คลังแสง ‘สุทิน’ แก้ กม.กลาโหม สกัด ‘ปฏิวัติ’

รู้กันมาสักระยะหนึ่งแล้วว่าจะต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว แม้ตัวนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน จะยืนกรานปฏิเสธมาอย่างต่อเนื่อง

ไม่ต้องเป็นคอการเมือง ก็จะเห็นว่ามันเป็นความจำเป็นเชิง “โครงสร้าง”

เป็นเวลา 7 เดือนแล้วที่รัฐมนตรีแต่ละคนได้ทำงานดำเนินตามนโยบายที่หาเสียงไว้ เมื่อผ่านมาเกินครึ่งปี ก็ถึงจุดที่ต้องประเมินผลงาน

ยิ่งเป็นรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้บารมีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่มีสถิติการปรับคณะรัฐมนตรีโดยเฉลี่ยคือ ทุก 5 เดือน พร้อมๆ กับบริบททางการเมืองช่วงหลังตั้งรัฐบาลที่ผ่านมา กระแสนิยมพรรคเพื่อไทยดิ่งลงตามการสำรวจของ “โพล” ระดับมาตรฐานหลายสำนัก ยิ่งเป็นตัวเร่งสำคัญให้เกิด ครม.เศรษฐา 1/2

แต่ก็เป็นสถานการณ์การปรับ ครม.แบบที่เพื่อไทยไม่เคยเจอมาก่อน

 

แม้จะเป็นพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล มีเสียงมากที่สุด แต่ก็เป็นจำนวน ส.ส.เพียง 141 เสียง ทำให้เก้าอี้รัฐมนตรีในหลายกระทรวงตกเป็นของ “ขั้วอำนาจเก่า”

เมื่อทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการมี “มากกว่า” การแข่งขัน ต่อรอง วิ่งเต้น เบียดบัง ไปจนกระทั่ง “แย่งชิง” จึงเกิดขึ้น ตั้งแต่การตั้ง ครม.คราแรก และหนักขึ้นเรื่อยในการปรับ ครม.ครั้งนี้

กรณีการทวงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรคืนจาก นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แห่งพรรคประชาชาติ เพราะเป็นเก้าอี้โควต้าเพื่อไทย คือตัวอย่าง เพื่อหวังเอามาเป็นที่นั่งรองรับการตกเก้าอี้จากการปรับ ครม.ครั้งล่าสุด

แต่สุดท้ายก็พลาดจนต้องเดินเกมใหม่ เพราะนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ไม่ยอม ยื่นคำขาดเสียงแข็ง ตนมาจากสมาชิก ถูกเสนอชื่อเพียงคนเดียว ดังนั้น ใครก็มาเปลี่ยนไม่ได้ จะออกจากตำแหน่งก็เมื่อตนเองทำงานไม่ได้และขอลาออกเองเท่านั้น

ยิ่งเกิดกรณี “รายชื่อหลุด” ยิ่งทำให้การวิ่งเต้น เดินสายล็อบบี้ เข้าหาผู้ใหญ่ยิ่งเข้มข้น

ไม่ต้องแปลกใจกับกรณีรัฐมนตรีเพื่อไทยแห่ไปต้อนรับ รดน้ำดำหัวนายทักษิณที่เชียงใหม่วันสงกรานต์เกือบทั้ง ครม. จนเจ้าตัวแซว “มาครบองค์แล้ว ปรับ ครม.เลยไหม?”

สุดท้ายแล้วการปรับ ครม.ครั้งนี้ ก็คงจะไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ของตัว “นายกฯ” ได้อย่างเต็มที่ ด้วยสภาพ “การเมืองแบบไทยๆ” และความ “เกรงอกเกรงใจ”

 

ที่น่าสนใจคือเก้าอี้ “สนามไชย 1” ตลอดสัปดาห์ก่อนการเสนอชื่อปรับ ครม. เต็มไปด้วยข่าวลือ

ย้อนกลับไป ชื่อของ สุทิน คลังแสง สร้างความประหลาดใจอย่างมาก กับการต้องมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมใน ครม.เศรษฐา 1

เป็นที่รับรู้กันในการเมืองไทย ว่าตำแหน่งนี้จะเป็นตำแหน่งของทหาร หากจะเป็นพลเรือนมานั่งเก้าอี้นี้ก็เป็นการนั่ง “ควบ” ของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสมอ

แต่กระแสปฏิรูปการเมืองที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ก็เป็นอานิสงส์ในสถานการณ์ดีลข้ามขั้วตั้งรัฐบาล กับการส่งนายสุทินไปนั่งเก้าอี้นี้เพื่อภาพลักษณ์ที่ดี “พลเรือนนำทหาร” ตามหลักการประชาธิปไตยสากล

