กกต.หรือไม่ ?

เพื่อไทย ชี้ ประยุทธ์ ลงพื้นที่ถี่ ฝืนกฎเหล็ก กกต.หรือไม่ หวั่นใช้ทรัพยากรของรัฐเอาเปรียบทางการเมือง แนะควรมีมารยาททางการเมือง

วันที่ 5 ม.ค.2566 น.ส.ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เตรียมลงพื้นที่ร่วมกับรัฐมนตรีหลายกระทรวง ที่จ.สิงห์บุรี ในวันที่ 6 ม.ค.นี้ว่า คาดว่านายกฯคงจะลงพื้นที่ถี่ยิบก่อนยุบสภา ซึ่งกฎเหล็กของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีรายละเอียดชัดเจนว่า ห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ต่างๆ เช่น การมอบสิ่งของช่วยเหลืออุทกภัย ทำให้ช่วงน้ำท่วมปีที่ผ่านมา ส.ส.และสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้าน ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนไม่ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความสงสัยให้กับสังคมว่า กฎหมายเลือกตั้งที่มีขึ้นในยุค คสช. สร้างความไม่เท่าเทียมทางการเมืองหรือไม่ การที่พล.อ.ประยุทธ์ สามารถใช้ทรัพยากรของรัฐ ทั้งรถยนต์ เครื่องบิน ไปพบปะผู้ว่าฯ ใช้งบประมาณหรือกระทำการอื่นใด ที่อาจจะสร้างความได้เปรียบทางการเมือง ซึ่งดูเหมือนว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะไม่สำนึก และยังคงเดินหน้าทำต่อไป ยืนยันได้จากการแต่งตั้งหัวหน้าพรรคที่พล.อ.ประยุทธ์จะไปสังกัด เป็นเลขาธิการนายกฯ ซึ่งคนเขาเคลือบแคลงสงสัยว่าขัดมารยาททางการเมือง

นอกจากนั้นการที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯพรรคพลังประชารัฐ แต่ยังไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ หลายเรื่องเช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ 425 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรี 20,000 บาทต่อเดือน แต่เตรียมเปิดตัวจะเป็นแคนดิเดตนายกฯพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องผิดมารยาททางการเมืองเป็นอย่างมาก กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาที่จะแสดงให้เห็นว่า ในจิตใจของผู้นำประเทศ มีความสำนึกหรือละอายทางการเมืองหรือไม่

ทั้งนี้ ระหว่างที่มีกฎเหล็ก กกต. 180 วัน พล.อ.ประยุทธ์ควรมีมารยาททางการเมือง ไม่ควรริเริ่มโครงการขนาดใหญ่ในตอนนี้ที่จะสร้างภาระงบประมาณให้รัฐบาลหน้า ไม่โยกย้ายข้าราชการ เพื่อจัดวางคนสร้างความได้เปรียบทางการเมือง และควรระมัดระวังในการใช้จ่ายงบกลางในช่วงใกล้สิ้นสุดรัฐบาล

น.ส.ชญาภา กล่าวต่อว่า หากประเมินความพร้อมของพรรคตั้งใหม่ ไม่ได้มีบิ๊กเนม มีแต่โอลด์เนม (Old name) เข้าไปสมทบ ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่ประชาชนจะยอมรับ เพราะจากผลสำรวจครั้งแล้วครั้งเล่า นิด้าโพลครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธ.ค. 2565 พบว่า บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ในวันนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 34 คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ ได้เพียงร้อยละ 14.05 คะแนนนิยมดังกล่าวเป็นเหตุผลที่พล.อ.ประยุทธ์ เร่งลงพื้นที่หรือไม่ อยู่มา 8 ปี ไม่ค่อยลงพื้นที่ถี่เหมือนตอนนี้ และผลงานไม่โดดเด่นจึงได้คะแนนความนิยมน้อยขนาดนี้

“เหลือเวลาอีก 2 เดือนกว่า ที่จะหมดอายุสภา และพล.อ.ประยุทธ์ คงลากยาวให้นานที่สุด แต่คงยากที่จะสร้างคะแนนเพิ่มขึ้นมาได้ตามกฎโน้มถ่วงทางการเมือง และจากการลงพื้นที่รับฟังปัญหา พูดคุยกับประชาชน ซึ่งชีวิตลำบากมากจากปัญหาเศรษฐกิจ พวกเขาต่างเชื่อมั่นว่า พรรคเพื่อไทยจะเข้ามาแก้ปัญหาความทุกข์ยาก คืนชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพวกเขาได้” น.ส.ชญาภา กล่าว