ก่อนหน้ารัฐบาลเศรษฐา นายสุทินมีภาพความเป็นนักประชาธิปไตย ต่อสู้กับรัฐบาลรัฐประหาร

ไม่ว่าจะเป็นบทบาทความเป็น “เสื้อแดง” หรือบทบาท ส.ส.อีสานในสภา โดดเด่นด้วยคำพูดคำจา บุคลิกการอภิปราย ลีลาที่ไม่มีใครเหมือน จนติดระดับดาวสภา

4 ปี ยุครัฐบาลก่อน สุทินคือตัวชูโรงของพรรคเพื่อไทยในการกล่าวปิดการซักฟอกหรืออภิปรายครั้งสำคัญ ด้วยความสามารถในการจับประเด็นและสรุปรวบยอดปัญหาการเมืองได้ดีแบบไม่ต้องใช้สไลด์ช่วย

แต่สถานการณ์การข้ามขั้วตั้งรัฐบาล เปลี่ยนนายสุทินจากหน้ามือเป็นหลังมือ

 

พรรคเพื่อไทยในภาวะจับมือกับขั้วอำนาจเก่า ทำให้วาระทางการทหารของพรรคเพื่อไทย อ่อนเบาลงมากเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน

นายสุทินในฐานะ รมว.กลาโหม รวมถึงนายเศรษฐา ประสานเสียงกันลดวาระ ไม่เรียก “ปฏิรูปกองทัพ” เปลี่ยนเป็น “พัฒนาร่วมกัน”

น้ำเสียงนโยบาย “ยกเลิกเกณฑ์ทหาร” ที่เคยพูดอย่างหนักแน่นทุกเวทีเลือกตั้ง หายไป เหลือแต่ดิจิทัลฟุตปรินต์ให้คนระลึกถึง เปลี่ยนเป็น “ลด” จำนวนการเกณฑ์ทหาร ซึ่งแผนการเดิมช่วงรัฐบาลประยุทธ์เขาก็ทำมาก่อนแล้ว

ท่าทีต่อ กอ.รมน. ในฐานะที่เคยถูกวิจารณ์อย่างหนักในความเป็น “รัฐซ้อนรัฐ” ก็เปลี่ยนเป็นไม่แตะต้อง กอ.รมน.

หรือจะเป็นเรื่องไอโอ ปฏิบัติการจิตวิทยาที่เกิดขึ้นจนมหาวิทยาลัยดังของสหรัฐออกรายงานวิจัยแฉจนเป็นข่าวดังทั่วโลก แต่นายสุทินกลับยืนยันว่าจำเป็นต้องทำ ระบุว่าเป็นไอโอที่ดี ไฟเขียวให้ทำต่อได้แบบสร้างสรรค์

การจัดซื้ออาวุธที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการประกาศจุดยืนการปฏิรูประบบการซื้ออาวุธที่ชัดเจน มีแต่หลักการสวยหรูที่ไม่เป็นรูปธรรม

เรื่องเรือดำน้ำของกองทัพเรือก็ยังคาราคาซัง ไม่ชัดในจุดยืนรัฐมนตรี รวมถึงกรณีเรือรบล่มที่จบแบบไม่จบ

เรื่องเครื่องบินของกองทัพอากาศก็ไม่มีจุดยืนของรัฐบาลไปถ่วงดุล ปล่อยให้ ทอ.คิดเอง

ซ้ำยังเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ตอบโต้พรรคก้าวไกลและนักวิชาการที่ออกมาตั้งคำถามกองทัพบ่อยครั้ง ตลอดระยะเวลาของรัฐบาลที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำภาพคนวิจารณ์ช่วงแรกว่าเป็น “โฆษกกองทัพ”

 

แต่เมื่อกระแสปรับ ครม.มาถึง ก็มีชื่อของนายสุทินเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่หลุดออกจากตำแหน่ง โดยนายเศรษฐาจะดึงกระทรวงกลาโหมไปดูแลเอง เนื่องจากที่ผ่านมา นายเศรษฐามีความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพมากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก กระทั่งลงไปตรวจแฟลตทหารทุกเหล่าทัพด้วยตัวเอง พร้อมสั่งสร้างใหม่ในเวลาอันรวดเร็วจนได้ใจทหารจำนวนมาก

ตามด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการดูแลติดตามสถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ที่มีรัฐมนตรีหลายคนนั่งเป็นกรรมการ แต่กลับไม่มีนายสุทิน ก็ยิ่งย้ำกระแสหลุดจากเก้าอี้ของนายสุทิน

ในสถานการณ์ที่สังคมกำลังจับตาเก้าอี้สนามไชย 1 ว่าจะอยู่กับคนเดิมหรือไม่ นายสุทินทำได้เพียงเดินสายพบนายทักษิณ พร้อมให้สัมภาษณ์เปิดใจ ไม่เสียใจแต่เสียดาย หากไม่ได้สานงานกระทรวงต่อ

นายสุทินก็ใช้จังหวะนี้ ในการเปิดยุทธศาสตร์ทิ้งทวน ปักหมุดหลักการ “ต้านการรัฐประหาร” เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยการเสนอ พ.ร.บ.จัดระเบียบผ่านสภากลาโหม สาระสำคัญคือให้นายกฯ มีอำนาจพักราชการผู้บัญชาการเหล่าทัพได้ทันที หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าก่อการรัฐประหารยึดอำนาจ หรือพยายามเข้าควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน

นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขเงื่อนไขการแต่งตั้งทหารชั้นนายพลที่จะต้องมีประวัติดี ไม่มีพฤติการณ์เคยเกี่ยวข้องค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการเสนอให้ยกเลิกศาลทหารจังหวัด เป็นต้น

 

นั่นคือการทิ้งระเบิด “ต้านรัฐประหาร” กลางวงทหาร ที่อาจสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดานายทหาร

ดูจาก พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย อดีตประธานมูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหาร ที่บอกว่าทำแบบนั้นจะยิ่งเร่งให้เกิดการรัฐประหารเร็วขึ้นไปอีก เพราะมันจะเกิดการกลั่นแกล้งกันง่ายขึ้นโดยฝ่ายการเมืองต่อฝ่ายทหาร

แต่ถ้ามองในมุมคนนอกกองทัพ มองด้วยหลักการประชาธิปไตย-พลเรือนอยู่เหนือทหาร การแก้กฎหมายดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องผิด และยังเป็นเรื่องที่ก้าวหน้ามากขึ้นด้วยในบริบทของประเทศที่มีรัฐประหารเกิดขึ้นเฉลี่ยทุกๆ 10 ปี

อย่างเรื่องอำนาจสภากลาโหมที่เติมแต่งให้เพิ่มขึ้นมากจากยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ผิดฝาผิดตัว ผิดหลักการบริหารโลกสมัยใหม่อย่างมาก

เพราะเป็นการทำให้อำนาจ “ราชการ” และ “ทหาร” อยู่เหนือ “พลเรือนจากการเลือกตั้ง” ข้อเสนอของนายสุทิน จึง “จำเป็น”

แน่นอน ถ้าทหารจะยึดอำนาจจริง กฎหมายสั่งปลดกลางอากาศก็เอาไม่อยู่ แต่อย่างน้อยการเสนอแนวทางแก้ปัญหา ก็เป็นการประกาศจุดยืนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

 

การออกมาประกาศในห้วงจังหวะข่าวการ “เปลี่ยน” เก้าอี้ช่วงปรับ ครม. ย่อมมีนัยยะการเมืองสำคัญ

1. คือเป็นการส่งสัญญาณถึงรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะต้องมาแบกรับวาระทางการเมืองที่ก้าวหน้าเพิ่มขึ้น ยากขึ้นไปด้วย

2. เป็นการส่งสัญญาณขออยู่ต่อเพื่อพร้อมขยับวาระการทำงานที่ก้าวหน้า ให้ก้าวหน้ามากขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

จับจังหวะได้ว่านั่นคือการ “สู้กลับ” อย่างแหลมคมของนายสุทิน

ยิ่งตามมาด้วยการสนับสนุนจากพรรคก้าวไกล ทั้งไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ทั้ง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ทั้ง ชัยธวัช ตุลาธน ที่ออกมาพูดให้รัฐมนตรีคนใหม่ต้องทำตามวาระที่นายสุทินทิ้งทวนไว้

ความหนักอกหนักใจจึงเกิดขึ้นกับ “บุคคลสำคัญ” ผู้มีส่วนในการเคาะชื่อปรับ ครม.เป็นอย่างยิ่ง และตอนนี้ก็มีข่าวถึงขนาดจะมีการพลิกโผกลับไปที่เดิม คือนายสุทินจะนั่งกลาโหมต่อไป จริงหรือไม่ ต้องติดตาม

 

แต่ตอนนี้ “คลังแสง” ทางความคิดของนายสุทิน ระเบิดออกมาเป็นที่เรียบร้อย ปักหมุดสำคัญอันใหม่ในรัฐบาลไปแล้ว ในนามของการแก้กฎหมายกลาโหม

จากนี้ไปจึงเป็นความ “น่ากังวล” ว่าจะทำให้สำเร็จยังไง ในสถานการณ์แบบนี้

แต่ถ้าไม่ทำ จะยิ่ง “น่ากังวล” เข้าไปใหญ่